ท้องในวัยเรียน ป้องกันได้! แม่เตรียมพร้อม คุยกับลูกเรื่องเพศ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ท้องในวัยเรียน เป็นปัญหาที่เราได้ยินกันมาตลอดตั้งแต่ตอนที่ตัวเราเองยังเป็นวัยรุ่น จนถึงในวันที่เรากลายเป็นคุณแม่ มีลูกสาวที่ต้องเป็นห่วง กับสถานการณ์ท้องในวัยรุ่นที่ยิ่งนับวันก็ยิ่งน่าตกใจที่เด็กยุคใหม่กลายเป็นคุณแม่ที่อายุน้อยลงทุกที ในฐานะแม่เราจะปกป้องลูกของเราให้ห่างไกลจากความเสี่ยงนี้ได้อย่างไร  

วันนี้ทาง theAsianparent ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณหมอ นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช (เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์) โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ผ่านประสบการณ์ทำคลอดคุณแม่มากว่า 19 ปี และได้เห็นว่าสถานการณ์คุณแม่ตั้งท้องในวัยรุ่นนั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ซึ่งคุณหมอมีคำแนะนำดี ๆ สำหรับคุณแม่ยุคใหม่ ในการป้องกันปัญหา ท้องในวัยเรียน ไม่ให้เกิดกับครอบครัวของคุณค่ะ

 

นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์

 

เปิดใจหมอ: ท้องในวัยเรียน ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

ปัญหา ท้องในวัยเรียน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีสาเหตุที่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หากเรามองย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 สถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตั้งแต่อายุ 10 – 19 ปี นั้นสูงถึง 132,203  คน เลยทีเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่ซับซ้อนในหลายมิติ ต่อมาในปี 2559 พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้ถูกประกาศใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งส่งผลดีต่อการลดจำนวนวัยรุ่นตั้งครรภ์ลงในระดับหนึ่ง ปัจจุบันนี้ ถึงแม้ตัวเลขจะลดลง แต่ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ 

ปัญหา ท้องในวัยเรียน เปรียบเสมือนวัฏจักรที่ยากจะหลุดพ้น

จากประสบการณ์โดยตรงของคุณหมอ พบว่าวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร มักมาจากครอบครัวที่ยากจน ขาดการดูแลจากผู้ปกครอง ไม่ได้รับการศึกษาที่ดี ขาดทักษะชีวิต และเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศศึกษาและสุขภาพทางเพศได้ยาก ปัญหานี้เปรียบเสมือนวัฏจักรที่วนเวียนยากที่จะหลุดพ้น สาเหตุหลักมาจากความคึกคะนอง ความอยากรู้อยากลอง แต่ขาดความรู้และทักษะชีวิต ไม่เข้าใจถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา

เมื่อวัยรุ่นรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ผลที่ตามมามักร้ายแรง ส่งผลต่ออนาคตของตัวเด็กเอง เด็กต้องออกจากโรงเรียน สูญเสียโอกาสทางการศึกษาและอนาคตที่ดี เกิดอาการเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ไปจนถึงสูญเสียความมั่นใจ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อเด็กในท้องที่ต้องเกิดมาในครอบครัวที่ไม่พร้อม เด็กเหล่านี้มักกลายเป็นภาระของครอบครัว ผู้ใหญ่ต้องหาทางเลี้ยงดู อนาคตที่มืดมนของเด็กส่งผลกระทบต่อปัญหาสังคมโดยรวม เศรษฐกิจตกต่ำ อาชญากรรมเพิ่ม เสพสารเสพติด และภาพลักษณ์ของประเทศเสื่อมเสีย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความที่เกี่ยวข้อง: ทำอย่างไรดี ! เมื่อลูกท้อง พร้อมวิธีแก้ปัญหา แม่วัยใส ท้องในวัยเรียน

เริ่มต้นที่ตัวเรา: คุณแม่สอนลูกป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรอย่างไร

จริงอยู่ที่คุณแม่มีบทบาทสำคัญในการสอนลูกป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร แต่รู้หรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นของการป้องกันปัญหานี้อยู่ที่ “ตัวคุณแม่” นั่นเองค่ะ

โดยคุณหมอโอฬาริกได้แนะนำ แนวทาง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

