เชื้อ HPV ระดับมะเร็ง โรคร้ายทางเพศสัมพันธ์ ถ้าแม่ท้องเป็น จะมีอาการเป็นยังไง แล้วจริงไหมที่ต้องผ่าคลอด สาเหตุมาจากไหน ป้องกันได้อย่างไรมาดูกัน
ได้มีคุณแม่ออกมาแชร์เรื่องราว เพื่อเป็นอุทาหรณ์ เมื่อคุณสามีเอา เชื้อ HPV ระดับมะเร็ง มาติดเราตอนท้อง เชื้อ HPV หรือที่เรามักจะได้ยินในชื่อของ หูดหงอนไก่ แต่หูดหงอนไก่ เป็นเพียงแค่เชื้อระดับต้น ที่แสดงออกในลักษณะเซลล์ผิวที่แตกตัวออกมากไม่สวยงาม แต่หากเชื้อนี้เป็นสายพันธุ์ ที่อันตรายมากกว่าหูดหงอนไก่ มันคือมะเร็งที่พร้อมจะคร่าชีวิต คุณผ่านทางเพศสัมพันธ์นั่นเอง โดยเฉพาะในเวลาที่เราตั้งครรภ์อยู่ จะมีผลกระทบอย่างไร และจะรักษาหายได้หรือไม่ และจะมีความเสี่ยงกับลูกน้อยในครรภ์มากน้อยแค่ไหน
เมื่อสามีเอาเชื้อ HPV ที่ก่อมะเร็งมาติดเราตอนท้อง
คุณแม่ท่านหนึ่งได้โพสต์ว่า สามีได้เอาเชื้อ HPV ที่ก่อมะเร็งมาติดเราตอนท้อง หรือที่เรามักจะได้ยินในชื่อ หูดหงอนไก่ อาการเริ่มต้นจะเป็นอย่างไร แล้วคุณแม่จะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง จึงขอแชร์เป็นอุทาหรณ์เอาไว้ในโพสต์นี้ค่ะ :'(
ตอนที่ท้องได้ประมาณ 30 สัปดาห์ ตัวคุณแม่เองเริ่มมีอาการเบื่อเซ็กส์ เพราะไม่มีอารมณ์ด้วย อาจจะรวมถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป ตัวสามีก็เจื่อน ๆ ไป จากที่เคยทำการบ้านวันเว้นวันก็เหลือแค่อาทิตย์ละวัน ตอนนั้นบอกตรง แอบจิตตก และเครียดด้วย กลัวเค้าจะไปมีเมียน้อย ยิ่งอ่านในเว็บพันทิปก็ยิ่งจิตตก เราเลยตัดสินใจบอกเขาว่าให้ไปเที่ยวได้แต่ต้องไปตามอ่าง (เพราะเพื่อนผู้ชาย บอกอ่าง ผู้หญิง สะอาด) และต้องบอกเราทุกครั้ง แต่แฟนดันงก ไปตกไซด์ไลน์ เค้าก็ไปซื้อมากินไม่เกิน 4 ครั้ง (ใครจะว่าเราโง่ หรือใจกว้างก็ได้) ผู้หญิงเปลี่ยนคนทุกครั้งนะ เพราะเขาก็ไม่อยากติดผู้หญิงคนอื่น ในช่วงนั้นเราก็ยังมีอะไรกันแบบ 2 อาทิตย์ครั้ง
พอเราคลอดมาได้ 8 เดือน เริ่มมีอาการตกขาวมาก แต่มันจะไม่เหมือนตกขาวตอนใกล้คลอดนะ มันคัน และอาการตกขาวออกเหลือง-เขียว แล้วเหม็นแปลก ๆ เลยไปปรึกษาหมอ หมอบอกไม่ปกติ มีอาการติดเชื้อแนะนำให้ไปตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) เราก็ไปที่โรงพยาบาล 2 อาทิตย์ ผลออก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เริม เริมคืออะไร อันตรายยังไง?
