เคล็ดลับ เตรียมลูกคนโตให้พร้อมมีน้อง สร้างสัมพันธ์พี่น้อง รักกัน ไม่อิจฉากัน

การมีน้อง อาจทำให้ลูกคนโตสับสน กังวล หรืออิจฉา บทความนี้ช่วยพ่อแม่ เตรียมลูกคนโตให้พร้อมมีน้อง และต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าสู่ครอบครัวอย่างอบอุ่น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การมีสมาชิกใหม่ในครอบครัว อาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับลูกคนโต ที่อาจรู้สึกสับสน กังวล หรือแม้กระทั่งอิจฉาน้อง เพราะต้องแบ่งปันความรักและความสนใจจากพ่อแม่ บทความนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ เตรียมลูกคนโตให้พร้อมมีน้อง รับมือกับการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะต้อนรับน้องคนใหม่เข้าสู่ครอบครัวอย่างอบอุ่น 

เราจะมาทำความเข้าใจความรู้สึกของลูก เรียนรู้วิธีการสื่อสาร และเทคนิคต่างๆ ที่จะช่วยให้ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ราบรื่นที่สุดสำหรับทุกคนค่ะ

 

ข้อดีของการมีพี่น้อง

พ่อแม่หลายคนปรารถนาให้ลูกมีพี่น้อง ไม่ใช่เพียงเพราะไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญกับความเหงา แต่ยังหวังให้ลูกได้เรียนรู้การมีเพื่อนคู่คิด มิตรแท้ ที่จะร่วมแบ่งปันช่วงเวลาแห่งความสุขและความทรงจำอันมีค่าไปด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น พ่อแม่คาดหวังว่าพี่น้องจะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นที่พึ่งพิงซึ่งกันและกันในยามที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก และเป็นกำลังใจให้กันตลอดเส้นทางชีวิต แม้ในวันที่พ่อแม่อาจไม่อยู่เคียงข้างแล้วก็ตาม ซึ่งการมีพี่น้องนั้นมีข้อดีมากมาย สรุปได้ดังนี้

  • เป็นเพื่อนกันไปตลอดชีวิต พี่น้องคือเพื่อนที่รู้ใจที่สุดคนหนึ่ง คอยอยู่เคียงข้างกันทั้งในช่วงเวลาที่ดีและร้าย
  • เพิ่มความสุขในชีวิต การมีพี่น้องที่รักใคร่กลมเกลียว ช่วยลดความเสี่ยงของโรคซึมเศร้า ทำให้เรามีความสุขและมองโลกในแง่ดีมากขึ้น
  • ส่งเสริมทักษะทางสังคมและอารมณ์ การเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน ประนีประนอม และแก้ปัญหาความขัดแย้งกับพี่น้อง เป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้เราสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ง่าย
  • เป็นที่ปรึกษาและช่วยเหลือ พี่น้องสามารถให้คำปรึกษา รับฟัง และช่วยเหลือเราในยามที่ต้องการ โดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่กล้าบอกพ่อแม่
  • ช่วยให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเจอปัญหาครอบครัว ความรัก หรือเรื่องงาน การมีพี่น้องคอยอยู่เคียงข้าง ช่วยให้เรามีกำลังใจและผ่านพ้นอุปสรรคไปได้

เห็นไหมคะว่าการมีพี่น้องนั้นมีข้อดีมากมาย ดังนั้น การเตรียมตัวลูกคนโตให้พร้อมรับน้อง จึงเป็นการสร้างโอกาสให้เขาได้มีเพื่อนคู่คิด มิตรแท้ ที่พ่อแม่จะมอบให้ลูกได้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ทำความเข้าใจความรู้สึกลูกคนโตในแต่ละช่วงวัย

เด็กแต่ละช่วงวัย มีพัฒนาการทางอารมณ์และการรับรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจความรู้สึกของลูกคนโต เมื่อมีน้องใหม่เข้ามาในครอบครัว จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ตัวอย่างพัฒนาการทางอารมณ์และความรู้สึกของลูกคนโตในแต่ละช่วงวัย:

  • เด็กเล็ก (1-3 ขวบ)

ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ อาจแสดงออกด้วยการงอแง เรียกร้องความสนใจมากขึ้น หรือแม้แต่แสดงพฤติกรรมถดถอย เช่น กลับไปดูดนิ้ว ปัสสาวะรดที่นอน เพราะรู้สึกไม่มั่นคง กลัวว่าจะถูกแย่งความรักจากพ่อแม่

  • เด็กก่อนวัยเรียน (4-6 ขวบ)

เริ่มเข้าใจมากขึ้น แต่อาจแสดงออกด้วยการอิจฉาน้อง หวงของเล่น หรือพยายามเลียนแบบพฤติกรรมของน้อง เช่น ร้องไห้โยเย ทำตัวเป็นเด็ก เพื่อเรียกร้องความสนใจ

  • เด็กวัยเรียน (7-12 ขวบ)

เข้าใจเหตุผลมากขึ้น แต่ก็อาจมีความรู้สึกกังวล กลัวว่าจะไม่ได้รับความรักเท่าเดิม หรือรู้สึกว่าพ่อแม่ลำเอียง บางคนอาจแสดงออกด้วยการต่อต้าน ไม่ยอมช่วยดูแลน้อง หรือแกล้งน้อง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

เตรียมลูกคนโตให้พร้อมมีน้อง ทำยังไง?

เตรียมลูกคนโตให้พร้อมมีน้อง เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงในครอบครัวเป็นไปอย่างราบรื่น เริ่มได้ตั้งแต่วางแผนที่จะมีลูกอีกคน โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้

เคล็ดลับ เตรียมลูกคนโตให้พร้อมมีน้อง

ช่วงก่อนตั้งครรภ์

  • พูดคุยกับลูก หาโอกาสพูดคุยกับลูกอย่างจริงใจ ถามความคิดเห็นของลูกเกี่ยวกับการมีน้อง อาจเล่าถึงข้อดีของการมีน้อง เช่น มีเพื่อนเล่น มีเพื่อนช่วยเหลือกัน เติบโตมาด้วยกัน เป็นต้น
  • ใช้สื่อช่วย อ่านนิทานหรือดูการ์ตูนเกี่ยวกับพี่น้อง เพื่อให้ลูกเห็นภาพและเข้าใจบทบาทของพี่น้องมากขึ้น
  • ให้ลูกมีส่วนร่วม ชวนลูกวางแผนเกี่ยวกับน้อง เช่น ช่วยกันคิดชื่อ ตกแต่งห้อง เลือกซื้อของใช้ เป็นต้น

ช่วงตั้งครรภ์

  • ให้ลูกมีส่วนร่วม พาลูกไปเลือกซื้อของใช้สำหรับน้อง ให้ลูกช่วยเตรียมของ จัดห้อง เป็นต้น
  • สร้างความผูกพัน ให้ลูกสัมผัสและพูดคุยกับน้องในครรภ์ เช่น ชวนลูกฟังเสียงหัวใจน้อง ร้องเพลงให้น้องฟัง อ่านนิทานให้น้องฟัง เป็นต้น
  • ใช้เวลากับลูกคนโต จัดสรรเวลาพิเศษเพื่อทำกิจกรรมกับลูกคนโต เช่น พาไปเที่ยว เล่นเกม อ่านหนังสือ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่ายังได้รับความรักและความสำคัญเหมือนเดิม

ช่วงหลังคลอด

  • จัดเวลาส่วนตัว จัดเวลาให้ลูกคนโตได้อยู่กับพ่อแม่ตามลำพังบ้าง เช่น ก่อนนอน หลังอาหาร เป็นต้น เพื่อให้ลูกยังรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย
  • ให้พี่มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง ให้ลูกคนโตมีส่วนร่วมในการดูแลน้อง เช่น ช่วยหยิบขวดนม ผ้าอ้อม ของเล่น เป็นต้น และชื่นชมเมื่อลูกช่วยเหลือ
  • อธิบายและชื่นชม พูดคุยกับลูกคนโตถึงสาเหตุที่พ่อแม่ต้องดูแลน้อง เพราะน้องยังเล็ก ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เหมือนกับตอนที่ลูกคนโตยังเล็ก พ่อแม่ก็ดูแลแบบนี้ และให้คำชื่นชมเมื่อลูกคนโตช่วยเหลือตัวเองหรือช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่
  • ให้พี่แสดงความรักต่อน้อง กระตุ้นให้ลูกคนโตแสดงความรักกับน้อง เช่น กอด หอม เล่นกับน้อง เป็นต้น
  • แบ่งปันความสนใจ หากมีคนมาเยี่ยมน้อง ควรมีของฝากเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกคนโตด้วย และชวนคุย เล่นกับลูกคนโตบ้าง
  • ทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมใดที่เคยทำร่วมกับลูกคนโตก่อนมีน้อง ควรพยายามทำต่อไป และหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกคนโตโดยไม่มีน้องอยู่ด้วยบ้าง

