เข้าใจช่วงรับรู้ไวและส่งเสริม ให้ลูกมี พัฒนาการด้านภาษา ที่ดีได้อย่างไร

พัฒนาการด้านภาษา เป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่มักเฝ้าคอยสังเกตอย่างใจจดจ่อว่าลูกน้อยของเราจะมี พัฒนาการด้านภาษา ที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ สมวัยหรือไม่

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

พัฒนาการด้านภาษา เป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่มักเฝ้าคอยสังเกตอย่างใจจดจ่อว่าลูกน้อยของเราจะมี พัฒนาการด้านภาษา ที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ สมวัยหรือไม่ ตั้งแต่ลูกเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ ไปจนถึงเมื่อเรียกคุณพ่อคุณแม่ได้จนปลื้มอกปลื้มใจไปทั้งบ้าน คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะยังคงคอยกังวลเสมอว่า ได้สนับสนุนลูกได้เพียงพอหรือไม่ หรือถ้าลูกเราพูดช้า เมื่อไรถึงจะช้าเกินไปจนควรต้องปรึกษาหมอด้านพัฒนาการ

 

แม่แหม่มเองก็เป็นหนึ่งในแม่ขี้กังวลค่ะ เพราะที่บ้านเลี้ยงหลายภาษา พอลูกเริ่มพูดค่อนข้างช้า เน้นส่งภาษาต่างดาวมากกว่าพูดเป็นคำๆ ที่พอจับความหมายได้รู้เรื่อง เราก็เริ่มสงสัยในตัวเองว่า เราเริ่มหลายภาษาเร็วไปหรือเปล่า หรือเราพูดคุยกระตุ้นและมีปฏิสัมพันธ์กับเค้ามากเพียงพอที่ลูกจะซึมซับคำศัพท์และการใช้ภาษาได้มากเพียงพอหรือไม่ ลูกของเพื่อนหลายๆ คนเริ่มพูดเป็นประโยคยาวๆ ได้ในขณะที่ลูกเราพูดเป็นคำที่มีความหมายได้เพียงไม่กี่คำ 

 

แต่พอเวลาผ่านไป ลูกเริ่มสื่อสารได้มากขึ้น และตัวเองได้ศึกษาหาบทความเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการทางภาษาของเด็กมามากขึ้น ความกังวลก็ลดน้อยลง วันนี้เลยอยากจะมาแบ่งปันความเข้าใจเรื่องพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่หัวอกเดียวกันที่กำลังอาจอยู่ในช่วงกังวลใจได้มีความเข้าใจมากขึ้น เพื่อที่จะได้รับมือกับลูกน้อยและส่งเสริมเค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดความกังวลใจค่ะ

 

“เด็กแต่ละคนมีจังหวะเวลาของตัวเอง”

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ประโยคนี้เป็นประโยคสุดฮิตในการเลี้ยงลูกที่อยากให้พ่อแม่ได้ท่องไว้เป็นคติประจำใจค่ะ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องพัฒนาการด้านภาษาแต่ปรับใช้ได้เกือบทุกเรื่องเกี่ยวกับลูกน้อย พ่อแม่พึงจำไว้เสมอว่า เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ควรนำไปเปรียบเทียบ อย่าว่าแต่ลูกเรากับลูกเพื่อนซึ่งเลี้ยงดูในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันไป แม่ๆ ของฝาแฝดหลายคู่ ยังสังเกตเห็นความแตกต่างของพัฒนาการในลูกแฝดของตน นั่นเป็นเพราะเด็กแต่ละคนมีจังหวะเวลาของตัวเอง และแม้ในกรณีคู่แฝดที่สิ่งแวดล้อมถือว่าใกล้เคียงมากแล้ว เด็กก็ยังมีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันไปค่ะ 

