เลือดออกหลังคลอดคืออะไร เลือดออกหลังคลอดอันตรายหรือไม่?
เลือดออกหลังคลอดคืออะไร มันอันตรายและส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง วันนี้ TheAsianparent Thailand จะนำข้อมูลดี ๆ เพื่อไขข้อสงสัยมาแบ่งปันกัน
เลือดออกหลังคลอดคืออะไร เลือดออกหลังคลอดผิดปกติหรือไม่?
คุณแม่หลาย ๆ คนที่กำลังจะคลอดลูกน้อย อาจจะมีความกังวลใจเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ หลังคลอด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งผิดปกติใด ๆ ก็ตามที่เคยได้ยินมา และอีกหนึ่งปัญหาที่แม่ ๆ หลายคนก็คงเครียดมาก ๆ และสงสัยว่า เลือดออกหลังคลอดคืออะไร มันอันตรายและส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง วันนี้ TheAsianparent Thailand จะนำข้อมูลดี ๆ มาแบ่งปันกัน
อาการนี้เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกาย ที่คนไทย เรียกกันว่า “น้ำคาวปลา” อาการนี้จะเกิดขึ้น ไม่ว่าคุณแม่จะคลอดแบบธรรมชาติ หรือ ผ่าคลอด ซึ่งเป็นกระบวนการของร่างกาย ในการกำจัดน้ำเมือก เนื้อรก และเลือดที่ตกค้างหลังคลอดที่จะไหลออกมาคล้ายกับประจำเดือนของผู้หญิง แต่อาการจะหนักกว่ามากในช่วงแรก ๆ นั่นเอง
โดยปกติน้ำคาวปลาจะลดลงตามธรรมชาติอยู่เเล้ว เเต่ก็มีสิ่งที่ทำให้น้ำคาวปลาลดลงได้เร็วขึ้น ซึ่งก็คือปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้
- การให้นมเเม่ จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น หากขณะที่คุณเเม่กำลังให้นมลูก อาจจะรู้สึกปวดท้องน้อย เเละน้ำคาวปลาไหลออกมามาก นั่นคือเรื่องปกติ
- อย่าอั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำเยอะ ๆ เเละเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ การปัสสาวะทจะเปรียบเหมือนการช่วยล้างเศษรก หรือเศษเนื้อเยื่อที่อาจตกค้างอยู่ออกมา
- ดูเเลโภชนาการหลังคลอด โดยกินอาหารที่มีปริมาณธาตุเหล็กสูง เพื่อบำรุงร่างกายที่มีการเสียเลือดไปปริมาณมากค่ะ
วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีน้ำคาวปลาออกมา
- ไม่จำเป็นต้องกินหรือทานอะไรเสริม เพื่อขับน้ำคาวปลานะคะ ร่างกายจะขับน้ำคาวปลาออกมาตามธรรมชาติอยู่เเล้วค่ะ
- เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ทุก 3-4 ชั่วโมง
- ควรล้างมือก่อนเเละหลังเข้าห้องน้ำ
- ไม่จำเป็นต้องฟอกสบู่หรือถูบริเวณนั้นๆ
- ดื่มน้ำมากๆ เเละนอนพักเยอะๆ
- หากรู้สึกไม่ปกติ รีบพบเเพทย์ทันทีนะคะ
- ทั้งนี้ควรตรวจร่างกายหลังคลอดตามนัดนะคะ เพื่อที่คุณหมอจะได้ตรวจในเรื่องของเศษที่อาจจะค้างภายในช่องคลอดของคุณเเม่ได้ เช่น เศษรก หรือเนื้อเยื่อบางส่วนตกค้างอยู่ ในกรณีที่ค้างอยู่เเพทย์จะทำการรักษาต่อไปค่ะ
โดยน้ำคาวปลาจะไหลออกมาในไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด และยาวต่อเนื่องไปจนถึงสองหรือสามสัปดาห์ แต่กับคุณแม่บางท่านอาจใช้เวลาถึง 6 สัปดาห์ แต่ถ้าหากคุณแม่มีข้อสงสัยหรือพบอาการดังต่อไปนี้ คุณแม่ควรติดต่อแพทย์ผู้ที่ดูแลสุขภาพของคุณแม่โดยตรงนะคะ
- มีเลือดออกมากกว่าปกติ จนต้องใช้ผ้าอนามัย 1 แผ่นต่อชั่วโมง
- เลือดออกเป็นสีแดงสดติดต่อกัน 4 วัน หรือ มากกว่านั้น เมื่อเอนตัวนอนหรือพักผ่อนก็ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น
- มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่
- รู้สึกเวียนหัวและอ่อนเพลีย
- หัวใจเต้นเร็ว หรือ เต้นผิดปกติ
เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่เตือนว่าคุณแม่กำลังจะเกิดภาวะตกเลือดนั่นเอง ซึ่งภาวะตกเลือดเป็นอันตรายแก่คุณแม่เป็นอย่างมากต้องรีบเข้าพบแพทย์โดยด่วน โดยสาเหตุของภาวะตกเลือดหลังคลอด แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1. การตกเลือดระยะเฉียบพลัน คือ มีอาการภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด สาเหตุได้แก่
- กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวไม่ดี เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
- การฉีกขาดของช่องทางในการคลอด เช่น ปากมดลูกและ/หรือช่องคลอด
- การมีเศษรกหรือเยื่อหุ้มทารกค้างในโพรงมดลูก
- การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
2. การตกเลือดระยะหลัง คือ การที่มีเลือดออกตั้งแต่หลังจาก 24 ชั่วโมงไปจนถึง 12 สัปดาห์หลังคลอด สาเหตุได้แก่
- การติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุพบได้บ่อยที่สุด
- การมีเศษรก หรือเยื่อหุ้มทารกค้างในโพรงมดลูก พบเป็นได้ทั้งสาเหตุตกเลือดหลังคลอดเฉียบพลันและระยะหลัง
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด
มีหลายปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด เราได้รวบรวมปัจจัยเหล่านั้นซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะดังกล่าวดังนี้
- การคลอดบุตรที่มีขนาดตัวใหญ่
- มีการตั้งครรภ์หลายครั้งและใช้ระยะเวลานานในการคลอด
- การติดเชื้อ
- โรคอ้วน
- การใช้ยาที่กระตุ้นให้เกิดการคลอด
- การใช้คีมในการทำคลอดของแพทย์
- การฉีกขาดในช่องคลอด เนื้อเยื่อในช่องคลอด หรือ หลอดเลือดในมดลูก
- ปัญหาความผิดปกติของลิ่มเลือดซึ่งทำให้เลือดออกง่าย
อาการของภาวะตกเลือดหลังคลอด
- อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
- เลือดออกเป็นจำนวนมาก
- ความดันเลือดลดลงต่ำ
- เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ช่องคลอดบวมและเจ็บ
อาการของการตกเลือดหลังคลอดอาจมีความคล้ายคลึงกับอาการหรือโรคอื่น ๆ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
การป้องกัน
บางครั้งการค้นหาข้อมูลและปฏิบัติตามอย่างระมัดระวังก็สามารถป้องกันหรือช่วยบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ เราขอแนะนำ 2 วิธีที่ช่วยป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอด
- ก่อนการคลอด หากคุณเป็นโลหิตจางควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี
- ใช้วิธีตัดฝีเย็บเพื่อขยายปากช่องคลอดในการคลอดลูก เมื่อจำเป็นเท่านั้น
วิธีการรักษาของแพทย์
- ตรวจมดลูกและเนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกราน
- สั่งจ่ายยาจำพวกยาโพรสตาแกลนดินส์ (prostaglandins ) ยาอ๊อกซิโตซิ (oxytocin) และ เออร์โกตามีน (ergometrine)
- นำรกเด็กที่ยังค้างอยู่ออกจากมดลูก
- ส่องกล้องผ่าตัดทางช่องคลอดซึ่งช่วยให้ค้นพบสาเหตุของการตกเลือดได้
- ตัดมดลูกออก แต่วิธีนี้จะเป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์เลือกใช้ในการรักษา
อาการร้ายแรงของภาวะตกเลือดหลังคลอด
การเสียเลือดมากอาจทำให้แรงดันเลือดลดลงต่ำลงมากจนอาจนำไปสู่อาการช็อคหรือเสียชีวิตได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามการตรวจพบแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้การรักษาผ่านไปได้ด้วยดี
Source : mccormickhospital.com , huggies.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
“คุณพ่อจ๋า” ต้องอ่าน 9 การดูแลภรรยาหลังคลอด วิธีดูแลภรรยาหลังคลอดให้แม่ดีใจ!
10 อาหารแม่หลังคลอด อาหารแม่ลูกอ่อน อาหารเรียกน้ำนม อาหารของคุณแม่
มดลูกลอยตัวอันตรายไหม มดลูกลอยตัวตอนตั้งครรภ์และหลังคลอด เป็นอย่างไร