หนึ่งในเทวรูปสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในยุคสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ พระสยามเทวาธิราช เป็นอีกหนึ่งเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทั้งชาติ เพื่อผูกขวัญ และกำลังใจในการต่อสู้ บากบั่น ตั้งใจในการทำงาน บริหารจัดการเพื่อความมั่นคงของแผ่นดินเกิด นับว่าเป็นปูชนียวัตถุ ที่สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ได้ทรงเคารพสักการะกันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมี คาถาบูชาพระสยามเทวาธิราช โดยเฉพาะ รวมถึงการตั้งเครื่องสังเวย ที่จำเพาะเจาะจงอีกด้วย
ประวัติความเป็นมาของ พระสยามเทวาธิราช
พระสยามเทวาธิราช ได้ถูกจัดสร้างขึ้นในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เนื่องจากยุคนั้นสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มสงบลง การรุกรานจากต่างชาติจากการล่าอาณานิคมเริ่มหมดไป
ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชีย ที่อยู่รอดปลอดภัย และเป็นเอกราชมาโดยตลอด แม้ว่าเราอาจจะต้องยอมสูญเสียพื้นที่บางส่วนของเราไป แต่ก็นับว่าเป็นการรักษาเอกราชไว้ได้อย่างสมบูรณ์
ร.๔ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ นายช่างเอก จัดปั้นรูปเทพยดาที่มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อยืน ให้มีสัดส่วนที่งดงามสมบูรณ์ ความสูงประมาณ 8 นิ้ว ต้องหล่อด้วยทองคำทั้งพระองค์ รวมถึงจะต้องทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ส่วนรายละเอียดในส่วนของพรหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ และพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบพระดรรชนีเสมอพระอุระ สันนิษฐานว่า ให้แทนสัญลักษณ์ของการแคล้วคลาดปลอดภัย จากอุปสรรคทั้งปวง ดังเช่น หลาย ๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา
หากสังเกตใกล้ ๆ จะเห็นว่า เรือนแก้วที่ทำด้วยไม้จันทน์แบบวิมานเก๋งจีน ซึ่งเป็นที่องค์พระสยามเทวาธิราชสถิตนั้น จะมีคำจารึกที่ผนังเบื้องหลังเป็นอักษรจีน ที่หมายถึง “เทพยดาผู้สิงสถิตรักษาสยามประเทศ” เสมือนเป็นตัวแทนของเหล่าเทพยดา ที่คอยคุ้มครองรักษาประเทศของเราให้มีความสงบสุข
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : คาถาพระพุทธเจ้าชนะมาร แก้ดวงตก ป้องกันภัยอันตรายทั้งปวง
พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานอยู่ที่ไหน?
พระสยามเทวาธิราช ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรม ในหมู่พระพุทธมหามณเฑียรในหมู่พระพุทธมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง
ในภายหลัง ยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากทำการรื้อพระที่นั่งทรงธรรมเก่าออก ร.๕ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มาจนถึงทุกวันนี้
เราสามารถสักการบูชา พระสยามเทวาธิราชได้ที่ไหนบ้าง?