 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น แฝดคนนึงเคยหกล้มหัวแตกกับอีกคนไม่เคย หรือคนนึงพูดผิดพูดไม่ชัดแล้วถูกล้อเลียน แต่อีกคนพอดีไม่โดน ส่วนนี้ก็จะเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างที่กำหนดพฤติกรรมต่อๆ มาได้โดยไม่คาดคิด ประสบการณ์ต่างๆ หล่อหลอมให้เด็กมีทักษะ และมีความมั่นใจในการทำสิ่งต่างๆ รวมถึงการใช้ภาษาที่แตกต่างกันค่ะ ดังนันการไปเปรียบเทียบกดดันรังแต่จะทำให้เด็กเสียความมั่นใจ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นๆ ให้ลูกไปตามจังหวะของตัวเอง อย่าไปกังวลจนเกินเหตุแล้วไปเร่งรัดลูกนะคะ เด็กหลายคนที่เริ่มต้นพูดช้า พอมาเทียบกันราวสี่ห้าขวบก็แทบหาความแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ ไม่ได้เลย จำไว้ช้าเร็วไม่สำคัญ แต่ให้สังเกตความพร้อมของลูกในด้านต่างๆ และส่งเสริมให้ตรงกับช่วงความพร้อมค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ช่วงที่เด็กพร้อมเต็มที่ต่อพัฒนาการทางภาษาด้านใดด้านหนึ่งหรือที่เรียกว่าช่วงรับรู้ไว (sensitive period) นั้นเป็นช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่เด็กตอบสนองอย่างรุนแรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมีวัตถุประสงค์ เพื่อบรรลุความสามารถบางอย่าง ในด้านวัย ช่วงรับรู้ไว้ต่อเสียงพูด ช่วงรับรู้ไวต่อการสื่อความหมาย ช่วงรับรู้ไวต่อตัวอักษร ก็อาจจะเป็นคนละช่วงอายุกันแต่อาจมีความคาบเกี่ยวซ้อนทับกันบ้างตามจังหวะความสนใจของเด็กแต่ละคน ซึ่งมีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ในการช่วยส่งเสริมลูกน้อยด้านภาษาดังนี้ค่ะ

 

ให้โอกาสฝึกเคลื่อนไหวริมฝีปาก ไม่ห้ามเด็กส่งเสียง ไม่ดุหรือล้อเวลาพูดผิดพลาด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ในวัยก่อนหนึ่งขวบซึ่งเด็กอยู่ในช่วงรับรู้ไวที่อยากลองขยับริมฝีปาก อยากเปล่งเสียง พยามทำความรู้จักกับเสียงของตัวเอง บางเวลาพ่อแม่หลายคนใช้วิธีให้ลูกใช้จุกนมปลอมหรือป้อนขนมเพื่อไม่ให้ส่งเสียงอ้อแอ้รบกวนคนรอบข้าง การทำแบบนี้ตั้งแต่ยังเล็กเป็นอุปสรรคต่อการหัดพูดของลูกน้อย จึงควรปล่อยให้ลูกได้ส่งเสียงและเคลื่อนไหวริมฝีปากอย่างอิสระมากที่สุดเพื่อเตรียมตัวสำหรับพัฒนาการด้านการพูด

 

สำหรับเด็กที่อายุมากขึ้นอีกหน่อยที่เริ่มส่งเสียง เด็กน้อยพยายามจะเชื่อมโยงเสียงคำพูดกับสิ่งรอบตัวและพยายามทำความเข้าใจกับความหมายของเสียงต่างๆ ที่ได้ยิน บางทีคำที่พูด ความหมายอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่หนูน้อยต้องการจะสื่อ หรือวิธีการออกเสียงอาจไม่ชัดเจน สิ่งที่พ่อแม่ช่วยได้คือเป็นตัวอย่างที่ดีในการพูดคำนั้นๆ ให้ชัดเวลาพ่อแม่ใช้คำๆ นั้น และ พูดคุยกับลูกบ่อยๆ เพื่อให้ลูกเข้าใจคำและความหมายจากบริบทการใช้งาน 

 

แต่สิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือการออกเสียงคำให้ผิดตามลูก หัวเราะล้อเลียน ดุว่า หรือแก้ไขซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดซ้ำๆ ทุกครั้งที่ลูกออกเสียงผิด หรือบังคับให้ลูกออกเสียงซ้ำๆ จนกว่าจะถูก เพราะนอกจากจะทำให้ลูกเสียความมั่นใจในการลองพูดลองออกเสียงและฝึกใช้ภาษาแล้ว ยังทำให้ลูกมีทัศนคติที่ไม่ดีกับการใช้ภาษาอีกด้วย

 

พัฒนาภาษาด้วยการใช้ท่าทาง หนังสือภาพ และหนังสือนิทาน

 

