ล้างจมูกมีประโยชน์อย่างไร
การล้างจมูก (nasal irrigation) เป็นการล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือ มีประโยชน์ในการช่วยล้างสิ่งสกปรก ล้างน้ำมูกที่ค้างในโพรงจมูก สารก่อภูมิแพ้ สารระคายเคืองเช่นฝุ่นและควัน รวมทั้งช่วยลดเซลล์อักเสบในโพรงจมูก ส่งผลให้โพรงจมูกโล่ง สะอาด และชุ่มชื้นขึ้น ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก ช่วยลดน้ำมูกที่ไหลลงคอจึงส่งผลให้อาการไอจากการมีน้ำมูกไหลลงคอ (post nasal drip) ลดลง นอกจากนี้ ในกรณีผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาพ่นจมูก การล้างจมูกก่อนที่จะพ่นยาพ่นจมูก จะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อจมูกได้มากขึ้น และยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น โดยควรรอให้โพรงจมูกแห้งก่อน อย่างน้อย 3-5 นาที จึงค่อยพ่นยา
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เด็กๆไม่ชอบล้างจมูก เกิดจากประสบการณ์ในการล้างจมูกที่ไม่ดี เช่น เจออาการหูอื้อ แสบจมูก และสำลัก หรือบางคนกลัวอุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างจมูก เพราะรูปร่างคล้ายเข็มฉีดยา อยากให้คุณแม่ลองสังเกตสิ่งที่ทำให้ลูกไม่ชอบการล้างจมูก และหาวิธีแก้ไขที่ตรงกับสาเหตุ เช่น หาอุปกรณ์ที่ดีไซน์น่ารัก เด็กไม่กลัว หรือมาทำตามวิธีล้างจมูกที่ถูกต้อง เพื่อประสบการณ์ที่ดีในการล้างจมูกของเด็กๆ ตามขั้นตอนง่ายๆด้านล่างดังนี้
1. ล้างมือให้สะอาด
2. เตรียมน้ำเกลือสำหรับล้างจมูก โดยอาจใช้น้ำเกลือขวดพร้อมใช้ (ไม่ควรใช้เกิน 1 เดือนหลังจากเปิดขวด) หรือ เกลือผงผสมน้ำต้มสุกสะอาด หรืออาจใช้น้ำกรอง น้ำกลั่น หรือน้ำดื่มในการผสมกับเกลือผงก็ได้ เกลือที่ใช้ควรเป็นเกลือ USP Grade (เกลือมาตรฐานเดียวกับที่ใช้ผลิตยา)
ข้อควรระวัง ควรใช้น้ำดื่มหรือน้ำประปาต้มสุก(อุณหภูมิห้อง)และห้ามใช้น้ำเปล่าที่ไม่ผสมเกลือผงในการล้างจมูก เพราะทำให้มีอาการแสบระคายเคืองจมูกได้
3. ดูดน้ำเกลือใส่อุปกรณ์การล้างจมูก เช่น ขวดล้างจมูก หรือ กระบอกฉีดยา
Tips & Tricks
การใช้ขวดล้างจมูก มีข้อดีในการที่ผู้ใช้สามารถควบคุมแรงดัน และการไหลของน้ำเกลือให้ไม่แรงเกินไป ป้องกันการปวดหูหรือหูอื้อ หรือสำลัก และขวดล้างจมูกที่มีดีไซน์น่ารัก ทำให้เด็กไม่กลัว รู้สึกสนุกและให้ความร่วมมือในการล้างจมูกมากขึ้น ควรเลือกวัสดุของขวดล้างจมูกที่มีความปลอดภัยจากสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (BPA Free) และเปลี่ยนอุปกรณ์ล้างจมูกอย่างน้อยทุก 3 เดือน เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนของเชื้อโรค
4. ผู้ที่จะล้างจมูกยืนหรือนั่งในท่าที่สะดวก อาจโน้มตัวไปข้างหน้า หรือก้มศีรษะเล็กน้อยเหนืออ่างล้างหน้าหรือภาชนะรองน้ำ นำปลายขวดล้างจมูกจ่อจมูกข้างที่จะล้าง อ้าปากและกลั้นหายใจ หรือร้องอา
