อาการน้ำคร่ำรั่ว หากคุณแม่ท้องมีอาการผิดปกติใด ๆ แม้แต่นิดเดียว อย่าลืมรีบหาหมอให้ไวที่สุด เพราะนั่นอาจะเป็นสัญญาณของถุงน้ำคร่ำรั่วก็เป็นได้ ก่อนที่จะเล่าเรื่องราวของคุณแม่ ต้องขอแจ้งให้ทราบก่อนนะคะว่า ตอนนี้คุณแม่ Mo Mcry ได้คลอดลูกสาวที่น่ารักแล้วชื่อว่า “น้องอลิน” ซึ่งเป็นการคลอดน้องก่อนกำหนด เนื่องจากคุณแม่มีปัญหาเกี่ยวกับ ถุงน้ำคร่ำรั่ว อาการและสาเหตุเกิดจากอะไรไปดูกันเลยค่ะ
คุณแม่ Mo Wcry เล่าว่า คุณแม่ขับขี่มอเตอร์ไซด์เป็นประจำ ตั้งแต่ท้องได้แรก ๆ จนรู้สึกว่ามีน้ำไหลคล้ายปัสสาวะออกมา ซึ่งน้ำดังกล่าวนั้น ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไหลออกมาจากทางอวัยวเพศ สัปดาห์นึงไหลประมาณ 2 – 3 ครั้ง แต่เป็นการไหลในปริมาณที่ไม่มาก น้ำคร่ำรั่วตกขาว ไม่เหมือนกัน
คุณแม่ได้แจ้งไปยังหมอที่ฝากครรภ์ หมอได้ทำการตรวจภายในให้ แล้วบอกว่าไม่มีอะไรต้องน่าเป็นกังวล เป็นตกขาวจึงให้ยาสอดมา คุณแม่พยายามอธิบายกับหมอว่า ไม่ใช่ตกขาว หมอก็ยังคงยืนยันว่า มันเป็นตกขาว!!
จนเข้าเดือนที่ 8 หรือสัปดาห์ที่ 34 คุณแม่มีอาการท้องแข็งตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้า โดยมีน้ำใส ๆ ซึมออกมาตลอดเวลาเลยรีบโทรถามหมอที่ฝากครรภ์ หมอก็ยังคงบอกว่า ไม่เป็นไร แค่เด็กโก่งตัว ไม่ต้องมาหาหมอหรอก แต่ด้วยความไม่สบายใจ จึงตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอให้อัลตร้าซาวด์ปรากฏว่า “น้ำคร่ำน้อย ถุงน้ำคร่ำรั่ว” จึงให้นอนแอทมิททันที!!
ตลอดทั้งคืนนั้นท้องของคุณแม่แข็งมาก ปัสสาวะออกมามีสีเข้ม หมอจึงฉีดยาขยายปอดเด็ก เตรียมผ่าน้องออกก่อนกำหนด เพราะน้ำคร่ำนั้นน้อยมาก และน้องจะอยู่ข้างในต่อไปอีกไม่ได้แล้ว หมอจึงผ่าคลอดด้วยวิธีการโปะยาสลบ น้องอริน ออกด้วยน้ำหนักตัว 1,900 กรัม สุขภาพแข็งแรงดีมาก ๆ และไม่ต้องอยู่ในตู้อบเลย
คุณแม่บอกว่า “ระหว่างท้องคุณแม่ไม่เคยแพ้ ไม่ได้บำรุงอะไรมากมาย ยาบำรุงก็ไม่ได้ทาน กินทุกอย่างตามใจปาก แต่ที่ต้องการเล่าสู่กันฟังนั้น เป็นเพราะว่าอยากให้คุณแม่ท้องที่มีอาการผิดปกติหรืออาการคล้ายกัน อย่านิ่งเฉย ถ้าหากมีอาการผิดปกติอะไร ให้รีบหาหมอดีที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้เราไม่มีทางรู้เลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับลูกของเราหรือเปล่า”
ขอขอบคุณเรื่องราวจากคุณแม่ Mo Wcry และ เพจคนท้องคุยกัน
ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บท้องคลอด น้ําคร่ำรั่ว คืออะไร ?
หากถึงกำหนดคลอด ถุงน้ำคร่ำจะแตกออก และน้ำคร่ำจะไหลออกทางช่องคลอด การเกิดเหตุการณ์นี้เราเรียกว่า น้ำเดิน หรือ SROM ซึ่งคุณแม่จะมีเวลาพอที่จะโทรศัพท์ไปหาแพทย์ หรือเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งหากทารกคลอดในเวลานี้ ก็จะถือว่าเป็นการคลอดที่ปกติสมบูรณ์แบบ แต่หากน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกตั้งแต่สัปดาห์ที่ 37 หรือ 38 เราจะเรียกว่า ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บท้องคลอด หรือ PROM ซึ่งปริมาณน้ำคร่ำที่ออกมาจะมากหรือน้อยก็ได้
น้ำคร่ำโดยปกติจะมีสีใส แต่บางครั้งก็อาจมีเลือดปะปนทำให้เห็นเป็นสีชมพู สีเขียว หรือสีน้ำตาล เราสามารถสังเกตความแตกต่างระหว่างน้ำคร่ำ และน้ำปัสสาวะได้ เพราะน้ำคร่ำจะไหลต่อเนื่องโดยเราไม่สามารถควบคุมให้หยุดได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นอาการปัสสาวะรั่ว หรือถุงน้ำคร่ำแตก น้ําคร่ำรั่ว ?
หากพบว่ามีของเหลวไหลออกทางช่องคลอด คุณแม่ต้องสังเกตที่ความต่อเนื่องของการไหลเป็นหลัก ซึ่งหากเป็นน้ำคร่ำคุณแม่จะไม่สามารถควบคุมการหยุดได้ ซึ่งแตกต่างจากน้ำปัสสาวะ คือสามารถบังคับให้หยุดไหลได้
เมื่อแน่ใจว่าของเหลวที่ไหลออกมาเป็นน้ำคร่ำ ให้ใช้ผ้าอนามัยใส่ที่กางเกงใน และเมื่อผ้าอนามัยซับน้ำจนชุ่มก็ต้องเอาออกเพื่อตรวจสอบสี และกลิ่นของน้ำคร่ำ หากเป็นน้ำคร่ำ มันจะใสไม่มีสี และมีกลิ่นหอม ซึ่งหากตรวจดูแล้วว่าเป็นน้ำคร่ำจริงก็ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อเตรียมการ คลอดทันที น้ำคร่ำที่ไหลออกมาอาจทำให้คุณแม่และทารกมีโอกาสติดเชื้อได้
อะไรคือสาเหตุของถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บท้องคลอด ?
การแตกของถุงน้ำคร่ำก่อนเจ็บท้องคลอดอาจเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันดังนี้
- มารดาเคยมีประวัติถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บท้องคลอดมาก่อน
- การติดเชื้อในช่องคลอด มดลูกหรือปากมดลูก
- การสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์
- แรงตึงมากเกินไปที่ผนังถุงน้ำคร่ำในกรณีทารกแฝดหรือทารกตัวใหญ่
- เคยผ่าตัดมดลูกหรือปากมดลูกมาก่อน
- พฤติกรรมที่ไม่เหมาะระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ดื่มสุรา ยาเสพติด หรือการขาดสารอาหาร
ที่มา: เพจคนท้องคุยกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
น้ำเดินหรือปัสสาวะเล็ดกันแน่ สัญญาณคลอดที่แม่ท้องต้องสังเกต
คุณแม่แชร์ประสบการณ์ ท้องแข็งบ่อยระวังคลอดก่อนกำหนด