ในเด็กเล็ก เด็กเริ่มเรียนรู้ภาษาจากการจับรูปแบบซ้ำๆ ว่าคำนี้มากับสถานการณ์แบบนี้บ่อยๆ หรือของสิ่งนี้บ่อยๆ คำหลายคำที่เป็นนามธรรมจึงเป็นสิ่งที่ยากมากกว่าในการทำความเข้าใจ อย่างไรก็ดี หากพ่อแม่มีความสร้างสรรค์ในการช่วยลูกเรียนรู้ภาษา เด็กก็จะเข้าใจได้ไวขึ้นและมีคลังศัพท์ที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากการพูดคุยปกติในชีวิตประจำวัน การเพิ่มสีหน้าท่าทาง ก็จะช่วยให้เด็กจับอารมณ์ความรู้สึกที่ประกอบมากับความหมายของคำ โดยเฉพาะคำที่เกี่ยวข้องกับการกระทำรูปแบบต่างๆ ได้ดีขึ้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ในเด็กเล็ก หนังสือภาพช่วยขายคลังคำศัพท์อย่างกว้างขวางเพราะหลายอย่างเด็กไม่ได้มีโอกาสเห็นในชีวิตประจำวันได้บ่อยมากเท่า และที่ดีไปกว่านั้นคือเมื่อเด็กโตขึ้นมาอีกนิดการใช้นิทานที่มีเรื่องราว การดำเนินเรื่องของตัวละครจะทำให้เด็กเพิ่มมุมมองความเข้าใจตัวเองและคนรอบข้างรวมถึงเพิ่มความเข้าใจคำที่เป็นความรู้สึก พฤติกรรม หรือแม้แต่คำศัพท์ที่สื่อถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด คุณพ่อคุณแม่ลองลงทุนกับหนังสือภาพหนังสือนิทานดูสิคะ หากได้ใช้เวลาอ่านหนังสือกับลูกบ่อยๆ อาจจะสังเกตได้ถึงพัฒนาการด้านภาษาของเจ้าตัวน้อยที่ดีขึ้นจนน่าแปลกใจ

 

ดึงความสนใจ สอนให้สนุก และเป็นธรรมชาติ

 

เมื่อถึงวัยที่เด็กเริ่มเข้าสู่ช่วงรับรู้ไวของทักษะทางภาษาด้านต่างๆ เด็กจะเริ่มสนใจทักษะนั้นเองอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือตามน้ำไปกับลูกค่ะ ถ้าลูกชี้รูปหรือสิ่งของอะไรบ่อยๆ ให้ออกเสียงชื่อเรียกของสิ่งนั้นให้เค้าฟัง ช้าๆ ชัดๆ แต่ไม่ต้องถึงกับลากยาวจนเป็นเสียงยานคางที่ไม่เป็นธรรมชาตินะคะ อีกอย่างที่สำคัญคือให้เอาเด็กเป็นที่ตั้ง อย่าเอาเราเป็นที่ตั้งค่ะ พ่อแม่หลายคนเจตนาดี ชั้นอยากจะสอนลูกเรื่องนี้ คำนี้ เซ็ตคำศัพท์นี้ แล้วก็พยายามเคี่ยวเข็ญให้ลูกดู flash card แล้วพูดตามบ้าง เอามาควิชคำถามซ้ำๆ ดูว่าลูกจำได้หรือยังบ้าง แต่หากไม่ดูอารมณ์และความสนใจของลูกเป็นที่ตั้ง สิ่งที่ได้กลับมาอาจจะเป็นว่าเด็กเกิดความรู้สึกต่อต้านจนเสียโอกาสระหว่างช่วงรับรู้ไวไปอย่างน่าเสียดาย

 

จริงๆ แล้วถ้าเราสังเกตเค้าเสียหน่อยว่าเค้าสนใจอะไรเป็นพิเศษ แล้วอยากจะสอนอะไร ก็ให้ยึดสิ่งที่เค้าสนใจเป็นหลัก แบบนี้จะทำให้เด็กสนุก ให้ความร่วมมือ และการเรียนรู้ร่วมกันจะเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติค่ะ เช่น เด็กบางคนชอบรถ เวลานั่งรถไปไหนมาไหน เด็กก็มองนอกหน้าต่างอยู่แล้ว เราก็อาจจะคอยชี้ รถเมล์ รถบรรทุก รถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์ และ ยานพาหนะที่มีลักษณะและสีสันแตกต่างกันไป แล้วเด็กก็จะค่อยๆ เรียนรู้ศัพท์ต่างๆ ที่มาจากสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน เด็กบางคนชอบไดโนเสาร์ ก็หานิทานเกี่ยวกับไดโนเสาร์ให้อ่านหลายๆ เล่ม ก็ทำให้ได้คลังศัพท์จากนิทานเหล่านั้น หรือเด็กที่ดูสนใจรูปสัตว์ตุ๊กตาสัตว์ พ่อแม่ก็อาจหาเวลาพาไปสวนสัตว์เพื่อให้เห็นของจริง เป็นต้น การแปะโปสเตอร์ภาพตามผนังห้อง การพาออกไปพบเจอสถานการณ์ใหม่ๆ และสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เป็นวิธีง่ายๆ ที่จะกระตุ้นความสนใจและเพิ่มโอกาสให้การเรียนรู้ได้มากทีเดียวเชียวค่ะ