1) ระดับที่ 1: สร้างความตระหนักรู้

ในยุคปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์มีอยู่มากมาย แต่ทว่าแหล่งข้อมูลเหล่านั้นไม่ใช่ว่าจะเข้าถึงหรือเข้าใจได้ง่ายสำหรับทุกคนเสมอไป สาเหตุหลัก ๆ มาจากข้อมูลบางแหล่งอาจมีความซับซ้อน ใช้วิชาการที่เข้าใจยาก หรือแม้แต่มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ผู้รับสารอาจไม่มีทักษะในการคัดกรอง วิเคราะห์ และประเมินข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้การพูดคุยเรื่องเพศกับลูกหลานอาจสร้างความเขินอาย แต่การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับร่างกายและเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม การสื่อสารอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย โดยใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัย และเลือกช่องทางที่เหมาะสม ล้วนมีบทบาทสำคัญในการลดปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ควรสื่อสารให้ลูกหลานเข้าใจคือ บทบาทของการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เป็นความรับผิดชอบของทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายก็มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและป้องกันได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ 

นอกจากนี้ การเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยเป็นช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม เช่น Line Official Account TEEN CLUB ของสำนักงานอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งช่องทางนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่งเสริมการเข้าถึงความรู้และความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

 

2) ระดับที่ 2: ให้ข้อมูลเชิงลึกและบริการเพิ่มเติม

สำหรับคุณแม่ ที่มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์อยู่แล้ว ระยะที่ 2 นี้ มุ่งเน้นไปที่การให้ข้อมูลเชิงลึกและบริการเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นตัวอย่างเช่น วิธีการคุมกำเนิดที่หลากหลาย ข้อมูลสามารถเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์กรมอนามัย หรือสามารถโทรไปปรึกษาที่สายด่วน 1663 ได้ทุกวัน เพื่อรับบริการปรึกษาทางเลือกและส่งต่อดูแล รวมทั้งการให้บริการแนะแนวทางการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพตามพื้นที่ 

 

 

 

3) ระดับที่ 3: การเข้าถึงบริการ

ขั้นตอนสุดท้าย คือ การเข้าถึงบริการได้อย่างปลอดภัย ข้อมูลควรระบุสถานพยาบาลที่สามารถเข้ารับบริการได้ เช่น คลินิกคุมกำเนิดของรัฐบาล โรงพยาบาล หรือร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต สำหรับคุณแม่ที่มีลูกวัยรุ่น สามารถเช็คสิทธิบริการคุมกำเนิดฟรี ในพื้นที่ใกล้บ้าน เช็คสิทธิการเข้ารับบริการได้ ที่นี่

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

เคล็ดลับสร้างความสัมพันธ์และเปิดใจให้ลูกกล้าคุยเรื่องเพศสัมพันธ์กับพ่อแม่

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น วัยรุ่นเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ และความคิด การพูดคุยเรื่องเพศกับลูก จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่พ่อแม่หลายท่านกังวลใจ

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความเข้าใจให้กับลูกน้อย เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ลูกกล้าเปิดใจ พูดคุยเรื่องเพศกับพ่อแม่ได้อย่างตรงไปตรงมา

วันนี้เราจึงมีคำแนะนำ ที่จะช่วยพ่อแม่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีและเปิดทางให้ลูกกล้าคุยเรื่องเพศกับพ่อแม่ได้ง่ายขึ้นกันค่ะ

 

1) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ลูกกล้าเปิดใจพูดคุยเรื่องเพศกับพ่อแม่ คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มได้ด้วยการลองใช้เวลาร่วมกัน พูดคุย เล่น และทำกิจกรรมต่าง ๆ กับลูกบ่อย ๆ แสดงความรักความห่วงใย ให้กำลังใจ และรับฟังลูกอย่างตั้งใจเคารพความคิดเห็นและความรู้สึกของลูก สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกไว้ใจ รู้สึกปลอดภัยเวลาที่ต้องการพูดคุยกับเรา 

เราควรจำไว้ว่าพ่อแม่เป็นที่พึ่งพิงหลักของลูก การสร้างบรรยากาศแห่งการพูดคุยที่ปลอดภัย อบอุ่น และเปิดกว้าง จะช่วยให้ลูกกล้าแสดงออก รู้จักปกป้องตัวเอง และตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด

 

2) เริ่มต้นพูดคุยเรื่องเพศตั้งแต่เด็ก

การพูดคุยเรื่องเพศกับลูก อาจสร้างความรู้สึกอึดอัดให้กับพ่อแม่หลาย ๆ ท่าน แต่ทราบหรือไม่ว่า การเริ่มต้นบทสนทนาตั้งแต่เนิ่น ๆ นั้น ส่งผลดีต่อลูกอย่างมาก เพราะการที่เด็ก ๆ เริ่มเรียนรู้เรื่องเพศตั้งแต่ยังเล็ก การพูดคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมา ช่วยให้พวกเขามีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด เข้าใจถึงความสำคัญของการป้องกัน การมีสติในการตัดสินใจ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพทางเพศที่ดีได้

ควรเริ่มการพูดคุยตอนไหนดี?

