ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ? ลูกน้อยพัฒนาการเป็นอย่างไรแล้ว

undefined

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ แล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นบ้าง พัฒนาการของลูกน้อยจะเป็นอย่างไร แม่มือใหม่ต้องอยากรู้แน่ๆ เรามาหาคำตอบกันค่ะ

ช่วงการตั้งครรภ์ของคุณแม่ เป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์ของคุณแม่และลูกน้อย ตอนนี้คุณแม่ ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ จะเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและการเติบโตของลูกน้อยในครรภ์อย่างชัดเจนมากขึ้น คุณแม่หลายท่านอาจจะรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ และอยากรู้ว่าลูกน้อยในท้องกำลังเติบโตเป็นอย่างไรบ้าง เราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่ และคำแนะนำในการดูแลตัวเอง เพื่อให้คุณแม่และลูกน้อยแข็งแรงสมบูรณ์ไปด้วยกัน

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ ร่างกายคุณแม่เปลี่ยนไปยังไงบ้าง

อาการคนท้องเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่หลายคนจะเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกน้อยในท้องกำลังเติบโตอย่างแข็งแรงค่ะ การเปลี่ยนแปลงที่คุณแม่จะสังเกตเห็นได้คือ

  • ท้องเริ่มโต ท้องของคุณแม่จะเริ่มนูนออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้น ทำให้สังเกตเห็นได้ง่ายขึ้นว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์
  • อาการแพ้ท้องลดลง ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ จะเริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของคุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว อาการแพ้ท้องที่เคยรบกวนคุณแม่ในช่วงไตรมาสแรกจะค่อยๆ ทุเลาลง ทำให้รู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น
  • รู้สึกกระฉับกระเฉง พลังงานของคุณแม่จะกลับมาเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
  • ผิวพรรณเปลี่ยนแปลง ผิวพรรณอาจดูเปล่งปลั่งขึ้น แต่ก็อาจมีปัญหาเรื่องสิว ฝ้า หรือรอยแตกลายเกิดขึ้นได้
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น น้ำหนักของคุณแม่จะเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือน
  • อาการอื่นๆ ที่พบได้บ่อย เช่น ท้องผูก ปวดหลัง หรือปัสสาวะบ่อย เกิดจากมดลูกที่ขยายตัวขึ้นจะกดทับอวัยวะภายใน มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรือรู้สึกเหนื่อยล้า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เป็นต้น

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์

 

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ ลูกดิ้นหรือยัง

ในช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวน้อยๆ ในช่องท้องนั่นหมายถึงว่า ลูกน้อยเริ่มดิ้นได้แล้วค่ะ และเมื่อท้องเริ่มโตขึ้น คุณแม่ควรสวมเสื้อผ้าที่สบายๆ หลวมๆ รวมถึงเนื้อผ้าก็ใส่สบายระบายอากาศได้ดีและไม่เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมา ไม่ควรทำการลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารนะคะ เพราะจะส่งผลเสียต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ได้ค่ะ

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ รู้เพศหรือยัง

โดยทั่วไปแล้ว ในช่วงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ สามารถตรวจเพศลูกน้อยได้แล้วค่ะ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะยังไม่ชัดเจน 100% หรืออาจเกิดความผิดพลาดได้เล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับท่าทางของลูกน้อยในครรภ์ด้วยนะคะ ว่าอยู่ในท่าไหน คุณหมอสามารถมองเห็นจากการทำอัลตร้าซาวนด์ในช่วง 16 สัปดาห์นี้เลยหรือเปล่า หรืออาจจะต้องรอถึงช่วงอายุครรภ์ที่ 18-20 สัปดาห์จะสามารถเห็นเพศลูกได้ค่ะ

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ พัฒนาการของลูกน้อยเป็นอย่างไร

เพราะลูกน้อยในท้องกำลังเติบโตและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มาดูกันว่าในสัปดาห์นี้ลูกน้อยของคุณแม่มีพัฒนาการอะไรที่น่าสนใจเพิ่มเติมกันบ้าง

