คุณแม่รีวิวประสบการณ์ เจาะน้ำคร่ำ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

เจาะน้ำคร่ำ เจ็บไหม? น่ากลัวไหม? คุณแม่ที่กังวลเกี่ยวกับการเจาะน้ำคร่ำ มาอ่านรีวิวจากแม่ๆ ที่ผ่านการเจาะน้ำคร่ำมาแล้วกันก่อน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เจาะน้ำคร่ำ เป็นวิธีหนึ่งในการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม ซึ่งคุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปในวันกำหนดคลอด ตรวจเพื่อหาความเสี่ยงของโรคที่จะเกิดขึ้นกับทารกเนื่องจากคุณแม่ตั้งท้องตอนอายุมาก

เนื่องจากหากคุณแม่ตั้งท้องตอนอายุมาก ลูกในท้องจะมีความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรมเพิ่มขึ้น โดยเว็บไซต์ haamor.com ได้แบ่งเกณฑ์อายุไว้ดังนี้

 

ความเสี่ยงต่อการเกิดดาวน์ซินโดรม ในคุณแม่แต่ละช่วงอายุ

  • แม่ที่อายุ 25 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 1,250 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (0.08%)
  • แม่ที่อายุ 30 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 1,000 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (0.1%)
  • แม่ที่อายุ 35 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 400 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (0.25%)
  • แม่ที่อายุ 40 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 100 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (1%)
  • แม่ที่อายุ 45 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 30 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (3.3%)

คุณแม่จะเห็นว่า ความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นเด็กดาวน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อคุณแม่ตั้งท้องตอนอายุ 35 ปีขึ้นไป จึงเป็นเหตุผลที่คุณแม่ควรได้รับการตรวจคัดกรองดาวน์ซิมโดรมขณะตั้งครรภ์

 

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร?

การเจาะน้ำคร่ำ คือ การเก็บตัวอย่างน้ำคร่ำในช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ ส่งไปห้องแล็บเพื่อตรวจหาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับทารก เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรม ความผิดปกติทางโครโมโซม ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเจาะน้ำคร่ำ แม้จะเป็นวิธีการที่ปลอดภัยต่อคุณแม่และลูกน้อย แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณา ได้แก่

  • ความแม่นยำ : การตรวจน้ำคร่ำมีความแม่นยำประมาณ 99.4%
  • การแท้ง : การเจาะน้ำคร่ำมีโอกาสทำให้แท้งบุตร ประมาณ 1:200 ถึง 400
  • การติดเชื้อ : การเจาะน้ำคร่ำมีโอกาสติดเชื้อ เกิดแผลที่ตัวเด็กหรือตัวคุณแม่ หรืออาจทำให้คลอดก่อนกำหนด แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก 

จากความเสี่ยงดังกล่าว คุณแม่ที่ตัดสินใจเจาะน้ำคร่ำจึงมีความกังวลว่าลูกในท้องจะปลอดภัยหรือไม่ คุณหมอจะเจาะพลาดไปโดนตัวเด็ก ทำให้แท้งลูกหรือไม่ theAsianparent ได้ขอให้คุณแม่ผู้ติดตามเพจของเรารีวิวประสบการณ์การเจาะน้ำคร่ำ ว่าการเจาะน้ำคร่ำน่ากลัวจริงไหม? เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคุณแม่ๆ ที่กำลังตัดสินใจว่าจะเจาะน้ำคร่ำดีหรือไม่ 

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

นอกจากนี้เรายังได้พูดคุยกับคุณแม่บิว วัลลียา พุทธิกานนท์ ที่เพิ่งผ่านประสบการณ์เจาะน้ำคร่ำไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คุณแม่ได้แชร์ให้เราฟังว่า การเจาะน้ำคร่ำ นั้นไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

 

คุณแม่รีวิวประสบการณ์ เจาะน้ำคร่ำ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

เหตุผลที่คุณแม่ต้องเจาะน้ำคร่ำ?

