หนึ่งในพัฒนาการของเด็กทารกที่พ่อแม่ ผู้ปกครองทุกคนอยากเห็น และตั้งหน้าตั้งตารอก็คือการคลาน เพราะมันเธอเป็นพัฒนาการ ขั้นต้นเริ่มแรกสุด ที่จะนำไปสู่พัฒนาการ ขั้นต่อไปได้ แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เกิดขึ้นกับครอบครัวคุณ ทำไมลูกไม่ยอมคลาน เขามีพัฒนาการช้ารึเปล่า หรือว่านี่คือเรื่องปกติ วันนี้เราจะมาตอบคำถามที่คุณกำลังสงสัยกัน
ความสำคัญของการคลาน
การคลานเป็นพัฒนาการด้านร่างกายที่สำคัญของทารก เพราะเป็นพื้นฐานสู่ขั้นต่อไปก็คือ การเดินซึ่งสำหรับการคลานนั้น กล้ามเนื้อแขน และขาจะต้องเคลื่อนไหวอย่างสัมพันธ์กัน การคลานจะช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้เรื่องการควบคุมตัวเอง เพื่อให้เกิดพัฒนาการไปตามวัย รวมไปถึงการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเรียนรู้คำสั่งของพ่อแม่ และเมื่อลูกคลานได้ นั่นหมายความว่า ประสาทสัมผัสทั้งห้าจะทำงานสัมพันธ์กับสมองซึ่งแน่นอนว่า จะส่งผลดีต่อพัฒนาการ ทางร่างกายของลูก อย่างไรก็ดีพบว่าเด็กจำนวนมาก อาจมีพัฒนาการข้ามขั้น โดยลูกไม่ยอมคลานแต่เกาะยืน และเดินได้เลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กคลาน ลูกคลานกี่เดือน สังเกตยังไงเมื่อลูกน้อยใกล้จะคลานได้แล้ว
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
6 เหตุผล ทำไมลูกไม่ยอมคลาน
ปัจจัยที่ทำให้ลูกน้อยไม่ยอมคลานมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งจากปัญหาพัฒนาการของทารก หรือรูปแบบการเลี้ยงดูทารก ทุกอย่างสามารถส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยได้ทั้งนั้น ได้แก่
1. พัฒนาการก้าวกระโดด
เด็กส่วนใหญ่ จะเริ่มคืบคลานได้เมื่ออายุ 6-7 เดือน อย่างไรก็ดี พัฒนาการของเด็ก แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเร็ว บางคนอาจจะช้าหน่อย เริ่มคืบคลานได้ตอน 10 เดือนขึ้นไป หรืออาจพัฒนาการข้ามขั้น
ลูกไม่คลาน แต่ลุกขึ้นเกาะยืน เกาะเดิน ตั้งไข่ จนเดินได้เอง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ถ้าลูกทำได้ช้ากว่าเกณฑ์มาก แนะนำให้ไปปรึกษาคุณหมอค่ะ โดยเกณฑ์ที่ส่งสัญญาณว่าอาจไม่ปกติ มีดังนี้
- อายุ 6 เดือน ลูกยังไม่พลิกตัว
- ทารกอายุ 10 เดือน เวลาจับนั่งลูกไม่สามารถทรงตัวได้เองเลย
- อายุ 12 เดือน ลูกไม่เหนี่ยวตัวเกาะยืน
- อายุ 18 เดือน ลูกไม่ตั้งไข่หรือเดินเอง
2. พ่อแม่อุ้มลูกตลอด
กลัวโน่นกลัวนี่ กลัวลูกสกปรก กลัวลูกทำพื้นเลอะเทอะ ฯลฯ ไม่ปล่อยวางให้เล่นกับพื้น ลูกก็มักคลานช้า เพราะกล้ามเนื้อแขนขา ของลูกไม่มีโอกาสได้ขยับเคลื่อนไหว ควรปล่อยให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระกับพื้น สร้างให้ลูกเกิดประสบการณ์ ในการใช้กล้ามเนื้อส่วนแขนขา โดยกระตุ้นเด็กให้คลานด้วย การหาของเล่นสีสันสดใส มีเสียงหรือเคลื่อนไหวได้ วางล่อในระยะใกล้ ๆ และค่อย ๆ ไกลออกไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกคลานช้า คลานถอยหลังผิดปกติไหม ท่าคลานเด็กมีแบบไหนบ้าง?
3. การวางลูกกับเบาะ หรือที่นอนที่นุ่มเกินไป
ทำให้ลูกลื่นคลานไม่ถนัด ควรหาเบาะที่มีความแข็งพอดี ๆ สามารถรองรับการกระแทกได้ แต่ก็ไม่แข็ง หรือนิ่มจนเกินไป เช่น แผ่นรองคลานสีสันสดใส ลวดลายต่าง ๆ เป็นตัวอักษร หรือตัวเลข เป็นต้น
4. พ่อแม่ไม่ค่อยเล่นกับลูก
เพราะมัวแต่ทำงาน ซึ่งน่าเสียดายมาก เพราะความจริงแล้วเด็ก ๆ อยากแสดง พัฒนาการใหม่ ๆ ต่อหน้าผู้ปกครอง พ่อแม่จึงเป็นกำลังใจสำคัญ ที่จะกระตุ้นให้ลูกคลานได้ด้วยการฝึกให้คืบ โดยจับคว่ำ แล้วใช้มือดันขาลูกทีละข้างช้า ๆ แต่ทั้งนี้ก็ควรทำให้บรรยากาศ ในการฝึกคลานเป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่เครียด ไม่บังคับ ค่อยเป็นค่อยไปวันละนิด เป็นการเล่นไปด้วยฝึกคลานไปด้วย และคอยชื่นชมด้วยคำพูด ส่งเสียงเชียร์ ทำท่าทางดีอกดีใจ หรือปรบมือ เมื่อลูกเริ่มทำได้ด้วยค่ะ
5. สิ่งแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริม
ปัญหาการจัดพื้นที่สำหรับการเลี้ยงดูทารกสามารถส่งผลต่อการคลานได้เช่นกัน หากพื้นที่มีขนาดไม่เพียงพอต่อการเคลื่อนไหว เช่น บริเวณตัวบ้านไม่มีพื้นที่ให้ทารกคลาน หรืออาจเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกต เช่น เด็กมีอาการป่วยหรือไม่ หรือขาของเด็กมีความผิดปกติ แตกต่างจากเด็กทั่วไปหรือไม่ เป็นต้น
6. น้ำหนักของเด็กที่มากเกินไป
น้ำหนักของทารกที่มีมากเกินกว่าเกณฑ์ สามารถส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเด็กทารกได้เช่นกัน จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา เผยแพร่ในวารสาร Pediatrics พบว่าเด็กที่มีน้ำหนักมากจะทำให้เคลื่อนไหวล่าช้า หรือทำให้นั่งต่อเนื่องได้ไม่เกิน 30 วินาที
นอกจากนี้ เมื่อไรที่ลูกเริ่มคืบคลาน อย่าลืมว่าสิ่งที่พ่อแม่ จำเป็นต้องใส่ใจให้มากก็คือ ความปลอดภัยในบ้าน เพื่อป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
8 กิจกรรมสนุกกระตุ้นพัฒนาการลูกวัยคลานให้ ลูกฉลาดสมวัย
10 แผ่นรองคลาน ยี่ห้อไหนดี อัปเดตปี 2023 ราคาจับต้องได้
สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกวัยคลานจะกลายเป็นเด็กชอบเอาแต่ใจ
ที่มา : zerotothree, sukumvithospital