เซลล์สมอง คืออะไร
ก่อนจะไปถึงเรื่อง เพิ่มเซลล์สมองให้ลูก ผ่านการเลี้ยงดูและกิจกรรมที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน เรามาดูกันก่อนค่ะว่า เซลล์สมองคืออะไร โดยข้อมูลทางการแพทย์ เรื่องเซลล์สมอง จาก รศ.พญ.ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงการทำงานของสมองเด็ก สรุปได้ดังนี้ การที่ลูกชอบทำอะไรซ้ำ ๆ เช่น อ่านนิทานเล่มเดิม ๆ หรือเล่นของเล่นชิ้นเดิม นั่นเป็นเพราะ ลูกต้องการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวสมองของลูกน้อยที่กำลังเติบโต กำลังพยายามเรียนรู้ ทำความเข้าใจเหตุและผล รวมถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับตัวเขาและสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้รับประสบการณ์ ความรู้ และความชำนาญ เพื่อการใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม
“เซลล์สมอง”
เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับหนึ่งแสนล้านเซลล์สมอง ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายวงจร และสามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้เรื่อยๆ เมื่อมีการกระตุ้นสมองให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เรียกกระบวนการเชื่อมต่อของสมองนี้ว่า ไซแนปส์ (Synapse) การเชื่อมต่อของไซแนปส์สามารถเกิดได้สูงถึง 1,000 ล้านล้านครั้งในระยะเวลา 1-5 ปีแรก ดังนั้น ช่วงวัยนี้จึงเป็นระยะเวลาที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้
เพราะสมองของเด็กจะพัฒนาถึง 85% เทียบเท่าสมองของผู้ใหญ่ ทุก 1 วินาที เซลล์สมองของเด็กจะมีการเชื่อมต่อ สูงถึง 700 เซลล์ หมายความว่า สมองของลูกน้อยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อพ้นช่วงวัยนี้ไปแล้วจะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมอง แต่เป็นการพัฒนาโครงข่าย
สมอง เซลล์สมองที่ไม่ได้รับการกระตุ้นจะเป็นอย่างไร
สมองและเซลล์สมองที่ไม่ได้รับการกระตุ้น ก็จะเสื่อมสลายไป ดังนั้น การสร้างทุกนาทีให้เป็น การเรียนรู้ของลูก (Non-Stop Learning) จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องช่วยกันส่งเสริมในโอกาสทองนี้นะคะ
เพิ่มเซลล์สมองให้ลูก ผ่านการเลี้ยงดูและกิจกรรมที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน
1. การสัมผัสและการหัวเราะ
การพัฒนาง่าย ๆ อับดับแรกที่พ่อแม่ควรทำคือ การสัมผัส โอบกอด การเล่น การได้หัวเราะกับลูก งานวิจัย พบว่า เด็กที่ไม่ค่อยได้เล่น หรือไม่ค่อยได้รับการสัมผัสโอบกอด จะมีสมองที่มีขนาดเล็กกว่าเด็กปกติ 20 – 30 % นอกจากนี้ การโยกตัวลูกเบา ๆ การสบตา การพูดคุยกับลูกมากเท่าไหร่ยิ่งช่วยเพิ่มสารแห่งความสุข (เอนดอร์ฟิน) ในสมองลูกมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงแรกเกิดเป็นช่วงที่เส้นใยประสาทกำลังก่อตัว ถ้าลูกได้เล่น ได้หัวเราะ สมองของลูกจะพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว
2. การเลียนแบบ
ในสมองของมนุษย์มีเซลล์ชนิดหนึ่งเรียกว่า Mirror Neuron หรือเซลล์สมองกระจกเงา เป็นเซลล์ที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ การสังเกตและการเลียนแบบ นั่นคือ พ่อแม่คือกระจกของลูก สังเกตง่าย ๆ เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ทำสิ่งใด เช่น นั่ง เดิน นอน ทำสิ่งใดลูกในชวงวัยเด็กเล็กมักจะทำตาม ดังนั้น หากพ่อแม่เป็นคนชอบใฝ่หาความรู้ ชอบอ่านหนังสือ ภาพสะท้อนเหล่านี้จะสะท้อนกลับเข้าไปในสมองของลูกแต่ถ้าพ่อแม่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ชอบทะเลาะ มีปากเสียงกัน ภาพทางลบเหล่านี้ก็จะถูกซึมซับและถ่ายทอดไปยังสมองลูกเช่นกัน เมื่อทราบเช่นนี้แล้วพ่อแม่คือ ครูคนแรกของลูก เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในการความประพฤติและด้านจิตใจให้กับลูกนะคะ
3. เครียด VS ความสุข
ความเครียด กับความสุข ส่งผลกระทบต่อเซลล์สมองของลูกต่างกัน หากลูกมีความเครียดและแรงกดดันมา หรือมีอารมณ์ซึมเศร้า ถือเป็นอารมณ์เชิงลบ จะส่งผลเชิงลบต่อสารเคมีในสมอง ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ของลูกลดลง ในทางตรงข้าม หากลูกมีความสุข มีอารมณ์ที่มั่นคง สมองจะหลั่งสารเคมีที่ดี ส่งผลให้การเรียนรู้รวดเร็วและมีความจำที่ดีมีความพร้อมที่จะเรียนรู้
4. เล่นช่วยเสริมสร้างเซลล์สมอง
การเล่นของเด็กมีผลต่อการพัฒนาเซลล์สมองโดยตรง ประสบการณ์ที่ได้จากการเล่น ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับ การสัมผัส ล้วนส่งเสริมให้สมอง มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นตามไปด้วย
5. อ่านหนังสือ
เซลล์สมองของลูกจะเชื่อมต่อ และแตกแขนงออกไปเมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมผ่านการเรียนรู้และฝึกใช้ประสาทสัมผัส โดยเฉพาะทางสายตาและทางหู การอ่านหนังสือเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่มีอิทธิพลในการกระตุ้นเซลล์สมอง ช่วยเพิ่มเส้นใยสมองให้มากขึ้น เชื่อมโยงความสัมพันธ์เป็นสายใยมากขึ้น ส่งผลให้เด็กมีความฉลาดเพิ่มขึ้นนั่นเอง
คุณหมอขอบอก
รศ.พญ.ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย กล่าวว่า เด็กมีสมองเหมือนกัน แต่ฉลาดต่างกัน จุดสำคัญที่ทำให้เด็กฉลาดแตกต่างกัน คือ ปริมาณการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง ซึ่งเกิดจากโภชนาการที่เหมาะสม การสัมผัส โอบกอด ความรัก ความเข้าใจ การเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามวัย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างโอกาสทอง ในการเรียนรู้ให้ลูกได้ค่ะ จะเห็น โอกาสทองในการสร้างเซลล์สมอง ให้ลูกนั้นทำได้ไม่ยากเลย ขอเพียงคุณพ่อคุณแม่ให้เวลา ให้โอกาส ในการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสมเพียงเท่านั้น เซลล์ประสาทของลูกก็จะได้รับการพัฒนาเชื่อมต่อโยงใย เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ต่อไปค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โรคเส้นเลือดในสมองแตกในเด็ก อันตรายถึงชีวิต วิธีสังเกตอาการลูกเส้นเลือดในสมองแตก
เกมฝึกสมองสำหรับเด็ก วัยอนุบาล เกมกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยมีเกมอะไรบ้าง