สรุปเป็นมะเร็ง ติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 ติดมาจากแฟน
ในช่วงนั้น ทุกครั้งที่มองลูกสาวแล้วสงสารเค้าสุดหัวใจ ร้องไห้น้ำตาหยดลงบนผ้าอ้อมลูก คิดอยู่ตลอด ถ้าแม่ไม่อยู่แล้วใครจะดูแลหนู แต่หมอก็บอกโชคดีที่เรารู้ก่อน เป็นในระยะก่อน 1 สามารถกินยาแล้วหายได้ กินยาทีเป็นกำ ๆ เลยค่ะ ทั้งโพรแบค (ผงผสมน้ำ) ยาบำรุง กินยาจนอิ่ม ข้าวกินได้นิดเดียว เลยอยากมาเตือนภัยเพื่อน ๆ จริง ๆ
ป.ล. แฟนเราใช้ถุงยางทุกครั้ง ซึ่งหมอก็บอกว่า ถุงยางในบางกรณีก็ไม่สามารถป้องกันเชื้อนี้ได้
*** คุณแม่ทุกคนควรไปฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกไว้ด้วยนะคะ ตรวจคัดกรองของโรงพยาบาลรัฐก็ฟรี หรือใครแค่สงสัยจะไปถามหมอในแอปแบบที่เราทำก่อนก็ได้ เชื้อบ้านี่ใครเป็นขอให้รักษาให้หาย อย่าได้มาติดใครอีกเลยนะ***
ไวรัสตัวฮิต HPV
HPV เชื้อไวรัสตัวฮิตที่พบได้บ่อยในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยคอลัมน์ คุยกับหมอพิณ โดย พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล อธิบายไว้ว่า เชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) มีหลากหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์โหดร้ายระดับน้อย คือ ก่อให้เกิดโรค “หูดหงอนไก่” (หูดคือไม่สวยงาม แต่ก็ไม่ทำให้ถึงตาย) บางสายพันธุ์มีความโหดร้ายระดับสูง ถึงขั้นก่อให้เกิด…“มะเร็ง” ได้ (ซึ่งถ้าไม่รักษา ก็มีโอกาสถึงตายได้นะคะ)
HPV โรคร้ายที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์
HPV สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้หลายช่องทาง
- ทางปาก
- ทางช่องคลอด
- ทางทวาร
คนที่แพร่ไวรัส HPV อาจจะไม่มีอาการเลยก็ได้ ส่วนคนที่รับเชื้อมา อาการอาจจะเพิ่งปรากฏ หลังได้รับเชื้อมาเป็นปีก็ได้ การติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่ ร่างกายเราสามารถกำจัดออกไปได้เอง แต่ถ้าไม่สำเร็จ HPV ที่อยู่กับเรายาวนาน จะทำให้เราเกิดโรคอย่าง หูดหงอนไก่ หรือมะเร็งปากมดลูก ตามมาได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : มะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร? สัญญาณเตือนมะเร็งปากมดลูก มีอะไรบ้าง?
