การเลี้ยงลูก ควรเป็นหน้าที่ใคร?
ใครกันนะ ที่เป็นคนนิยามหน้าที่ การเลี้ยงลูก ให้กับฝ่ายหญิงเป็นผู้ดูแลเพียงผู้เดียว หรือเป็นเพราะผู้หญิงตั้งท้องได้ หน้าที่ทุกอย่างจึงตกเป็นของผู้หญิงทั้งหมด
ถ้าครอบครัวไหน ได้สามีน่ารัก คอยช่วยดูแลทุกอย่างก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าครอบครัวไหนที่สามีไม่เคยแม้แต่จะเปลี่ยนผ้าอ้อม หรืออุ้มลูกนี่แล้วละก็ เรื่องใหญ่ อย่างน้อยลองหันหน้าคุยกัน ปรึกษาหารือว่าจะช่วยกันแบ่งเบาภาระกันและกันอย่างไรดี เพราะ การเลี้ยงลูก ร่วมกันนั้น ถือเป็นประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ของคนสองคน ที่ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ทุกอย่างนั้นออกมาได้อย่างดีที่สุด
แล้วจะทำอย่างไรดีละ ที่จะไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า เขาต้องทำทุกอย่างแต่เพียงผู้เดียว
1. ช่วยกันแบ่งหน้าที่ ใช่ค่ะ ถ้าคุณแม่รับทำทุกอย่างแต่เพียงอย่างเดียว แน่นอนว่า ความเครียดก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ทำไมเราไม่ตกลงแบ่งหน้าที่ ๆ ชัดเจนให้กันและกันดูละคะ ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่อยู่กะเช้า คุณพ่ออยู่กะกลางคืน คุณแม่ให้นม คุณพ่อเช็ดก้น หรือคุณแม่ทำกับข้าว คุณพ่อเล่นกับลูก เป็นต้น จงอย่าปล่อยให้คุณแม่ต้องทำทุกอย่างแต่เพียงผู้เดียว เพราะนั่นหมายถึง คุณกำลังโยนภาระทุกอย่างของการเป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับเธอ
2. ให้คุณแม่ได้มีเวลาส่วนตัวบ้าง แน่นอนว่า คุณแม่คือบุคคลสำคัญที่สุดในการเลี้ยงดูลูก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า คุณแม่จะต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวไป ดังนั้น ก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อ หรือคนรอบข้างแล้วละ ที่จะต้องคอยถาม หรือเสนอตัวช่วยให้กับคุณแม่บ้าง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะอะไร แต่เพื่อให้คุณแม่ได้มีเวลาพักผ่อน และมีเวลาส่วนตัวที่จะทำอะไรได้บ้าง สำคัญที่สุด วิธีนี้ จะช่วยลดความเครียดและความกดดันในตัวของคุณแม่ได้อีกด้วย
3. ขอแค่ความเข้าใจ เพราะการทำหน้าที่แม่นั้น บอกได้เลยว่านอกจากเหนื่อยแล้วก็ยังเครียดอีกด้วย เพราะต้องคอยกังวลอะไร ๆ หลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับลูก รวมถึงอารมณ์ที่แปรปรวนจนคนรอบข้างต้องตกใจ ซึ่งใจจริงแล้ว คุณแม่ก็ไม่ได้อยากให้มันเกิดขึ้นหรอก แต่เป็นเพราะฮอร์โมนต่างหาก ที่ทำให้ต้องเป็นแบบนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่คนเป็นแม่ต้องการจากคุณสามีและคนรอบข้างมากที่สุดก็คือ ความเข้าใจ กำลังใจและการให้อภัย นั่นเอง
4. ชื่นชมในกันและกัน ไม่สำคัญว่าคุณพ่อ คุณแม่หรือคุณตาคุณยายจะเป็นคนดูแลลูกในตอนนั้น อย่าลืมที่จะกล่าวขอบคุณ พร้อมคำชื่นชมเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับคนที่เขาช่วยเลี้ยงดูลูกในตอนนั้น ไม่ใช่เพื่ออะไร แต่เพื่อให้คนที่เขายื่นมาเข้ามาช่วยเรานั้น ได้มีกำลังใจ และอยากที่จะทำต่อไป เพราะสิ่งนี้ย่อมดีกว่าการตำหนิ หรือต่อว่าต่อขานอีกฝ่าย ให้รู้สึกบั่นทอนและไม่อยากที่จะช่วยหรือทำอะไรให้อีกเลย
5. ไม่มีคำว่า งานของฉัน หรืองานของเธอ ใช่แล้วละค่ะ การทำหน้าที่ของพ่อแม่ หรืองานบ้านต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นหน้าที่ของ “เรา” ที่จะช่วยกันทุกอย่างให้ดีขึ้น และคงไว้ซึ่งความผิดพลาดให้น้อยที่สุด
ดังนั้น อย่าบอกว่าทำไม่เป็น เพราะไม่มีใครหรอก ที่เกิดมาแล้วเป็นพ่อแม่เลย ทุก ๆ คนย่อมต้องผ่านการเรียนรู้และอุปสรรคต่าง ๆ นา ๆ ด้วยกันทั้งนั้น รวมถึงพ่อแม่ของเราเอง แล้วทำไม เราถึงไม่ใช้โอกาสนี้ เรียนรู้ที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดีให้กับลูก ๆ ของเราให้มากที่สุดละคะ