  • เมื่อลูกอยากคุย: สังเกตสัญญาณจากลูก หากลูกเริ่มถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศ แสดงว่าพวกเขาพร้อมที่จะพูดคุย ใช้โอกาสนี้สานต่อบทสนทนาอย่างเปิดเผย ตอบคำถามด้วยความจริงใจ และให้ข้อมูลที่เหมาะสมกับวัย
  • จากข่าว ละคร และสถานการณ์รอบตัว: เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ข่าวสาร ละคร หรือรายการโทรทัศน์ ล้วนเป็นโอกาสในการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศ ใช้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นในการอธิบาย ประกอบด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และส่งเสริมทัศนคติเชิงบวก
  • จากความจำเป็น: บางสถานการณ์ เช่น ลูกสาวมีประจำเดือน หรือลูกชายมีฝันเปียก จำเป็นต้องพูดคุยอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้น ใช้โอกาสนี้สอนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย พัฒนาการทางเพศ และความรับผิดชอบที่ตามมา

 

3) สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย

เพื่อให้การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ พ่อแม่ควรสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ดังนี้

  • เลือกสถานที่และเวลาที่เหมาะสม: เลือกสถานที่ที่เงียบสงบ เป็นส่วนตัว และปลอดภัย หลีกเลี่ยงการพูดคุยในขณะที่ลูกกำลังยุ่ง หรือรู้สึกเครียด ช่วงเวลาที่เหมาะสมอาจเป็นตอนก่อนนอน ระหว่างเดินทาง หรือทำกิจกรรมร่วมกัน สังเกตว่าลูกดูผ่อนคลาย เปิดใจ และพร้อมที่จะพูดคุยหรือไม่
  • พูดคุยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน ใจเย็น และเป็นมิตร: ใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล อ่อนโยน แสดงให้ลูกเห็นว่าคุณพร้อมรับฟัง ไม่ตัดสิน และเปิดใจต่อความคิดเห็นของเขา หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่กดดัน ตำหนิ หรือทำให้ลูกรู้สึกผิด อีกหนึ่งสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือเราทุกคนมีความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือการรับฟังอย่างตั้งใจ เข้าใจมุมมองของลูก และแสดงความเคารพต่อความคิดเห็นของเขา หลีกเลี่ยงการตำหนิ ตัดสิน หรือชี้นำความคิดของลูก
  • เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของลูก: การพูดคุยเรื่องเพศควรเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พ่อแม่ควรเปิดใจรับฟังสิ่งที่ลูกคิด ลูกรู้สึก และลูกมีคำถามอะไร แสดงให้ลูกเห็นว่าคุณพร้อมพูดคุย ตอบคำถาม และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
  • ใช้ภาษาง่าย ๆ ที่ลูกเข้าใจ: อธิบายเรื่องเพศตามวัยและระดับการรับรู้ของลูก เด็กเล็กใช้ภาษาที่เรียบง่าย เน้นอธิบายเรื่องส่วนตัว เด็กโตสามารถพูดคุยเรื่องเพศสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ และความรับผิดชอบ หลีกเลี่ยงศัพท์แสงหรือคำพูดที่คลุมเครือ ใช้ภาษาที่ลูกเข้าใจง่าย

 

การเริ่มต้นพูดคุยเรื่องเพศกับลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง “ความรู้” ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศศึกษา การคุมกำเนิด และทักษะชีวิต เป็นเกราะป้องกันปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม พ่อแม่มีบทบาทสำคัญ การสื่อสารอย่างเปิดเผย สร้างรากฐานอนาคตที่ดีให้กับลูกน้อยค่ะ

 

 

ที่มา: Thaihealth, Thaihealth, Samatcha, Anamai

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

จะพูดเรื่องเพศศึกษากับลูกยังไงดี ควรที่จะเริ่มเมื่อไหร่ เมื่อไหร่ลูกถึงจะพร้อม

เพศสัมพันธ์ ประจำเดือนและการคุมกำเนิดหลังคลอด ปัญหาคาใจที่คุณต้องรู้

ทำไมจึงควรสอนลูกเรื่องเพศศึกษา เพศศึกษาสำคัญฉไน เป็นเรื่องที่ควรพูดหรือไม่

บทความโดย

samita