ตะลึง ข้อสอบเข้า ป.1 ยาก จนพ่อแม่งงตาแตก ยากเหมือนสอบเข้ามหาวิทยาลัย!
ภาพตัวอย่างข้อสอบจากหนังสือเตรียม ข้อสอบเข้า ป.1 ยาก แบบไม่น่าเชื่อว่าข้อสอบเหล่านี้จะให้เด็กอนุบาลเป็นคนทำ! พ่อแม่งง ตาแตก สอบป.1 หรือสอบเข้ามหา’ลัย จนเจ้าของเฟซบุ๊คท่านนี้ถึงกับโพสต์ข้อความไว้ว่า
“เด็กอนุบาลติวสอบเข้าปอหนึ่ง ไม่มีเด็กชาติไหนไหนจะสู้เด็กไทยแล้วครับ เรื่องท่องเรื่องจำ เรานำล้ำโลก นี่แหละ คุณภาพการศึกษาเราถึงต่ำระดับโลก เพราะทำกันแต่ข้อสอบ อนุบาลสอบ ประถมสอบ ปริญญาสอบ ครูสอบ ผอ. ก็ต้องท่องไปสอบ
ท่องมาสอบกันทั้งชาติครับ”
ซึ่งภายใต้โพสต์นี้ ได้มีหลายคนเข้ามาคอมเม้นท์เป็นวงกว้าง ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงระบบการศึกษาที่เด็ก ๆ ในปัจจุบันนี้ต้องเจอ สำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้ว คิดอย่างไรกันบ้างหากลูกต้องเจอกับข้อสอบแบบนี้
สอบเข้า ป.1 ช่วงนี้พ่อแม่ที่มีลูกน้อยอยู่ในวัยที่ต้องเข้าเรียนขั้นประถมคงลุ้นกันตัวโก่ง ว่าลูกจะเข้าโรงเรียนที่หวังไว้หรือเปล่า เพราะใครๆ ก็อยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆ มีชื่อเสียงกันทั้งนั้น แน่นอนว่าจำนวนนักเรียนที่แต่ละโรงเรียนสามารถรับได้นั้นมีปริมาณน้อยกว่านักเรียนที่มาสมัครหลายเท่า ทำให้อัตราการแข่งขันค่อนข้างสูงถึง 1:30 จากปัญหานี้จึงมีกระแสออกมาว่าจะงดให้เด็กสอบเข้า ป.1 สรุปแล้วตอนนี้ดำเนินการถึงไหนแล้ว ทาง TheAsianparent จะพาไปหาคำตอบกันคะ
เมื่อการแข่งขันสูง อัตราเด็กที่สมัครสอบต่อจำนวนที่รับได้ช่างต่างกันมากขนาดนี้ พ่อแม่จึงยิ่งคาดหวังให้ลูกสอบติดเข้าไปใหญ่ จึงพากันให้ลูกเรียนกวดวิชากันตั้งแต่เล็กๆ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สงครามแย่งชิงที่นั่งในโรงเรียนดังๆ กันอย่างเข้มข้นเลยทีเดียว บางคนก็พาลูกตะเวนไปสมัครสอบหลายๆ สนามเพื่อให้ลูกเก็บไว้เป็นตัวเลือกอีกด้วย
ล่าสุดที่สนามสอบของโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งมีเด็กมาสมัครสอบมากถึง 3,000 คน แต่โรงเรียนสามารถรับนักเรียนได้เพียง 100 คนเท่านั้น เป็นการแข่งที่ดุเดือดมากจริงๆ ส่วนโรงเรียนสาธิตอีกแห่งหนึ่ง พบว่ามีผู้ปกครองพาลูกๆ ไปสมัครสอบกันตั้งแต่เช้า ทำให้สนามสอบแห่งนี้มีจำนวนมากกว่า 2,000 คน แต่รับได้เพียง 100 คนเท่านั้น
เนื่องจากการแข่งขันที่สูงตลอดหลายปี ทางคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจึงได้มีการยกร่างกฎหมายการปฐมวัยแห่งชาติว่าด้วยมาตรา 31 เพื่อเป็นการปกป้องพัฒนาการเด็กปฐมวัย ห้ามมิให้สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และโรงเรียนตามกฎหมาย โรงเรียนเอกชนรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาโดยใช้วิธีการสอบคัดเลือกหรือทดสอบสมรรถนะ คุณลักษณะ ความรู้ หรือความสามารถอื่นใดของเด็กปฐมวัยรวมถึงการฝากเด็กปฐมวัยเข้าเรียนในสถานศึกษาด้วย
ทั้งยังมีร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย ที่ระบุห้ามไม่ให้มีการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนชั้น ป.1 ในโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันเด็กและลดการสร้างความกดดันในเด็กปฐมวัย ที่มีอายุตั้งแต่ 0 ขวบไปจนถึง 8 ขวบ และจะเป็นทางออกสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กในอนาคต ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. นี้ได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ต้องผ่านความเห็นก่อน