  • ขนาดและรูปร่าง ลูกน้อยเริ่มมีขนาดประมาณผลแอปเปิ้ล หรือประมาณ 12 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 125 กรัม ร่างกายของลูกน้อยเริ่มมีสัดส่วนที่สมบูรณ์มากขึ้น
  • อวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกาย
    1. ระบบประสาท สมองและไขสันหลังของลูกน้อยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกน้อยสามารถตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกได้มากขึ้น เช่น เสียงของคุณแม่ หรือแสงที่ส่องผ่านหน้าท้อง
    2. ระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ของลูกน้อยเริ่มทำงานได้ดีขึ้น และลูกน้อยอาจเริ่มดูดนิ้วของตัวเองเล่น
    3. ระบบหายใจ ปอดของลูกน้อยยังไม่พัฒนาเต็มที่ แต่ลูกน้อยก็สามารถฝึกหายใจได้แล้ว
    4. ระบบสืบพันธุ์ อวัยวะสืบพันธุ์ของลูกน้อยเริ่มพัฒนาและแพทย์สามารถตรวจเพศได้อย่างชัดเจนจากการอัลตราซาวนด์
  • การเคลื่อนไหว ลูกน้อยเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น คุณแม่บางคนอาจรู้สึกถึงการดิ้นของลูกน้อยได้แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจอย่างมาก
  • ผิวหนัง ลูกน้อยเริ่มมีการสร้างไขมันใต้ผิวหนังเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกาย
  • ผมและเล็บ ไม่ว่าจะเป็น ขนคิ้ว ขนตา และเล็บของลูกน้อยเริ่มงอก

ช่วงนี้คุณแม่สามารถเริ่มคุยกับลูกในท้อง ฟังเพลงกับลูกน้อยในท้องได้แล้วนะคะ จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูกน้อย รวมถึงการลูบท้องเบาๆ จะช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ดูแลตัวเอง

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ ต้องดูแลตัวเองยังไง ?

การดูแลตัวเองของแม่ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ สู่การเป็นคุณแม่ที่แข็งแรงและมีความสุข การดูแลตัวเองในช่วงเวลานี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

  • โภชนาการ ต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกน้อย กินผักผลไม้หลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอจะช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีและป้องกันอาการท้องผูก หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และจำกัดปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลเนื่องจากอาจส่งผลต่อสุขภาพของทั้งแม่และลูกน้อยค่ะ
  • การออกกำลังกาย เลือกกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น เดิน เดินเร็ว ว่ายน้ำ โยคะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมนั้นปลอดภัยสำหรับคุณแม่และลูกน้อยควรปรึกษาแพทย์และผู้เขี่ยวชาญก่อนนะคะ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดอาการปวดเมื่อย และเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อคืนจะทำให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และควรหาเวลาพักผ่อนระหว่างวัน อาจเป็นการนั่งฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายค่ะ
  • ดูแลสุขอนามัย อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณท้องและอวัยวะเพศ เปลี่ยนเสื้อผ้า กางเกงชั้นในบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และดูแลสุขภาพช่องปากพบหมอฟันเป็นประจำ
  • ควบคุมสภาวะอารมณ์ คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะมีอารมณ์ที่ค่อนข้างอ่อนไหวง่าย ควรหาเวลาทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อคลายเครียดและผ่อนคลาย และพยายามพูดคุยกับคนรอบข้างเพื่อระบายความรู้สึกและขอคำแนะนำ รวมถึงเข้าร่วมกลุ่มสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ค่ะ
  • ไปพบแพทย์ตามนัด การที่คุณแม่ไปพบแพทย์ตามนัดเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อติดตามพัฒนาการของลูกน้อยและตรวจสุขภาพของคุณแม่ด้วยค่ะ

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ต้องระวัง

สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ควรระวัง !

16 สัปดาห์ เป็นช่วงที่คุณแม่สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกน้อยในครรภ์ได้มากขึ้น ดังนั้นคุณแม่จะต้องใส่ใจกับสุขภาพของตัวเองและลูกน้อยเป็นพิเศษ สิ่งที่คุณแม่ควรระวังในช่วงตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์นี้ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