ณ ปัจจุบัน ได้มีการจัดสร้างองค์จำลองของ พระสยามเทวาธิราช เพื่อให้ประชาชนชาวไทย และผู้ที่มีความเชื่อความศรัทธา ได้เข้ากราบไหว้ได้ ตามสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
- ภายในพิพิธภัณฑ์สักทอง วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ย่านเทเวศร์ กรุงเทพฯ
- บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
- ประดิษฐานที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
- ที่ด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี
- ที่ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา
- สนามกอล์ฟนอร์ธเทิร์น อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การถวายเครื่องสักการะ พระสยามเทวาธิราช
ในครั้งสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ท่านได้ทรงเคารพบูชาพระสยามเทวาธิราชเป็นอย่างสูง และจัดให้มีการถวายเครื่องสักการะ เป็นประจำทุกวัน และทรงถวายเครื่องสังเวยทุกวันอังคาร และวันเสาร์ก่อนเวลาเพล
อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสังเวยเทวดาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันขึ้นปีใหม่ ทางจันทรคติแบบโบราณอีกด้วย อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงกันอย่างหนาหูว่า พระสยามเทวาธิราชนั้น ทรงมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก
เครื่องสังเวยประกอบด้วย
- ข้าวสุกหนึ่งถ้วยเชิง
- หมูนึ่งหนึ่งชิ้น
- น้ำพริกเผา
- ปลานึ่งหนึ่งชิ้นพร้อมด้วยน้ำจิ้ม
- ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว
- กล้วยน้ำว้า
- มะพร้าวอ่อนหนึ่งผล
- ผลไม้ตามฤดูกาลสองอย่าง
- และน้ำสะอาดอีกหนึ่งถ้วย
หลายครั้งที่ ประชาชนทั่วไป มักจะเกิดความสับสนการสักการบูชา พระสยามเทวาธิราช กับการ พระราชพิธีสังเวยพระป้าย จนมีการกล่าวถึงว่าเป็นพิธีกรรมการบูชาที่คล้ายคลึงกับการ “ไหว้-พลี” ให้กับ “พระขพุงผี” หรือ “พิธีผี” ซึ่งในความเป็นจริงนั้น จะต้องแยกให้ขาดจากกัน ว่าการทำพระราชพิธีสังเวยพระป้าย นั้น เป็นเสมือนการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ ๔ ที่ทาง รัชกาลที่ ๕ ได้จัดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึง แต่การไหว้ พระสยามเทวาธิราชนั้น จะแตกต่างออกไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ เสริมสิริมงคล รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง
คาถาบูชาพระสยามเทวาธิราช
กล่าว นะโมฯ 3 จบ
สยามะ เทวาธิราชา เทวา ติเทวา มหิทธิกา
เทยยะ รัฏฐัง อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะจะ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ สุวัติโหตุ สัพพะทา
สยามะ เทวานุภาเวนะ สยามะ เทวะ เตชะสา
ทุกขะโรคะ ภะยา เวรา โสกา สัตตุ จุปัททะวา
อะเนกา อันตะรายาปิ วินัสสันตุ อะเสสะโต
ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง โสตถิง ภาคะยัง สุขัง พะลัง
สิริ อายุ จะ วัณโณ จะ โภคัง วุฒิ จะ ยะสะวา
สะตะวัสสา จะ อายุ จะ ชีวะสิทธิ ภะวันตุเม
คำแปล คาถาบูชาพระสยามเทวาธิราช
พระสยามเทวาธิราช เป็นจอมเทวดา ยิ่งใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย ทรงมี มหิทธิฤทธิ์ ขอจงอภิบาลรักษาประเทศไทย โดยให้ปราศจากโรคาพาธ อุปะทวะอันตราย ความพินาศทั้งหลาย ขอให้ประเทศไทยมีความร่มเย็นเป็นสุข โดยประการทั้งปวง
ด้วยอำนาจสัจวาจาที่อ้างถึง พระสยามเทวาธิราชนี้ ขอจงประทานความสุขสวัสดี จงบังเกิดแก่ประเทศไทยด้วยประการทั้งปวง ด้วยอานุภาพพระสยามเทวาธิราช และเดชพระสยามเทวาธิราช ขอจงขจัดทุกข์ โรคภัย ความโศก ศัตรู อุปัทวะ และอันตรายมิใช่น้อย ให้พินาศไปโดยไม่เหลือ
ขอชัยชนะความสำเร็จแห่งกิจการ ทรัพย์ ลาภ ความสวัสดี ความมีโชค ความสุข กำลัง ศรี อายุ วรรณะ โภคสมบัติ ความเจริญ และยศ มีอายุยืนตลอดหนึ่งร้อยปีขึ้นไป ความสำเร็จแห่งกิจการงานในความเป็นอยู่จงบังเกิดแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ
ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เหล่าพุทธศาสนิกชนจึงได้มีการจัดสร้าง พระสยามเทวาธิราชองค์จำลอง ไว้หลายองค์ ประดิษฐานอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เปิดตำนานความเชื่อ “แม่ซื้อ” เทวดาคุ้มครองทารก
6 ที่พึ่งทางใจพ่อแม่ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรสุขภาพ ให้ลูกแข็งแรงดีวันดีคืน
ท้าวหิรัญพนาสูร กับบันทึกลับตำนานโรคระบาด 100 ปี
ที่มา : mgr online , wikipedia