การปฏิรูปครั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักๆ คือ ต้องการไม่ให้มีการสอบคัดเลือกในระดับปฐมวัย ซึ่งหมายถึงเด็กในวัยอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เนื่องจากเด็กวัยนี้ยังต้องการที่จะเล่นและรู้จักตนเองอย่างสนุกสนาน มากกว่าการที่เรียนอัดความรู้ทางวิชาการ เพราะอาจเป็นผลกระทบที่ไม่ดีสำหรับเด็ก เนื่องจากการสอบแข่งขันเข้า ป.1 ส่วนใหญ่เป็นความต้องการของพ่อแม่มากกว่า
ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า เพราะพ่อแม่มีความกลัว กลัวว่าลูกไม่เก่งเหมือนคนอื่น กลัวลูกไม่ฉลาดเท่าคนอื่น และถ้าเข้าโรงเรียนดีๆ ได้ แสดงว่าจะได้เจอแต่เด็กเก่งๆ ถ้าคิดแบบนี้แสดงว่าผู้ปกครองกำลังยัดเยียดการสอบแข่งขันให้กับเด็กแบบไม่ถูกต้อง แล้วสมัยนี้คนออกข้อสอบก็ออกข้อสอบยากกว่าเดิมมากกว่าแค่บวกลบคูณหารที่เด็กวัยนี้ต้องรู้ กลับเป็นข้อสอบแก้สมการทางคณิตศาสตร์ที่ยากกว่าเดิม แน่นอนว่าเด็กต้องเรียนมากกว่าเพื่อที่จะได้ทำข้อสอบได้นั่นเอง
ทาง รศ.ดารณี ในฐานะอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตฯ เกษตรศาสตร์ และสอนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้มานานกว่า 30 ปี กล่าวว่า “แม้ร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย จะมีมาตราที่ห้ามสอบ พร้อมกับบทลงโทษว่าหากโรงเรียนใดฝ่าฝืนเปิดสอบแข่งขัน จะมีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท แต่ก็มีอีกเสียงจากคณะกรรมการเห็นว่า หากฝ่าฝืนเกิน 3 ครั้งก็ควรจะยึดใบอนุญาตโรงเรียนไปเลย ซึ่งบางส่วนก็เห็นว่าเหมาะสม และอีกบางส่วนก็เห็นว่ารุนแรงเกินไป แต่ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องผ่านการระดมความคิดเห็นกันอีก ก่อนจะเสร็จอย่างสมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น”
“โรงเรียนควรมีสัดส่วนระหว่างครูกับนักเรียนที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่ามากระจุกในห้องเรียนถึง 50-60 คน เด็กจะได้รับการใส่ใจที่มากกว่า และโรงเรียนดังๆ มักจะแข่งขันกันแต่เรื่องของวิชาการมากกว่าการเล่นเพื่อเรียนรู้ เด็กที่ยังไม่พร้อมแต่เข้าไปเรียนได้ก็ต้องสอบตกถามว่าเด็กจะมีความสุขหรือไม่ โรงเรียนที่ดังๆ ทั้งหลายก็ไม่ได้การันตีความสุขให้กับเด็ก เด็กสมควรที่จะต้องมารับความกดดันขนาดนี้หรือไม่” รศ.ดารณี ตั้งคำถาม
พ.ร.บ. ที่ออกมาก็เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กมีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนเพราะจะทำให้เด็กกดดัน และถูกยัดเยียดให้เรียนพิเศษเพื่อจะได้แข่งกับคนอื่นได้ แล้วกรณีที่โณงเรียนดังๆ มีเด็กที่เข้าสมัครสอบแข่งขันจำนวนมากจะทำอย่างไร จะเป็นช่องว่างในการใช้เงินเพื่อเข้าเรียนหรือเปล่าอันนี้ต้องรอดูต่อไปว่าการปฎิรูปจะออกมาแนวไหน แล้วคุณพ่อคุณแม่ล่ะคิดอย่างไรบ้าง ถ้าลูกเราต้องมาเจอกฎแบบนี้
Credit : Wiriyah Eduzones
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ช่วยติวลูก ให้ทำข้อสอบได้ดีขึ้น
เตรียมลูกรักมุ่งสู่ ป.1 โรงเรียนสาธิต