เมื่อพูดถึงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในยุคนี้ ทักษะ Executive Function (EF) ดูจะเป็นหัวข้อที่เป็นที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน ในบทความนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับตัวแปรทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า Executive function และความสำคัญของทักษะนี้ ที่นับว่าเป็นพื้นฐานของการประสบความสำเร็จในชีวิตกัน
ทักษะ Executive Function (EF) คืออะไร ?
Executive Function หรือ EF เป็นชื่อที่ใช้เรียกรวมทักษะทางปัญญาที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่ดูแล จัดการ จัดระเบียบงานต่าง ๆ เพื่อดำเนินการให้สำเร็จลุล่วง โดยเราจะสามารถเห็นพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของทักษะ Executive Function ได้ชัด ในช่วงปฐมวัย ตั้งแต่ อายุ 3 – 5 ปี ซึ่งเป็นตัวแปรที่นักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กให้ความสนใจอย่างมาก
Center of Developing Child ของ Harvard University ปี 2011 อธิบายเกี่ยวกับ ทักษะ Executive Function เปรียบเสมือน “หอบังคับการบิน” ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการจราจรทางอากาศ ให้เครื่องบินหลายร้อยลำขึ้น-ลงอย่างปลอดภัยโดยไม่ชนกัน หอบังคับการบินเปรียบเสมือนสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่บริหารจัดการความคิด ความจำ การวางแผน การควบคุมอารมณ์ และการตัดสินใจ เปรียบเสมือนการจัดการเครื่องบินหลายลำที่เป็นตัวแทนของ คำสั่ง หรือ งานย่อย ต่าง ๆ ที่บุคคลต้องทำ ต้องจัดการ เพื่อให้งานหรือเป้าหมายสำเร็จลุล่วง งานบางอย่างต้องให้ความสนใจ จัดการเป็นอันดับแรก (เครื่องบินเตรียมขึ้น-ลง) งานบางอย่างต้องจดจำไว้ก่อน รอทำเป็นลำดับต่อไป (รักษาระดับ) และต้องสามารถระงับ ยับยั้ง เครื่องบินลำอื่น ๆ ที่อาจจะเข้ามาอยู่ผิดที่ผิดทาง ขวางทาง runway ให้กลับไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมได้ทันท่วงทีอีกด้วย
ทักษะ Executive Function ประกอบไปด้วย 3 ทักษะหลัก
1) ทักษะในการควบคุมความสนใจ (attention shifting หรือ cognitive flexibility)
คือความสามารถในการเปลี่ยนความสนใจจากงานหนึ่ง ไปอีกงานหนึ่ง และยังรวมถึงความสามารถที่จะเพิกเฉยต่อสิ่งที่มารบกวนการทำงานด้วย เมื่อเด็กสามารถเลือกสนใจสิ่งที่จำเป็น และเพิกเฉยต่อสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ จะทำให้เด็กสามารถจดจ่ออยู่กับงานนั้น ๆ ได้จนสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย นอกจากนี้ทักษะในการเลือกสนใจยังเกี่ยวข้องกับการคิดนอกกรอบ หรือมองเรื่องราวในมุมมองใหม่ ๆ มีส่วนในการคิดวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่หลากหลายตามสถานการณ์ได้อีกด้วย
2) ทักษะในการจดจำข้อมูลและประมวลผล (working memory)
คือความสามารถในการเก็บจำข้อมูลให้ได้นานพอจนกว่าจะทำงานสำเร็จ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เด็กสามารถปฏิบัติตามคำสั่ง คำแนะนำ หรือทำตามแผนการต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะในงานที่มีหลายขั้นตอน เด็กจะต้องจำได้ว่าในขั้นนี้เขาต้องทำอะไรเพื่อให้ดำเนินไปสู่ขั้นต่อไป เป็นทักษะสำคัญในการคิดเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ หรือความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ช่วยในเรื่องการคิดคำนวณภายในใจ เชื่อมโยงปัจจุบันกับอดีต หรือคาดการณ์ถึงอนาคตได้ จึงมีส่วนช่วยในการวางแผนงานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
3) ทักษะในการยับยั้งพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ของตนเองได้ (inhibitory control)
ความสามารถในการยับยั้งพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ (ที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ หรือความเคยชิน) แล้วเปลี่ยนไปทำพฤติกรรมใหม่ที่มีความเหมาะสมมากกว่า หรือเป็นที่น่าพึงพอใจทางสังคมมากกว่า และช่วยในการชะลอความเร็วในการตอบสนองลง เพื่อคิดไตร่ตรองก่อนตอบสนองได้ โดยเมื่อเด็กสามารถยับยั้งพฤติกรรมตามความเคยชินได้ ก็สามารถใช้ความคิด วางแผน หรือตัดสินใจเพื่อเลือกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม หรือแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้
จากที่กล่าวมาข้างต้น EF จึงเป็นทักษะสำคัญในการลำดับ จัดการงานต่าง ๆ ให้ผ่านพ้น เป็นพื้นฐานของการประสบความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ งานวิจัยทางจิตวิทยามากมายพบว่าการมี ทักษะ EF ที่ดี ช่วยให้เด็กมีความพร้อมทางการเรียน (school readiness) และสามารถทำนายผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีได้ตลอดระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา นอกจากนี้ EF ไม่เพียงสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในการเรียนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อไปถึงความสำเร็จเรื่องการงาน เรื่องการเข้าสังคม และเรื่องอื่น ๆ ตลอดช่วงชีวิตด้วย
การที่จะส่งเสริมทักษะ Executive function ให้กับเด็กควรมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องตามพัฒนาการ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 3 – 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองของพัฒนาการ EF กิจกรรมที่ใช้ส่งเสริมควรสอดคล้องไปกับ 3 ทักษะของ EF และควรเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกเปลี่ยนความสนใจ มีข้อมูลให้เด็กจดจำ และมีกติกาที่เด็กต้องใช้การยับยั้งตนเอง
บทความโดย อาจารย์ ดร.พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอกสารอ้างอิง
Blair, C., & Diamond, A. (2008). Biological processes in prevention and intervention: The promotion of self-regulation as a means of preventing school failure. Development and Psychopathology, 20(3), 899.
Carlson, S. M., & Moses, L. J. (2001). Individual differences in inhibitory control and children’s theory of mind. Child Development, 72(4), 1032-1053.
Center on the Developing Child at Harvard University (2011). Building the Brain’s “Air Traffic Control” System: How Early Experiences Shape the Development of Executive Function: Working Paper No. 11. Retrieved from www.developingchild.harvard.edu.
Diamond, A. (2013). Executive functions. Annual Review of Psychology, 64, 135-168.
Schmitt, S. A., McClelland, M. M., Tominey, S. L., & Acock, A. C. (2015). Strengthening school readiness for Head Start children: Evaluation of a self-regulation intervention. Early Childhood Research Quarterly, 30, 20-31.
Raver, C. C., & Blair, C. (2016). Neuroscientific insights: Attention, working memory, and inhibitory control. The Future of Children, 95-118.
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
การมีสติ ฉบับเด็ก ๆ เป็นอย่างไร ฝึกลูกให้มีสติ ท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย
วิธีจัดการกับความรู้สึกตัวเอง เมื่อเทศกาลรื่นเริง ไม่ใช่เทศกาลแห่งความสุข