พ่อแม่รังแกฉัน … เพราะค่านิยมบางอย่างที่พ่อแม่ “รังแกลูก”
“นี่ลูกฉันสอบได้ที่ 1 ทุกเทอมเลย…แต่เดี๋ยวเทอมหน้าต้องให้อ่านเยอะกว่านี้ ยิ่งเรียนยิ่งยาก”
“แย่แล้ว…ลูกได้เกรด 3 ทำยังไงดีเนี่ย สงสัยต้องให้เรียนพิเศษเพิ่ม”
“ทำยังไงดีเนี่ย…ลูกสอบได้ไม่ถึงครึ่งซักที เรียนครบหมดวันจันทร์ – อาทิตย์แล้วนะเนี่ย สงสัยต้องเพิ่มเวลา”
ข้อความเหล่านี้เป็นเสียงความกังวลของคนเป็น พ่อ แม่ ผู้ปกครองในปัจจุบัน ด้วยความเป็นครู ผู้บริหาร นักเขียนด้านพัฒนาการเด็กและเด็กภาวะพิเศษ และเป็นแม่คนหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ตอบคำถามข้อสงสัยของผู้ปกครองมายาวนานกว่า 16 ปี ทำให้สังเกตถึง “ค่านิยม” ที่สะท้อนออกมาจากคำถามของผู้ปกครองทุกยุคทุกสมัย ทั้งของเด็กปกติหรือเด็กที่มีภาวะพิเศษ แม้ว่าเวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แนวทางการศึกษาจะมีการปฏิรูปไปรอบแล้วรอบเล่า โรงเรียนทางเลือกและการศึกษาทางเลือกก็มีจำนวนมากขึ้น แต่คำถามยอดฮิตก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่อง “ผลการเรียน” ของลูก ๆ อยู่ดี
ปัจจุบันแนวคิดในเรื่องการศึกษาทั้งในฝั่งอเมริกาและฝั่งยุโรป รวมทั้งประเทศผู้นำในแถบอาเซียนได้ปรับรูปแบบการเรียนที่เน้นถึง “ทักษะชีวิต” ทักษะที่จะช่วยให้เด็กในยุคศตวรรศที่ 21 จะก้าวเข้าไปใช้ชีวิตจริงในโลกของการทำงาน และการดำเนินชีวิตกันมากขึ้น สำหรับประเทศไทยนักคิดและนักการศึกษาหลายท่านก็พยายามส่งเครื่องมือมาให้ ครู และผู้ปกครองไปปรับใช้แนวคิดเหล่านี้ แต่ด้วย “ค่านิยม” ที่ฝังรากลึกมายาวนานนี้เองทำให้แม้จะมีวิธีการ อุปกรณ์ หลักสูตร ฯลฯ สารพัดเครื่องมือมาเป็นตัวช่วย แต่ก็ไม่สามารถฝ่าด่านความคิดความเชื่อที่ติดอยู่นี้ไปได้ จนเกิดวงจรประหลาดขึ้นกับเด็กไทยจำนวนมากคือ
– เบื่อ: จากการเรียนรู้ที่ซ้ำแต่ไม่สด เพราะเนื้อหาและวิธีการของครูและผู้ปกครองซ้ำซากจำเจ ไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะกับความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก เพราะเด็กบางคนเรียนได้ดีถ้าได้ลงมือทำ เด็กบางคนทำได้ดีถ้าได้คิดต่อยอด เด็กบางคนทำได้ดีถ้าได้เห็นของจริง ฯลฯ ดังนั้นเพื่อให้ง่ายกับครูและพ่อแม่ การสอนจะกลับไปที่กระบวนการ อ่าน และนำมาสอบ
– เครียด: จากปริมาณเนื้อหาหลักสูตรของเด็กๆในทุกวันนี้ โดยรวม ๆ มี 8 กลุ่ม 8 สาระวิชา, 20 วิชาเรียน, 67 มาตรฐาน นักเรียนจะเรียนวันละ 6-7 คาบ ใช้เวลาเรียนคาบละ 35 นาที และเรียนสัปดาห์ละ 35 คาบ แถมยังต้องเรียนกวดวิชาหลังเลิกเรียน หรือเรียนในวันหยุดอีกด้วย เรียกได้ว่าเด็ก ๆ ไม่มีเวลาอิสระที่จะได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ อาทิ เล่นกีฬา กิจกรรมเพื่อสังคม การพักผ่อนในสวน ฯลฯ เมื่อเวลาเร่งรัด การใช้เครื่องมือ IT มาช่วยผ่อนคลายความเครียด ก็กลายเป็นการสร้างความเครียดในระยะยาวให้กับทั้งเด็กและผู้ปกครอง เพราะการหยิบเครื่องมือมาใช้ “ง่ายและผ่อนคลาย” คนที่จะเครียดกว่าคือผู้ปกครอง เพราะเด็กจะอยู่ในสภาวะติดเกม ติดคอม และติดโทรศัพท์ค่ะ
– ทุกข์: เมื่อการไปโรงเรียนไม่มีความสุข สภาวะที่ต้องแบกรับไว้ทั้งครอบครัวคือ “ความทุกข์” เพราะเมื่อเด็ก ๆ แสดงอาการเบื่อการเรียน ผู้ปกครองก็แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มจำนวน และเวลาในการ “เรียนพิเศษ” เมื่อเรียนพิเศษไปมาก ๆ ในสมองน้อย ๆของลูกเต็มไปด้วยเนื้อหาที่อัดแน่น ความเครียดก็เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนจนเกิดภาวะ “สมองบวม” จากนั้นเด็ก ๆ แทนสัญลักษณ์สิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ อาทิ โรงเรียน ครู หนังสือ ฯลฯ รวมเรียกว่าเป็น “ความทุกข์” สิ่งที่จะเกิดตามมาเมื่อไปใช้ชีวิตในช่วงที่เป็นผู้ใหญ่คือ “ขาดแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน” ซึ่งเป็นทักษะสำคัญมากในโลกของการทำงาน ที่จะมีเทคนิควิธีใหม่ ๆ มาใช้เสมอ ๆ โอกาสทางความก้าวหน้าของลูกจึงต่ำถึงต่ำมาก เมื่ออยู่ในภาวะนี้ค่ะ
เมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครองได้ทราบว่า ปัญหาจากการใช้แนวคิดเดิม ๆ จะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นแล้ว ทุกท่านควรจะยอมที่จะค่อย ๆ ปรับ “ค่านิยม” ในตัวเองใหม่เพื่อคนที่คุณรักที่สุดก็เป็นได้นะคะ
โดย ครูป๋วย
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และในเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการของทารก ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุด และผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์ และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความที่เกี่ยวข้อง :
บทความอื่น ๆ ทีน่าสนใจ :
เลี้ยงลูกไม่ให้เป็นซุปเปอร์แมน
10 กลยุทธ์ประหยัดเงินเวลาซื้อของเข้าบ้าน
ซิลเวอร์สปูน การ์ตูนว่าด้วยปศุสัตว์ ความเป็นจริงและวัยรุ่น