Tips & Tricks
การร้องอา ยาวๆ ระหว่างล้างเป็นตัวช่วยให้เด็กกลั้นหายใจแบบง่าย และช่วยป้องกันอาการสำลักระหว่างล้างได้อีกด้วย
5. บีบขวดล้างจมูกเบาๆ ให้น้ำเกลือไหลเข้าไปในจมูกช้าๆ โดยไม่จำเป็นต้องบีบให้น้ำไหลแรง กลั้นหายใจไว้จนกว่าน้ำเกลือส่วนใหญ่จะไหลออกจากจมูกอีกข้างหรือออกทางปาก ถ้าผู้ปกครองล้างจมูกให้เด็กเล็ก ให้กะจังหวะบีบน้ำเกลือในช่วงที่เด็กเปล่งเสียงร้องไห้หรือกำลังหายใจออก
6. หลังจากล้างจมูกเสร็จ อาจสั่งน้ำมูกที่ค้างอยู่เบาๆ ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ (ทำหรือไม่ทำก็ได้) ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ หรือบีบจมูกขณะสั่งน้ำมูก เพราะอาจทำให้เกิดอาการหูอื้อหรือปวดหูได้
7. ล้างจมูกอีกข้างด้วยขั้นตอนแบบเดียวกัน โดยอาจล้างสลับข้างไปมาได้ แนะนำว่าให้ล้างจนกว่าจะรู้สึกว่าจมูกโล่ง หรือจนกว่าเมื่อน้ำเกลือที่ไหลออกมาจากจมูกหรือปากเหมือนน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปในโพรงจมูก
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการล้างจมูก
Q: เวลาสบายดีหรือไม่มีน้ำมูก ล้างจมูกได้หรือไม่
A: เราสามารถล้างจมูกได้ทุกวัน วันละครั้ง ในช่วงที่เราสบายดีได้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจหรือเพื่อช่วยควบคุมอาการของโรคภูมิแพ้จมูก
Q: ถ้าเลือดกำเดาไหลอยู่ หรือขณะหูอักเสบติดเชื้อ ล้างจมูกได้หรือไม่
A: แนะนำว่าควรหยุดล้างจมูก จนกว่าเลือดกำเดาจะไหลน้อยลง หรือหายจากอาการหูอักเสบติดเชื้อ
Q:ต้องใช้น้ำเกลืออุ่นๆ ในการล้างจมูกหรือไม่
A: เราอาจใช้น้ำเกลือที่ตั้งไว้ที่อุณหภูมิห้องหรือน้ำเกลืออุ่นสำหรับล้างจมูกก็ได้ การใช้น้ำเกลืออุ่นมีข้อดีคือช่วยทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวมได้ดี ทำโดยการอุ่นน้ำเกลือให้มีอุณหภูมิประมาณ 35-37 องศาเซลเซียส ซึ่งพอเหมาะกับเยื่อบุจมูก หรือจะอุ่นน้ำเกลือโดยใช้ไมโครเวฟก็ได้เช่นกัน ก่อนทำการล้างจมูก ควรทดลองอุณหภูมิของน้ำเกลือก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าอุณหภูมิไม่ร้อนเกินไป โดยทดลองเอาน้ำเกลือแตะที่หลังมือ ไม่ควรใช้น้ำเกลือเย็นในการล้างจมูกเนื่องจากอาจทำให้ยิ่งคัดจมูกจากการที่เยื่อจมูกบวม
เคล็ดลับเหล่านี้ไม่ได้ใช้กับเด็ก ๆ แล้วได้ผลเท่านั้นนะคะ ผู้ใหญ่อย่างเราเองก็สามารถทำตามวิธีนี้ได้ค่ะ ถ้าการล้างจมูกครั้งแรกของลูกน้อยเป็นไปด้วยดี ครั้งถัดไปก็ไม่มีอะไรน่ากังวล และลูกน้อยก็จะให้ความร่วมแต่โดยดีเลยค่ะ
บทความโดย : ผศ. ดร.พญ. นริศรา สุรทานต์นนท์ หน่วยภูมิแพ้ อิมมูนวิทยาและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
บทความแนะนำ