 

เมื่อถึงระยะของการเรียนรู้ตัวอักษรก็เช่นกัน การจะให้เด็กมานั่งนิ่งๆ คัดลายมือ ลากเส้นเป็นตัวอักษร เขียนคำศัพท์ เป็นสิ่งที่ขัดต่อธรรมชาติของเด็กเล็ก และอาจทำให้เด็กเบื่อหน่ายหรือต่อต้านได้ง่าย จากงานวิจัยทางการศึกษาในปัจจุบันหลายชิ้น คำแนะนำจากนักวิชาการจึงมักไปในทางที่ปล่อยให้เด็กเล่นและเรียนรู้ผ่านการเล่นจะให้ประสิทธิผลดีกว่า ในส่วนของพ่อแม่นั้น ก็ส่งเสริมได้ด้วยการชี้ชวนอ่านป้ายต่างๆ ที่เดินผ่าน หรือแปะโปสเตอร์พยัญชนะสีสันสดใสไว้ที่บ้าน ถ้าเป็นตัวเลขก็อาจชวนอ่านป้ายทะเบียนรถ หรืออ่านตัวเลขชั้นในลิฟท์ จะทำให้ลูกเคยชินที่จะเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้จนเป็นกิจวัตรและกระตุ้นให้เด็กซึมซับตัวเลขและตัวอักษรได้โดยไม่รู้สึกฝืน

 

ใช้ช่วงรับรู้ไวในการใช้ภาษาในการปลูกฝังความใฝ่รู้

 

เมื่อถึงช่วงวัยที่ลูกพร้อม เด็กน้อยที่แต่ก่อนเคยแต่ส่งเสียงอ้อแอ้ก็จะกลายเป็นนักตั้งคำถามตัวยงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเปลี่ยนกระบวนท่ามารับมือกับคำถามมากมายหลากหลายของเจ้าตัวยุ่งแทบไม่ทัน อย่างลูกสาวของแม่แหม่มเอง ตอนนี้จะติดถามว่า นี่อะไร แล้วก็จะถามทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า เมื่อถึงจุดนี้ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็นและอดทนที่จะตอบคำถามลูกนะคะ แม้ว่าบางทีลูกจะถามซ้ำคำเดิมเป็นครั้งที่ร้อยแล้วก็ตาม ตรงนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ของเด็กค่ะที่จะถามซ้ำไปซ้ำมา คล้ายกับที่เด็กบางคนจะชอบให้อ่านนิทานเล่มเดิมซ้ำๆ แม้แทบจะจำได้ทั้งเล่มทั้งคนอ่านและคนฟังแล้วก็ตาม 

 

บางทีจะสังเกตเห็นว่า เด็กพยายามที่จะเรียนรู้ว่า สิ่งเดิมๆ มีวิธีเรียกต่างกันไหมอีกด้วย อย่างลูกสาวซึ่งที่บ้านพยายามสอนหลายภาษา บางทีของชิ้นเดียวกัน ก็จะวิ่งไปถามแม่ที พ่อที คุณตาที เพราะแต่ละคน ก็จะตอบกันคนละภาษา ลูกก็จะค่อยๆ ซึมซับตรงนี้ แล้ววันดีคืนดี พอแม่พูดคำๆ นึง ลูกก็จะพูดชื่อของของสิ่งนั้นเป็นอีกภาษาออกมาได้เองจนแม่แปลกใจ หรือบางทีรูปๆ หนึ่งอธิบายได้ด้วยหลายคำเช่น ลูกชี้ภาพป่าไม้ที่มีต้นไม้เขียวๆ เรียงกันเป็นทิวแถว แม่อาจจะตอบว่าป่า พ่ออาจจะตอบว่าต้นไม้ คุณตาเห็นนิ้วเล็กๆ จิ้มที่จุดใดจุดหนึ่งอาจตอบว่าใบไม้ ซึ่งตรงนี้เป็นธรรมชาติของเด็กที่จะรู้จักเชื่อมโยงกลุ่มคำด้วยกัน การตอบไม่ตรงกันจึงไม่เป็นปัญหา ขอแต่ว่าให้ขยันตอบเรื่อยๆ อย่าเบื่อไปเสียก่อน 

