การเลี้ยงดูของพ่อแม่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหล่อหลอมเด็กตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ดีด้วย เราได้มีการแบ่งประเภทการเลี้ยงดูของพ่อแม่ไว้เพื่อพิจารณาและทบทวนดูว่าที่ผ่านมา คุณเป็นพ่อแม่แบบไหนและมัน “ใช่” สำหรับอนาคตลูกหรือเปล่า
#พ่อแม่แบบใช้อำนาจเผด็จการ
พ่อแม่แบบนี้เน้นการสอนให้ลูกเชื่อฟังและทำตามคำสั่ง โดยไม่ได้สนใจความรู้สึกหรือพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากตัวของลูก ดังนั้นลูกที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงด้วยวิธีนี้ก็จะเติบโตมาแบบไม่มีความมีความสุข มีความกดดัน ไม่มีความเชื่อมันในตัวเอง และไม่สามารถตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองได้
#พ่อแม่แบบยอมตามใจ
ถึงแม้วิธีแบบนี้จะแสดงให้เห็นความสำคัญกับความต้องการของลูก แต่พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบนี้ คือการอนุญาตให้ลูกเป็นใหญ่กว่าพ่อแม่ ยอมให้ลูกได้ในสิ่งที่ต้องการเพื่อตัดปัญหาไม่ให้ลูกโวยวาย เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบนี้เมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง หงุดหงิด ขี้โมโหง่าย ขาดการควบคุมตนเอง ซึ่งจะทำให้เข้ากับคนอื่นในสังคมได้ยาก
#พ่อแม่แบบทอดทิ้งไม่สนใจ
พ่อแม่ประเภทนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ต้องการที่จะมีลูก เมื่อลูกเกิดมาจึงไม่ดูแลและเอาใจใส่ ทอดทิ้ง ไม่ให้ความสนใจ ไม่ให้เวลาหรือใส่ใจกับปัญหาของลูก ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มีปมด้อย ขาดความอบอุ่น และอาจหันไปสิ่งทดแทนอย่างอื่น เช่น การไปคบเพื่อนเกเร ติดยา ฯลฯ นอกจากจะเกิดเป็นปัญหาของครอบครัว ยังอาจกลายเป็นปัญหาสังคมได้เขาเมื่อเติบโตขึ้น
#พ่อแม่แบบคอยรับฟัง-สนับสนุน-ใส่ใจ
นี่คือวิธีสำหรับการเลี้ยงดูลูกที่เหมาะสมที่สุด พ่อแม่ประเภทนี้คือคนที่คอยดูแลใส่ใจ รับฟังความคิดเห็น ความต้องการ รับรู้ความรู้สึกของลูก มีการกำหนดขอบเขตอย่างเหมาะสมเพื่อให้ลูกปฏิบัติให้ถูกแนวทาง และพร้อมที่จะสนับสนุนตามความสามารถของลูกอย่างถูกทาง หากลูกมีปัญหาก็พร้อมที่จะช่วยแก้ไข เด็ก ๆ ที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยวิธีการนี้จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข มีความเชื่อมั่นในตัวเอง สามารถแก้ปัญหาได้ดี เข้ากับคนและใช้ชีวิตในสังคมได้ง่าย และมีความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวได้
หากทบทวนในวิธีการเลี้ยงลูกที่ผ่านมายังไม่เหมาะสม พ่อแม่ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นพ่อแม่ในแบบสุดท้ายได้ เพื่อสร้างสถาบันครอบครัวของเราที่สร้างขึ้นให้มีความสุขและแข็งแรง และการเติบโตอย่างมีคุณภาพของลูกในอนาคตด้วยนะคะ
ที่มา : www.nakornthon.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
8 พฤติกรรมพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบ “เกินไป”
พ่อแม่ 6 แบบที่ลูกไม่รัก