10 คำถามเกี่ยวกับโครงการ ฝากครรภ์ ฟรี สำหรับหญิงไทยที่ กำลัง ตั้งครรภ์ทุกคน

หลังจากที่รัฐบาลได้ออกโครงการฝากท้องทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ ก็ได้มีคำถามจากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และที่เพิ่งคลอดบุตรไปแล้ว เราจึงได้รวบรวมคำถามและคำตอบเอาไว้เพื่อเข้าใจสิทธิประโยชน์ของคุณ

ภายใต้นโยบาย โครงการฝากครรภ์  “แม่คลอด  ลูกรอด  ปลอดภัย  เท่าเทียม  ทั่วถึง”  โครงการฝากท้องทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ ด้วยบัตรสุขภาพแม่และเด็ก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  ให้โอกาส หญิงไทยทุกคน สามารถเข้าถึงบริการฝากครรภ์อย่างเท่าเทียมฟรี ฝากท้องฟรี โดยไม่เสียค่าใช้ โดยโครงการนี้ หญิงตั้งครรภ์ทุกคน สามารถเข้ารับบริการได้ทุกสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาท (บัตรทอง) ประกันสังคม และข้าราชการ สามารถฝากครรภ์ ได้ที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ฝากท้อง ฟรี  โครงการฝากครรภ์ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

 

สิทธิประโยชน์ฝากครรภ์ฟรี มีอะไรบ้าง ?

 

เราได้ list คำถามสำหรับคุณแม่ที่สนใจมาทั้ง 10 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ถ้าไม่มีบัตรทอง ประกันสังคม หรือบัตรข้าราชการ จะทำอย่างไร

หากคุณเป็นคนไทยที่มีบัตรประชาชน 13 หลัก และไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายประกันสังคม/ราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ/สวัสดิการรักษาพยาบาลอื่น ๆ ที่รัฐจัดให้ คุณสามารถสมัครบัตรทองได้

 

2. ถ้าตอนนี้ฝากคลีนิคอยู่จะย้ายไปฝากที่โรงพยาบาลได้ไหม

ได้ตามสิทธิที่คุณมี สามารถฝากครรภ์ฟรีต่อได้ ไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่คุณมีสิทธิตาม บัตรทอง/ประกันสังคม/สวัสดิการรักษาพยาบาลราชการ

 

3. คลอดฟรีมั้ย?

โครงการฝากท้องทุกที่ ฟรีทุกสิทธิไม่ได้รวมการคลอดบุตร แต่คุณสามารถใช้สิทธิคลอดฟรีได้ถ้าใช้บัตรทองหรือสวัสดิการรักษาพยาบาลราชการ ขึ้นอยู่กับสิทธิที่คุณมี สำหรับประกันสังคม ต้องจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร สามารถเบิกค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายกรณีได้ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง

ข้อมูลเพิ่มเติมของสิทธิคลอดบุตรของประกันสังคม : สำนักงานประกันสังคม

 

4. ผ่าคลอดฟรีมั้ย?

บัตรทองจะครอบคลุมการคลอดโดยปกติเท่านั้น ถ้าจะผ่าคลอดต้องตามดุลยพินิจของแพทย์ ถ้าแพทย์เห็นว่าการคลอดแบบธรรมชาติอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อแม่หรือเด็กและพิจารณาแล้วว่าต้องผ่าคลอด คุณก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการคลอดเพิ่ม แต่ถ้าร่างกายปกติดีแล้วแต่คุณอยากผ่าเองต้องเสียเพิ่ม

 

5. ถ้าคลอดลูกไปแล้ว เอาลูกไปใช้สิทธิดูแลตามโครงการนี้ต่อได้มั้ย เช่น รับวัคซีน ฯลฯ

สามารถทำได้เป็นโครงการดูแลแม่และบุตรหลังคลอดฟรี ดูตามสิทธิของคุณตามชนิดบัตรสุขภาพที่คุณมี

 

6. ต้องสำรองจ่ายหรือไม่?

โครงการฝากท้องทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ ด้วยบัตรสุขภาพแม่และเด็ก ไม่ต้องสำรองจ่าย

 

7. ใช้สิทธิ 30 บาท นอกจังหวัด เสียเพิ่มมั้ย?

คุณสามารถรับสิทธิที่โรงพยาบาลรัฐ ที่ใดก็ได้ ไม่เสียเพิ่ม

 

8. จะต้องจ่ายค่าอะไรเพิ่มอีกมั้ย

การบริการฝากครรภ์ฟรี จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มก็ต่อเมื่อคุณต้องการบริการที่มากกว่าบริการพื้นฐาน เช่นต้องการอัลตร้าซาวน์ 4 มิติ หรือ บริการที่นอกเหนือความจำเป็น

 

9. โครงการนี้ครอบคลุมแรงงานต่างด้าวในเมืองไทยหรือไม่

ตอนนี้ยังไม่รวมแรงงานต่างด้าว แต่รัฐบาลได้วางแผนว่าจะมีการขยายโครงการนี้ไปยังคนต่างด้าวที่อาศัยในประเทศไทยด้วย เพราะอยากให้มีความรู้สึกรักประเทศไทยอย่างเต็มที่ และเป็นสิ่งที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ต้องการให้ดูแลแม่และเด็กทุกคน ซึ่งเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมของสิทธิสตรี

 

10. ตามสิทธิจะได้รับการตรวจครรภ์กี่ครั้ง

การฝากครรภ์ภายใต้โครงการนี้จะได้รับการตรวจครรภ์ 5 ครั้ง เริ่มครั้งที่ 1 อายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์ และครั้งต่อไปคือ 18, 26, 32 และ 38 สัปดาห์ สำหรับคำถามและข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทาง theAsianparent ได้โทรไปใช้บริการและถามคำถามเหล่านี้มา บริการการตอบคำถามของสายด่วนนี้ก็ค่อนข้างดีนะคะ

 

Source: Parents

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

โค้งสุดท้าย เตรียมตัวก่อนคลอด

เทรนด์การตั้งชื่อ และสิ่งที่คุณควรระวัง

อยากท้องต้องทําไง เพิ่มโอกาสในการท้องด้วยการดูแลตัวเองง่ายๆ