 

พอถัดจากอายุที่ถามว่าอะไรเป็นอะไร การเลี้ยงเจ้าตัวน้อยก็จะท้าทายขึ้นอีกเพราะลูกน้อยจะเริ่มกลายเป็นเจ้าหนูจำไม ซึ่งแม้บางทีพฤติกรรมนี้จะเริ่มน่ารำคาญเพราะหนูน้อยถามแจ๋วๆ ไปเรื่อยๆ ว่า ทำไม ทำไม ทำไม ไม่หยุดหย่อนจนบางทีพ่อแม่แทบจะหมดแรงตอบ แต่ขอให้ใช้ความอดทนใจเย็นเช่นเคย ตอบให้มากที่สุดเท่าที่ตอบได้ อย่าแสดงทีท่าเบื่อหน่ายรำคาญหรือโมโห รวมไปถึงกระหมั่นกระตุ้นให้ลูกน้อยหาคำตอบด้วยตัวเองก่อน เช่น คอยถามกลับว่า แล้วหนูคิดว่าอย่างไรละจ๊ะ ซึ่งจะเป็นการฝึกให้เด็กหยุดคิดวิเคราะห์และดึงข้อมูลความรู้ของตนเองจากความทรงจำใช้งานออกมาอย่างเป็นระบบ อีกทั้งช่วยให้เด็กเริ่มมีความมั่นใจว่ามีจุดเริ่มต้นที่ตัวเองรู้และเข้าใจ จากนั้นพ่อแม่จึงค่อยๆ ถามต่อยอดจนนำไปถึงคำตอบในที่สุด พ่อแม่เองก็จะได้เรียนรู้ด้วยว่า ลูกมีความเข้าใจเรื่องต่างๆ รอบตัวแค่ไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งบางทีความคิดเชื่อมโยงแบบไร้เดียงสาของเด็กอาจทำให้เราได้ขำจนปวดท้อง หรือบางทีก็อาจจะทำให้เราถึงกับทึ่งได้เหมือนกัน

 

และเมื่อถึงจุดไหนที่เราไม่รู้ ให้ยอมรับไปเลยว่าไม่รู้ ดีกว่าสอนผิดให้จำผิดๆ ไป หรือตอบแบบตัดบท และถือโอกาสนี้เริ่มสอนเรื่องการค้นคว้า เดินไปเปิดหาหนังสือหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยกัน พาไปห้องสมุด หรือในยุคนี้ ก็อาจสอนเรื่องการสืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตไปเลยก็ยังได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มพูนพัฒนาการทางด้านภาษาแล้ว ยังเป็นพื้นฐานที่จะสร้างความใฝ่รู้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อลูกน้อยไปตลอดชีวิต

 

จะเห็นได้ว่า เรื่องการสื่อสารของลูกน้อยนั้นมีโอกาสทองที่พ่อแม่ช่วยส่งเสริมได้มากมาย เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก คอยหมั่นสังเกตความสนใจของลูกและดูว่าแต่ละช่วงลูกอยู่ในช่วงรับรู้ไวในด้านใด และนำวิธีการที่แนะนำข้างต้นไปปรับใช้ เท่านี้คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมสรรค์สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ผลักดันให้ลูกน้อยมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่รุดหน้าและมีทัศนคติใฝ่รู้ที่จะทรงคุณค่ามหาศาลต่อลูกน้อยในระยะยาวด้วยค่ะ

 

อ้างอิงจาก หนังสือ หนูทำได้สไตล์มอนเตสซอรี เขียนโดย คันนาริ มิกิ

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :

ดนตรีกับพัฒนาการ ลงทุนกับการเรียนดนตรี ดีกับพัฒนาการลูกอย่างไร

อาหารเด็ก 2 ขวบ ของหวาน เมนูเด็ก รสชาติอร่อย เพิ่มพัฒนาการ!

รวม 7 อาหารเด็ก 1 ขวบ อาหารญี่ปุ่น เพิ่มพัฒนาการ อาหารอร่อยที่ลูกชอบ!