คุณแม่บิวเล่าว่า คุณแม่ตั้งท้องตอนอายุ 37 ปี ทางโรงพยาบาลจึงแนะนำให้คุณแม่เจาะน้ำคร่ำ เพราะมีความเสี่ยงที่น้องจะเป็นดาวน์ซินโดรมเนื่องจากอายุของแม่ที่เยอะ โดยท้องนี้เป็นท้องที่ 3 ค่ะ สองท้องแรกคุณแม่ไม่ได้เจาะน้ำคร่ำเนื่องจากตอนนั้นอายุคุณแม่ยังไม่เยอะ 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ขั้นตอนการเตรียมตัว เจาะน้ำคร่ำ

กำหนดเจาะน้ำคร่ำวันที่ 19 มีนาคม ตอนนั้นอายุครรภ์ 18+1 สัปดาห์ หรือ 4 เดือนกับ 2 สัปดาห์ ซึ่งอยู่ในช่วงที่สามารถทำได้คือ ในอยู่ช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ โดยก่อนที่เราจะเจาะ คุณหมอให้เอกสารในการเตรียมตัวว่า เราต้องปฎิบัติตัวอย่างไรก่อนเจาะและหลังเจาะ พักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนเจาะกินข้าวดื่มน้ำทานยาปกติ ดูแลตัวเองให้ดี ไม่ให้เป็นหวัด ไอ หรือไม่สบาย ถ้าในวันเจาะเราไม่สบายก็จะไม่สามารถเจาะได้ค่ะ

คุณหมอได้แจ้งว่า การเจาะน้ำคร่ำมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เหมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน 

  • ข้อดี คือ เราจะได้รู้ว่าลูกเราจะเป็นเด็กดาวน์ไหม? รวมถึงโรคเกี่ยวกับการเป็นดาวน์ เราจะได้รู้เพศของลูกจากผลของการเจาะน้ำคร่ำด้วย 
  • ข้อเสีย คือ การเจาะอาจะมีโอกาสเสี่ยงให้เราแท้งลูกได้ ทำให้คุณแม่ค่อนข้างเครียดและก็กังวลพอสมควรค่ะ กลัวว่าจะแท้งไหม? จะเจ็บมากไหม? จะไปทำงานได้ไหม? กังวลหลายอย่างเลยค่ะ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

รีวิว ประสบการณ์เจาะน้ำคร่ำ มีขั้นตอนอะไรบ้าง บรรยากาศในห้องเป็นยังไง?

ในวันนัดเจาะน้ำคร่ำ เมื่อคุณแม่ไปถึงโรงพยาบาล คุณพยาบาลจะให้เราไปชั่งน้ำหนัก วัดความดัน ซักประวัติเบื้องต้น จากนั้นให้เราไปเปลี่ยนเสื้อผ้า และก็รอพบหมอ จากนั้นคุณหมอก็ให้คุณแม่และคุณพ่อเข้าไปเพื่อทำความเข้าใจในการเจาะน้ำคร่ำ อธิบายให้เราฟังถึงข้อดีข้อเสียในการเจาะรวมไปถึงผลที่จะตามมาและตัดสินใจอีกครั้งว่าเราจะเจาะน้ำคร่ำไหม?

เมื่อเข้าไปในห้องก็จะมีเครื่องอัลตราซาวด์ มีคุณหมอและคุณพยาบาลอีก 2 คน คุณหมอก็ให้เราขึ้นไปนอนบนเตียง และทำการอัลตราซาวด์ดูลูกในท้องอย่างละเอียด เพื่อหาตำแหน่งทารก และตำแหน่งที่จะเจาะ เมื่อได้ตำแหน่งที่จะเจาะแล้วคุณหมอและพยาบาลเตรียมเข็ม ยาฆ่าเชื้อ หลอดแก้วที่ไว้เก็บน้ำคร่ำน่าจะ 3 หลอดนะคะ ก่อนเจาะคุณหมอก็จะทำการทายาฆ่าเชื้อบริเวณหน้าท้องเราให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นก็ใช้เครื่องอัลตราซาวด์เพื่อดูทารกว่าอยู่ตำแหน่งไหน เพื่อว่าเวลาเจาะลงไปจะได้ไม่โดนทารกในครรภ์ค่ะ