 

สิ่งสำคัญที่สุด พ่อแม่ต้องแสดงความรัก ความเข้าใจ เปิดโอกาสให้ลูกคนโตได้ระบาย พูดคุยถึงความรู้สึกของเขาอย่างจริงใจ และให้ความมั่นใจกับลูกคนโตว่า ถึงแม้จะมีน้อง แต่พ่อแม่ก็ยังรักและใส่ใจลูกคนโตเหมือนเดิม

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

 

6 เคล็ดลับสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้อง

นอกจากเคล็ดลับ เตรียมลูกคนโตให้พร้อมมีน้อง ที่กล่าวไปแล้ว การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้อง ก็เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป โดยสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่นำไปปรับใช้ได้ ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบ

เด็กแต่ละคนมีความพิเศษในแบบของตัวเอง การเปรียบเทียบไม่เพียงแต่ทำให้ลูกน้อยใจ เสียความมั่นใจ แต่ยังเป็นการสร้างความบาดหมางระหว่างพี่น้องอีกด้วย จงชื่นชมและยอมรับในความแตกต่างของลูกแต่ละคน

  1. สอนเรื่องขอบเขตและการเคารพสิทธิ

ทุกคนต้องการพื้นที่ส่วนตัว สอนให้ลูกรู้จักเคารพสิทธิของกันและกัน เช่น การเคาะประตูก่อนเข้าห้อง การขออนุญาตก่อนหยิบยืมสิ่งของ เป็นต้น

  1. ส่งเสริมกิจกรรมร่วมกัน

จัดกิจกรรมที่พี่น้องต้องร่วมมือกัน เช่น เล่นเกม ทำอาหาร ทำงานบ้าน เป็นต้น เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การแบ่งปัน การช่วยเหลือ และการแก้ปัญหา

  1. สอนเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล

ไม่มีใครเหมือนกันทกอย่าง ดังนั้น พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน ทั้งนิสัย ความชอบ และความถนัด

  1. ให้เวลาคุณภาพกับลูกแต่ละคน

จัดสรรเวลาพิเศษให้กับลูกแต่ละคนอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่รักและใส่ใจเขา ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง

  1. ส่งเสริมให้พี่น้องเข้าใจมุมมองของกันและกัน

สอนให้ลูกรู้จักรับฟัง พูดคุย และแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย ส่งเสริมให้พวกเขาเข้าใจมุมมองของกันและกัน

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การเตรียมความพร้อมให้ลูกคนโตก่อนมีน้อง เป็นการสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้อง หวังว่าคำแนะนำต่างๆ ในบทความนี้ จะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ ช่วยให้พี่น้องรักใคร่กลมเกลียว เติบโตเคียงข้างกันอย่างมีความสุข และเป็นที่พึ่งพิงซึ่งกันและกันตลอดไป

ที่มา : อ่านหนังสือกับลูก , โรงพยาบาลพญาไท , Mindspace Psychology Center

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

10 เคล็ดลับในการรับมือ พี่น้องแย่งของเล่น ปัญหาที่ทำให้คุณแม่ปวดหัว !

12 หนังครอบครัวที่ดีที่สุด สำหรับพี่น้องที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว

รักลูกให้เท่ากัน จะต้องทำยังไงดี เมื่อลูกรู้สึกว่ารักพวกเขาไม่เท่ากัน ปัญหาพี่น้อง