คุณแม่อาจเคยได้ยินว่า คนท้องต้องระวังภาวะความดันโลหิตสูง แล้วคุณแม่เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำล่ะ ไขข้อสงสัยคุณเเม่ความดันต่ำขณะตั้งครรภ์ อันตรายหรือไม่?
ความดันต่ำคืออะไร
ภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือ Hypotension คือภาวะที่ค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/50 มิลลิเมตรปรอท หากความดันโลหิตต่ำไม่มาก มักไม่ก่ออาการ แต่ถ้าความดันโลหิตต่ำมากๆ จะส่งผลเลือดไหลเวียนได้ช้าลง ทำให้เลือดอาจไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายไม่เพียงพอ บางรายเกิดลิ่มเลือด หลอดเลือดอุดตัน หลอดเลือดฝอยส่วนปลายขาดเลือดไปเลี้ยง เป็นต้น
ความดันโลหิตต่ําเกิดจากอะไร
มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะความดันต่ำ เช่น อาจเกิดจากปริมาณเลือดในร่างกายลดลง เนื่องจากขาดน้ำ หรือเสียเลือดจำนวนมาก ภาวะโลหิตจาง ภาวะติดเชื้อรุนแรง หรือมีการขยายตัวของหลอดเลือดมากเกินไป การใช้ยาบางอย่าง โรคหัวใจ รวมถึงการตั้งครรภ์ด้วย
ความดันโลหิตต่ำมีอาการอย่างไร
วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม ตาลาย คลื่นไส้ อาจอาเจียน มือ เท้าเย็น เหงื่อออกมาก ชีพจรเบา เต้นเร็ว หายใจเร็ว เหนื่อยกระหายน้ำ ตัวแห้ง ปัสสาวะน้อย เมื่อเกิดจากภาวะขาดน้ำ บางคนอาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เมื่อเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ อาจมีผื่นแดงขึ้นตามตัว หน้า ตัวบวม เมื่อเกิดจากการแพ้สิ่งต่างๆ อาจชักหมดสติ เมื่อความดันโลหิตต่ำมาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ความดันสูงความดันต่ำของคนท้อง มีอาการและวิธีการรักษาแตกต่างกันอย่างไร
ความดันต่ำระหว่างตั้งครรภ์
ในช่วงตั้งครรภ์ สามารถเกิดความดันโลหิตต่ำได้ โดยมักเกิดในระยะ 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายต้องเพิ่มเลือดไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ การไหลเวียนโลหิต หรือปริมาตรเลือดของคุณแม่จึงลดลง ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำได้ แต่ร่างกายคุณแม่มักปรับตัวได้เองเสมอเมื่อมีสุขภาพแข็งแรง
ภาวะความดันโลหิตต่ำ ในระหว่างตั้งครรภ์นั้นเกิดขึ้นได้ โดยแพทย์จะวินิจฉัยว่ามีภาวะนี้ หากมีความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตตัวล่างต่ำกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมักไม่เป็นอันตรายต่อคนท้อง แต่หากความดันโลหิตต่ำมาก ๆ ก็อาจส่งผลกระทบและเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
ความดันต่ำระหว่างตั้งครรภ์อันตรายหรือไม่
การตั้งครรภ์ส่งผลโดยตรงต่อระดับความดันโลหิตของผู้หญิง เพราะร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวจะทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง เป็นสาเหตุให้เกิดความดันโลหิตต่ำ โดยเฉพาะในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 คนท้องจึงมักมีอาการหน้ามืดหรือเป็นลม เมื่อยืนนาน ๆ และลุกจากท่านั่งหรือท่านอนเร็วเกินไปในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ ระดับความดันโลหิตของคุณแม่ยังบ่งบอกถึงสุขภาพของตัวเองและลูกในท้อง โดยระดับความดันโลหิตที่สูงเกินไปอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ ส่วนความดันโลหิตที่ต่ำเกินไปก็อาจเป็นสัญญาณของการท้องนอกมดลูก ซึ่งอันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก ในรายที่มีความดันโลหิตผิดปกติอย่างรุนแรงอาจทำให้แม่และเด็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
หากคุณแม่ตรวจพบว่ามีภาวะความดันโลหิตต่ำ แต่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ถือว่าปกติ ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยปกติแล้วความดันต่ำไม่น่ากังวล ในทางตรงกันข้าม ควรระวังไม่ให้ความดันสูงมากกว่า เนื่องจากจะส่งผลให้ครรภ์เป็นพิษและคลอดก่อนกำหนดได้
แต่หากคุณแม่มีอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หัวใจเต้นผิดปกติ การมองเห็นผิดปกติ คลื่นไส้ ผิวซีดเย็น หายใจหอบตื้น อ่อนเพลีย ซึมลง อย่านิ่งนอนใจนะคะ ควรรีบปรึกษาแพทย์
ภาวะความดันโลหิตต่ำขณะตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อคุณแม่ได้ดังนี้
- วิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะเวลาลุกหรือนั่ง
- เป็นลม
- ไม่มีสมาธิ
- รู้สึกเหนื่อย
- คลื่นไส้
- มองเห็นไม่ชัด
- กระหายน้ำผิดปกติ
- หายใจเร็ว หรือหายใจตื้น
- ผิวหนังซีดเย็น
นอกจากนี้ ภาวะความดันโลหิตต่ำที่รุนแรงอาจทำให้คุณแม่รู้สึกวิงเวียนและเสี่ยงหกล้ม ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทารก รวมทั้งอาจส่งผลให้อวัยวะในร่างกายเกิดความเสียหาย มีอาการช็อก และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น หากคุณแม่มีอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อความดันโลหิตต่ำ
- พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าการทำงานหนักเกินไป อย่านอนดึก
- หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ และระมัดระวังในการเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ปลี่ยนท่าเร็วเกินไป
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยให้ระบบประสาทเกิดความสมดุลยิ่งขึ้น
- ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ หากผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จะทำให้ความดันต่ำลงไปอีก
- เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยา และหากไปพบคุณหมอ ควรแจ้งว่ามีอาการความดันต่ำ เพื่อให้คุณหมอเลี่ยงยาที่อาจมีผลให้ความดันต่ำลงไปอีก
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
เมื่อไรควรไปพบแพทย์ ?
ภาวะความดันโลหิตต่ำเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ หากเกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อทั้งตัวเองและทารกในครรภ์จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- การมองเห็นผิดปกติ
- แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรงหรือชา
ที่มา : 1
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ตั้งครรภ์ แต่เป็นความดันโลหิตสูง ลูกอาจตัวเล็กกว่าปกติ!!
น้ำคร่ำน้อย ส่งผลร้ายต่อทารกในครรภ์