กีฬาประเภทผาดโผนเป็นกีฬาที่ผู้ปกครองมีความกังวล หากลูกเกิดความสนใจขึ้นมา สอนเด็กวิ่งปาร์กัวร์ได้ไหม เพราะอาจมองว่าอันตราย หากอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดี และในช่วงแรกที่ต้องเริ่มจากการปูพื้นฐาน สำหรับเด็กเล็กถือว่าไม่ได้อันตรายอย่างที่ผู้ปกครองคิดไว้
วิ่งปาร์กัวร์คืออะไร
ปาร์กัวร์ (Parkour) คือ กีฬาที่เน้นการวิ่ง และการปีนป่ายข้ามสิ่งกีดขวางต่าง ๆ คำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “การวิ่งทุกที่” และยังรู้จักกันในอีกชื่อว่า “Free running” กีฬาชนิดนี้ถือเป็นกีฬาประเภท Extreme แต่ในปัจจุบันมีการจำแนกปาร์กัวร์ และ Free running ออกจากกัน เพราะ Free running จะใช้ความเป็นยิมนาสติกเพิ่มเข้าไปมากกว่า ปัจจุบันกีฬาประเภทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น สามารถเห็นได้ตามสื่อออนไลน์ จนทำให้เด็กเล็กเกิดความสนใจ และต้องการที่จะทำตามมากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : อีสปอร์ต (E-sports) ทำความรู้จักกีฬายุคใหม่ของเด็กยุคดิจิทัล
วิดีโอจาก : Fitjunctions
สอนเด็กวิ่งปาร์กัวร์ได้ไหม
กีฬาชนิดนี้ถือเป็นกีฬาของทุกคน สำหรับเด็กอายุน้อยสุดที่เราแนะนำ คือ เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป เพราะต้องใช้ร่างกายพอสมควร แม้ในช่วงแรกจะเป็นการฝึกที่ไม่มาก ไม่หนักจนเกินไปสำหรับเด็ก แต่ไม่ควรเร่งรีบมากเกินไป การฝึกกีฬาประเภทนี้เมื่ออายุลูกมากขึ้น การฝึกจะเข้มข้นตามไปด้วย จึงควรให้ลูกเรียนตามความสมัครใจจริง ๆ และต้องเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเสมอ ไม่ควรเริ่มฝึกเพราะคิดว่าเท่ดี อยากเท่บ้าง แต่ต้องเป็นคนที่ลองฝึกแล้วรู้สึกชอบ และรักในสิ่งนี้จริง ๆ เท่านั้น
สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกโตขึ้นมาหน่อยอายุประมาณ 9 – 10 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เริ่มฝึกผาดโผนมากขึ้น หากลูกต้องการฝึก ก็สามารถทำได้ แต่ควรหาผู้เชี่ยวชาญมาสอนให้เป็นเรื่องเป็นราว ห้ามให้ลูกเรียนรู้ด้วยตนเองตามสื่อออนไลน์ เพราะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้จากการหกล้ม และอันตรายจากพื้นที่บางพื้นที่ เพราะกีฬาประเภทนี้จำเป็นที่จะต้องใช้สิ่งก่อสร้างในการฝึกฝนหากจะเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเราไม่แนะนำ การเรียนกับผู้เชี่ยวชาญ จะมีอุปกรณ์ และพื้นที่เฉพาะให้ ซึ่งเหมาะสมกว่า
ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยก่อน
เด็กสมัยใหม่เสพสื่อออนไลน์กันมากขึ้น การวิ่งปาร์กัวร์เป็นกีฬาที่มักเห็นได้บ่อย แต่เป็นการวิ่งโดยมืออาชีพ และมีความชำนาญสูง เด็กเล็กที่อาจไม่เข้าใจในเรื่องนี้ อาจมีพฤติกรรมเลียนแบบได้หากไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้ปกครอง จึงต้องระวังในเรื่องนี้ ไม่ควรให้ลูกฝึกด้วยตนเอง โดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ใกล้ ๆ ตัว นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันร่างกายหลายจุดที่มีความจำเป็น เช่น หมวกกันน็อก เป็นต้น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะที่กำลังฝึกฝน
การเรียนกับผู้เชี่ยวชาญ ยิ่งลูกมีอายุน้อยเท่าไหร่ ความเข้มข้นในการสอนจะน้อยลงตามไปด้วย ผู้สอนมักปรับการสอนให้เป็นการฝึกเคลื่อนไหวร่างกายจากการเล่นเกม หรือการทำกิจกรรมมากกว่า จึงยังไม่ต้องกังวลมาก แต่เมื่อลูกอายุมากขึ้น ไม่ควรมองข้ามเรื่องความปลอดภัยอย่างเด็ดขาดในทุกกรณี และไม่ควรส่งเสริมให้ลูกไปวิ่งปาร์กัวร์ตามตึกสูง หรือพื้นที่จราจรหนาแน่นโดยเด็ดขาด