ระหว่างเจาะเค้าจะมีจอให้เราดูตลอด เราจะเห็นเด็กในครรภ์รวมถึงเข็มในการเจาะเข้าไปเพื่อดูดน้ำคร่ำออกมา เราจะเห็นทุกขั้นตอนในการเจาะเลยค่ะ

ความรู้สึกตอนทำ เจ็บไหมกลัวไหม ก็เจ็บนะคะ ความรู้สึกเหมือนเวลาโดนเจาะเลือดค่ะ พอเข็มแทงเข้าไปเราก็จะรู้สึกหน่วงๆ หน่อยค่ะ ก่อนเจาะก็กลัวเหมือนกัน ใช้เวลาไม่นานเท่าไหร่นะคะ เจาะไม่เกิน 5-10 นาทีค่ะ 

 

การปฏิบัติตัวหลังเจาะน้ำคร่ำ

คุณหมอแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนเยอะๆ นอนเยอะๆ ไม่ให้ยกของหนัก ไม่ให้กระแทกหรือมีเซ็กส์ 7 วัน  และให้เราพักผ่อนหยุดงาน 3 วัน โดยช่วงที่เจาะแรกๆ ก็จะมีอาการหน่วงท้องน้อยหรือปวดหน่วงๆ อยู่ 2-3 วันแรกค่ะ

 

ฟังผลหลังจากเจาะนานแค่ไหน?

ทางโรงพยาบาลโทรมาแจ้งผลเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาค่ะ ผลปกติ ลูกไม่เป็นดาวน์ซินโดรม พร้อมแจ้งเพศของลูกให้ทราบ คุณแม่ตื่นเต้นและโล่งมากเลยค่ะ

 

ฝากถึงแม่ๆ ที่กำลังตัดสินใจว่าจะตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมหรือไม่

แม่ๆ คนไหนที่กำลังตัดสินใจในการเจาะน้ำคร่ำนะคะ คุณแม่ตัดสินใจที่จะเจาะเป็นความคิดที่ถูกต้องแล้วค่ะ เราจะได้รู้ว่าเป็นหรือไม่เป็น เป็นผลที่ชัวร์ คุณแม่ที่กังวลและกลัวอยู่ ขอให้แม่อย่ากลัวเลยค่ะ เพราะคุณหมอดูแลดีและเราได้เห็นทุกขั้นตอนในการเจาะ เจ็บนิดเดียว เพื่อความสบายใจด้วยค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ขอขอบคุณคุณแม่บิว วัลลียา พุทธิกานนท์ ที่มารีวิวขั้นตอนการเจาะน้ำคร่ำอย่างละเอียด ให้แม่ๆ ได้เห็นว่าขั้นตอนการเจาะน้ำคร่ำมีอะไรบ้าง และบรรยากาศในห้องนั้นไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณแม่คลายกังวลเกี่ยวกับการเจาะน้ำคร่ำลงได้ไม่มากก็น้อยนะคะ นอกจากนี้คุณแม่ในโซเชียลมีเดียยังแนะนำว่าให้ดูที่จอมอนิเตอร์เอาไว้ เราจะเห็นว่าเข็มเจาะลงไปบริเวณไหน เมื่อได้เห็นว่าเข็มไม่โดนตัวลูกน้อย คุณแม่ก็จะสบายใจยิ่งขึ้นค่ะ

 

ที่มา : webmd.com , haamor.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

น้ำคร่ำแห้ง ระวังลูกตายไม่ก็พิการ จะป้องกันอย่างไรไม่ให้น้ำคร่ำแห้ง

ตารางน้ำหนักและขนาดของทารกในครรภ์ ที่จะบอกว่าลูกในท้องแข็งแรงดีแค่ไหน