พญ.สุธีรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์กลุ่มงานจิตเวช สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น รพ.พระนั่งเกล้าฯ ได้กล่าวว่า การลงโทษด้วยการตีบ่อย ๆ อาจทำให้ลูกกลายเด็กดื้อไม้ ดื้อมือ ต่อต้าน และไม่เชื่อฟังพ่อแม่ได้ แถมยังเป็นการหล่อหลอมให้เด็กซึมซับความรุนแรงและนำไปใช้กับผู้อื่นอีกด้วย ดังนั้นการลงโทษมื่อลูกทำผิดยังมีหลายวิธีโดยไม่ใช้วิธีการตี
#วิธีลงโทษลูกแบบ Time out
คือลงโทษลูกโดยไม่ให้ลูกทำกิจกรรมใด ๆ และให้นั่งอยู่ในมุมที่จัดไว้ลงโทษเป็นเวลา 1-2 นาที แต่ยังคงอยู่ในสายตาพ่อแม่ วิธีนี้สามารถใช้กับเด็กที่เข้าใจคำสั่งได้ง่ายหรืออายุไม่เกิน 4-5 ขวบ
Read : Time out ลงโทษแบบสงบแต่สยบลูกน้อยอย่างได้ผล
#วิธีลงโทษลูกด้วยการงดกิจกรรม
เช่น ถ้าลูกทำการบ้านไม่เสร็จก็อดไปเล่นนอกบ้านกันเพื่อน วิธีนี้เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป เนื่องจากเริ่มเข้าใจเงื่อนไขต่าง ๆ และรู้จักต่อรองได้มากขึ้น ดังนั้นพ่อแม่ควรหนักแน่นและสอนลูกให้ยึดตามกติกาที่ตั้งไว้ ให้เหตุและผลเพื่ออธิบายให้ลูกเข้าใจ การใช้วิธีทำโทษแบบนี้ ซจะส่งผลให้ลูกเป็นเด็กที่เข้าใจและใช้เหตุผล มีวินัย และไม่ใช่อารมณ์ในการแก้ปัญหาได้
#วิธีลงโทษลูกด้วยการรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำผิด
เช่น เมื่อทำน้ำหกก็ต้องเช็ดด้วยตัวเอง หรือลงโทษด้วยการคัดลายมือ เป็นต้น
คุณหมอยังได้เพิ่มเติมอีกว่า ถ้าลงโทษด้วยการตีลูกซ้ำแล้วซ้ำอีก วันหนึ่งเมื่อลูกทำผิดก็อาจแบมือมาให้พ่อแม่ตีโดยลูกจะไม่เข้าใจเลยว่า พ่อแม่ตีไปเพื่ออะไร ดังนั้นพ่อแม่ควรมีกติกาในการลงโทษลูก และไม่ควรใช้คำพูดที่ทำลายความรู้สึกของลูก อย่างการพูดว่า “แม่ไม่รักลูก ทำแบบนี้ไม่ใช่ลูกแม่” เพื่อให้เด็กรู้สึกแย่หรือน้อยใจลงได้
อย่างไรก็ตาม เราสามารถลงโทษลูกด้วยการตีได้ แต่ควรมีข้อตกลงและทำความเข้าใจให้ลูกรู้ว่า การที่พ่อแม่ตีลูกก็ต่อเมื่อลูกทำผิด ไม่ใช่การตีสุ่มสี่สุ่มห้า พร้อมอธิบายถึงสาเหตุเพื่อให้ลูกเกิดการยอมรับของวิธีการลงโทษนี้ เช่น เมื่อลูกดื้อ หรือไม่รักษาคำพูด ฯลฯ การพูดในลักษณะนี้เพื่อที่ลูกจะได้เรียนรู้และนำไปคิด ซึ่งพ่อแม่ก็ควรจะใจเย็นและไม่ใช้อารมณ์กับลูกด้วยนะคะ
หากพ่อแม่บ้านไหนมีวิธีลงโทษลูกแบบได้ผลและน่าสนใจโดยไม่ใช้การตี สามารถแชร์วิธีอื่น ๆ มาแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นแนวทางแก่พ่อแม่บ้านอื่นกันได้นะคะ
Credit content: www.manager.co.th
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
ลงโทษลูกอย่างไรไม่ให้บอบช้ำ
เลี้ยงลูกให้ดี ควรลงโทษลูกไหม?