  • การยกของหนัก เพราะการยกของหนักอาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดท้อง หรือแม้แต่ทำให้มดลูกบีบตัวได้ 
  • การออกกำลังกายที่หนักเกินไป คุณแม่ควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแม่ตั้งครรภ์ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากเกินไป
  • การอยู่ท่าเดิมนานๆ การนั่งหรือนอนอยู่ในท่าเดิมนานๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย และส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิต คุณแม่ต้องปรับเปลี่ยนอิริยาบท เช่นลุกเดิน หรือขยับร่างกายบ้าง 
  • การเดินทางไกล เนื่องจากการเดินทางไกลอาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า เพราะต้องนั่งอยู่ในรถเป็นเวลานานๆ และอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่ะ
  • การสัมผัสสารเคมี ในสารเคมีบางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่างๆ โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ในการทำความสะอาดบ้าน
  • อุณหภูมิที่สูงเกินไป การอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป เช่น ห้องซาวน่า หรือการอาบน้ำอุ่นนานเกินไป อาจส่งผลต่ออุณหภูมิร่างกายของลูกน้อยในท้องได้เช่นกัน
  • อาหารดิบและอาหารแปรรูป ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท สุกๆ ดิบๆ และอาหารแปรรูปทั้งหลาย เนื่องจากอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพค่ะ
  • การใช้ยา คุณแม่ท้องควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกชนิด แม้แต่ยาสามัญประจำบ้านทั่วไป เพราะจะมีผลกระทบกับลูกในท้องได้ค่ะ
  • การมีเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องปกติเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่หากคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนมีเพศสัมพันธ์นะคะ
  • ความเครียด เป็นศัตรูตัวร้ายของทั้งคุณแม่และลูกน้อย ควรหาเวลาพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย

ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ต้องรีบพบแพทย์

อาการแบบไหน ! ที่ต้องรีบพบแพทย์ของแม่ท้อง 16 สัปดาห์

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ก็มักจะมาพร้อมกับความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ด้วยเช่นกัน การสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนที่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที

  • มีเลือดออกจากช่องคลอด ไม่ว่าจะเป็นเลือดออกน้อยหรือมาก สีแดงสดหรือสีน้ำตาลเข้ม ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการแท้งลูก หรือรกเกาะต่ำ
  • ปวดท้องรุนแรง หากมีอาการปวดท้องจนไม่สามารถทนได้ หรือมีอาการปวดท้องร่วมกับมีเลือดออก อาจเป็นสัญญาณของการแท้งลูก การคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะรกหลุด
  • ปวดหัวรุนแรง การปวดหัวอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณของความดันโลหิตสูง หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • อาการบวม หากคนท้องมีอาการหน้าบวม คนท้องมือบวม หรือคนท้องเท้าบวมอย่างรวดเร็ว ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของความดันโลหิตสูง หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • มีไข้สูง หากคุณแม่มีไข้สูงอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
  • รู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก อาจเป็นสัญญาณของภาวะปอดอักเสบ หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
  • ลูกเคลื่อนไหวน้อยลง หากรู้สึกว่าลูกเคลื่อนไหวน้อยลงกว่าปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์
  • มีของเหลวไหลออกจากช่องคลอด หากมีของเหลวไหลออกมาในปริมาณมาก หรือมีสีผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นน้ำเดินหรือรกหลุด
  • รู้สึกวิงเวียน หน้ามืด อาจเป็นสัญญาณของความดันโลหิตต่ำ หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

การสังเกตอาการผิดปกติและการรีบพบแพทย์เมื่อเกิดปัญหา รวมถึงการบันทึกอาการที่เกิดขึ้น เช่น เวลาที่เริ่มมีอาการ ลักษณะของอาการ ความรุนแรงของอาการ จะช่วยให้คุณหมอดูแลและทำการตรวจวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องเช่นกันค่ะ

การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาพิเศษที่คุณแม่จะได้สัมผัสกับความรักและความผูกพันกับลูกน้อย การเตรียมตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะช่วยให้คุณแม่สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างราบรื่นและมีความสุข สิ่งสำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้คือการดูแลสุขภาพของตนเองและลูกน้อย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบาๆ และไปพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ จะช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยแข็งแรงสมบูรณ์

ที่มา : helloคุณหมอ , siamhealth

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แม่ท้องนอนท่าไหนดีสุด นอนตะแคงซ้ายปลอดภัยไหม คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้

เครื่องสําอาง คุณแม่ตั้งครรภ์ แม่ท้องอยากสวย เครื่องสำอางแบบไหนที่ใช้ได้ !?!

มีเพศสัมพันธ์ช่วงตั้งครรภ์ได้ไหม Sex ระหว่างตั้งครรภ์อันตรายหรือเปล่า ?

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!