คุณแม่หลายคนอาจกำลังประสบปัญหาครอบครัว ที่คุณสามีไม่ช่วยเลี้ยงลูก และมักปล่อยให้เรารับผิดชอบดูแลลูกอย่างหนักเพียงคนเดียว แถมหากมีปัญหาเกี่ยวกับลูก ความผิดก็มักมาลงที่แม่อย่างเราเป็นประจำ เราจึงขอรวบรวมเอาวิธีชวนคุณพ่อมาช่วยเลี้ยงลูกมาฝาก เผื่อจะเป็นแนวทางช่วยคุณได้ค่ะ
ปัญหาสามีไม่ช่วยเลี้ยงลูก อาจเกิดมาจากค่านิยมของผู้ชายไทย ที่มักมีหน้าที่หาเงินเข้าบ้าน และเข้าใจว่าหน้าที่ดูแลลูกเป็นของผู้หญิงเท่านั้น แต่ในยุคนี้ ผู้หญิงก็ต้องออกไปทำงานหาเงินเช่นกัน และมีผลวิจัยชี้ชัดออกมาว่า การที่คุณพ่อช่วยเลี้ยงลูก จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นด้วย ค่านิยมเหล่านี้จึงอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนกันบ้างแล้ว…
1. แสดงให้สามีรู้ว่า หน้าที่คุณพ่อสำคัญแค่ไหน
การจะเปลี่ยนความคิด ค่านิยมของคุณสามีนั้นไม่ง่ายนัก แต่การพูดคุยด้วยเหตุผลก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีค่ะ โดยคุณแม่อาจอธิบายให้คุณพ่อเข้าใจถึงประโยชน์ที่เขาควรเข้ามาช่วยดูแลลูก เช่น การที่สามีได้ใกล้ชิดลูก จะทำให้ลูกมีต้นแบบที่ดีในเรื่องของความหนักแน่น เข้มแข็งแบบผู้ชาย และการสร้างสายใยความรักระหว่างพ่อลูกเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณสามีไม่ช่วยเลี้ยงลูกเลย ความห่างเหินจะเกิดขึ้น และอาจทำให้เกิดปัญหาครอบครัวได้
2. ให้ลูกนอนหลับอยู่บนอกคุณพ่อบ้าง
การสร้างความรู้สึกผูกพันระหว่างคุณสามีกับลูกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว สายใยความผูกพันระหว่างแม่ซึ่งอุ้มท้องลูกมาตลอด 9 เดือนย่อมมีมากกว่าพ่อ คุณอาจลองปล่อยให้ลูกนอนหลับบนแผ่นอกของคุณสามีบ้าง เพื่อสร้างช่วงเวลาอบอุ่นระหว่างคุณพ่อกับคุณลูกให้แนบแน่นยิ่งขึ้น
3. ให้กำลังใจสามีแม้ว่าเขาจะดูเงอะงะ
อาจมีบ้างที่คุณพ่อมือใหม่จะเกิดอาการเงอะๆ งะๆ ในการเลี้ยงลูก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยอุ้ม เปลี่ยนผ้าอ้อม ป้อนนม (ซึ่งเด็กบางคนก็ชอบกินนมจากเต้าคุณแม่มากกว่านมจากขวด) หากคุณยิ่งไปตำหนิ ต่อว่าคุณสามีที่ไม่คล่องแคล่วในการเลี้ยงลูก ก็อาจจทำให้เขาหมดกำลังใจ คุณแม่จึงต้องใจเย็นๆ อย่าลืมชื่นชมเมื่อเขาช่วยได้ดี และคอยช่วยอธิบายวิธีที่ถูกต้องเมื่อคุณสามียังไม่เชี่ยวชาญ
4. อย่าใช้อารมณ์บังคับสามี
เมื่อสามีไม่ช่วยเลี้ยงลูก คุณแม่บางคนอาจไม่เก่งเรื่องการสื่อสาร จึงอาจเผลอใช้อารมณ์งอน เหวี่ยง โวยวาย หรือตำหนิสามีแทนการพูดคุยด้วยเหตุผล ทำให้คุณสามีเกิดความรู้สึกรำคาญ ไม่พอใจ ต่อต้าน และเกิดการทะเลาะกันขึ้นจนกลายเป็นปัญหาครอบครัว คุณจึงอาจจะต้อใช้จิตวิทยาในการพูดสักหน่อยค่ะ
5. อย่าละเลยการดูแลสามี
การเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญของชีวิตคู่ ในขณะที่เราเหนื่อยกับหน้าที่ดูแลลูกของเรา คุณสามีก็อาจเหนื่อยกับเรื่องอื่นๆ มาเช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเราอยากให้คุณสามีมาแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงลูกของเรา เราก็อาจต้องช่วยแบ่งเบาภาระของเขาด้วย โดยอาจช่วยดูแล ทำหน้าที่ของภรรยาอย่างเต็มที่ ให้คุณสามีมีความสุขและสบายใจ เขาจะได้มีพลัง กำลังใจในการช่วยดูแลลูกไงคะ
ที่มา: Scary Mommy
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พฤติกรรมผิด ๆ ที่พ่อแม่ใช้เลี้ยงลูกวัย 2 ขวบ
9 วิธี เลี้ยงลูกแบบไหนให้โตมาไม่ก้าวร้าว
มุมมองการเลี้ยงลูกแบบหมอ ๆ จากคุณแม่นุ่น เป็นหมอทั้งบ้าน จัดสรรเวลาให้ลูกยังไง