4 ประโยชน์ของการวิ่งปาร์กัวร์
เมื่อให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ป้องกันแล้ว การฝึกวิ่งปาร์กัวร์เป็นกีฬาที่น่าสนใจ เพราะมีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในด้านร่างกาย และการใช้ความคิด รวมไปถึงการตัดสินใจ นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันอย่างหลากหลาย ดังนี้
1. ฝึกความแข็งแรงของร่างกาย
สิ่งแรกที่ได้จากการออกกำลังกาย คือ ความแข็งแรงของร่างกายเราเอง สำหรับกีฬาที่เน้นการเคลื่อนไหว การวิ่ง และการปีนป่ายแบบนี้จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อขา และกล้ามเนื้อแขนมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกการทรงตัวของร่างกายได้อีกด้วย หากป้องกันร่างกายด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสม การวิ่งปาร์กัวร์ ถือเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่น่าสนใจในการที่จะพัฒนาความแข็งแรงของร่างกายได้เป็นอย่างดี
2. ฝึกใช้ความคิดในการตัดสินใจ
การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วผ่านสิ่งกีดขวางที่อยู่ตรงหน้า เป็นหัวใจสำคัญของกีฬาประเภทนี้ โดยทั่วไปมักจะไม่ค่อยได้หยุดนิ่งเท่าไหร่ เน้นการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่ต้องใช้นอกจากความแข็งแรงของร่างกาย คือ ความสามารถในการตัดสินใจ ว่าจะวิ่งไปทางไหน ต้องปีนอะไร หรือใช้วิธีไหนเพื่อให้ผ่านสิ่งกีดขวางได้รวดเร็วที่สุด เป็นวิธีที่ช่วยพัฒนาความคิด และการตัดสินใจอย่างรวดเร็วให้กับลูกได้เช่นกัน
3. รู้จักถึงความพยายามเอาชนะอุปสรรค
การวิ่งปาร์กัวร์ได้อย่างคล่องแคล่วไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ จะต้องพึ่งการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง สิ่งกีดขวางข้างหน้าเปรียบได้กับอุปสรรคที่จะต้องข้ามไปให้ได้ หากต้องการที่จะไปต่อจะต้องให้เวลากับความพยายาม เน้นฝึกบ่อย ๆ ทำเยอะ ๆ เพื่อให้จับทางได้ รวมไปถึงศึกษาเทคนิคการเคลื่อนไหวต่าง ๆ และถึงแม้จะผ่านไปได้ ก็อาจต้องไปเจอสิ่งกีดขวางใหม่ ที่ทำให้ต้องหยุดอยู่กับที่อีกครั้ง การฝึกใช้ความอดทน และความพยายามแบบนี้ เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่ควรสอนให้ลูกเข้าใจตั้งแต่ยังมีโอกาส และยังสามารถสอนได้ง่าย
4. ฝึกการสังเกต การจดจำ
ทักษะการสังเกตเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้สำหรับกีฬาที่ใช้ความเร็ว การสังเกต และใช้ไหวพริบจะต้องเกิดขึ้นตลอดการเคลื่อนไหว ใช้ร่วมกับการตัดสินใจในเวลาสั้น ๆ เพื่อเพิ่มพัฒนาการด้านการสังเกต และการจดจำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในชั้นเรียนของลูก และการใช้ชีวิตประจำวันด้วย หากมีความจำที่ดี จะยิ่งทำให้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการเป็นคนชอบสังเกต คิดวิเคราะห์อย่างรวดเร็ว สำคัญในชีวิตประจำวันเช่นกัน
การหาโอกาสให้ลูกได้เล่นกีฬา ได้ออกกำลังกายสามารถเลือกได้หลายรูปแบบ หลายประเภทตามความเหมาะสม หากผู้ปกครองเลือกจากความชอบของลูก จะสามารถกระตุ้นให้ลูกออกกำลังกายได้บ่อยมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม และพัฒนาการทางด้านร่างกายของลูกเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ฟันดาบ กีฬาแห่งความท้าทาย ฝึกวินัย และความมั่นใจในเด็ก
แชร์บอล ช่วยฝึกทักษะของลูกด้านใด พร้อมกฎและกติกาในการเล่น
ยูโด (Judo) ศิลปะการต่อสู้แห่งความคิด และพัฒนาจิตใจสำหรับเด็ก