HPV ก่อโรคมะเร็ง
- มะเร็งปากมดลูก
- HPV สามารถก่อให้เกิดมะเร็งช่องคลอด
- มะเร็งแคมใหญ่
- มะเร็งทวาร
- มะเร็งองคชาต
- มะเร็งคอหอย
วิธีป้องกัน HPV
- ตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
- หากมีเพศสัมพันธ์ ควรใส่ถุงยางอนามัยแบบถูกวิธี วิธีนี้จะ “ลด” อัตราการติดต่อของโรคได้ ย้ำว่าลดนะคะ ไม่ได้ป้องกัน 100%
- มีสามีเดียว ภรรยาเดียว
- ฉีดวัคซีน HPV
การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV Vaccine) ฉีดได้ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง ในช่วงอายุ 11-12 ปี ถ้าใครที่ไม่เคยฉีดในช่วงวัยเด็ก แนะนำฉีด HPV ได้ถึงอายุ 21 ปี ในเพศชาย ได้ถึง 26 ปี ในเพศหญิง ถ้าอายุเกินจากนี้ หรือมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว ก็สามารถฉีดวัคซีนได้ค่ะ แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีน จะขึ้นอยู่กับว่า เราเคยได้รับ HPV มาก่อนหน้านี้หรือยัง และในคนอายุมาก จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีงามเท่าคนอายุน้อยค่ะ แต่ฉีดแล้วก็ใช่ว่าจะสบายใจนะคะ เพราะวัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ และไม่สามารถป้องกันได้ หากว่าเรามีเชื้อตัวนี้อยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ควรทำ คุณหมอแนะนำว่า คือ การตรวจมะเร็งปากมดลูกประจำปี สำหรับแม่ ๆ
แม่ท้องเป็นหูดหงอนไก่ อาการเป็นยังไง
หูดหงอนไก่ เป็นหูดที่เกิดขึ้นตรงอวัยวะเพศ และมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า หูดอวัยวะเพศ หรือหูดกามโรค พบมากในกลุ่มอายุ 17-33 ปี เป็นได้ทั้งชายและหญิง แต่ที่น่ากังวลคือ แม่ท้องเป็นหูดหงอนไก่
สาเหตุของหูดหงอนไก่
เกิดจาก การติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Human papilloma virus หรือย่อว่า HPV ทั้งยังเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด มีสายพันธุ์เยอะมาก ร่วม ๆ 100 สายพันธุ์ย่อย แถมบางสายพันธุ์ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก แต่อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ หูดหงอนไก่นั้น เกิดจากสายพันธุ์ย่อย HPV 6, และ 11 ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดโรคมะเร็งค่อนข้างต่ำ
อาการของหูดหงอนไก่
- บางรายเกิดอาการคัน บางรายไม่คัน
- บริเวณที่พบหูดหงอนไก่ ก็ตรงอวัยวะเพศ ท่อปัสสาวะ ปากมดลูก ทวารหนัก และยังเกิดได้หลาย ๆ ตำแหน่งของร่างกาย เช่น ผู้ป่วยที่พบรอยโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ หากมีประวัติมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ก็อาจพบโรคในบริเวณทวารหนักด้วย
- ลักษณะของหูดหงอนไก่มีลักษณะเป็นตุ่มเดียว, หลายตุ่ม, หรือมีขนาดใหญ่คล้ายดอกกะหล่ำ, หรือหงอนไก่, สีชมพู หรือสีเนื้อผิวขรุขระ
แต่การเป็นหูดหงอนไก่นั้น ในแม่ท้องจะเป็นมาก มักจะมีก้อนเนื้อหูดใหญ่ขึ้น หรือเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงทำให้แม่ท้องวิตกกังวลมากเป็นพิเศษว่าจะมีผลกระทบต่อลูกในท้องหรือไม่ แล้วต้องรักษาอาการอย่างไร
วิธีรักษา หูดหงอนไก่ แม่ท้อง
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข ได้ให้ความรู้ในบทความ ศุกร์กับเซ็กส์ : หูดหงอนไก่ในคนท้อง เอาไว้ว่า หูดหงอนไก่ ชอบฮอร์โมนเพศหญิงที่มีระดับสูงขึ้น จึงมักงอกงามเจริญเติบโตและรักษาไม่หายขาดในช่วงตั้งครรภ์ เพราะแม่ท้องมีความชุ่มชื้นที่ช่องคลอดมากขึ้น แถมภูมิต้านทานของร่างกายแม่ท้อง ยังเปลี่ยนไปในขณะตั้งครรภ์อีกด้วย
การรักษาต้องใช้ยาจี้หรือยาทาหูด เช่น ไตรคลอโรอเซติก (Trichloroacetic acid), Imiquimod, ตัดออก, จี้ด้วยไฟฟ้า หรือจี้ด้วยความเย็น ส่วนยาต้องห้าม เช่นโพโดฟิลลิน (Podophyllin), 5 เอฟยู(5-FU) เพราะมีพิษถึงทารกในครรภ์
แม่ท้องเป็นหูดหงอนไก่ ต้องผ่าคลอดจริงหรือ
สำหรับช่องทางการคลอดนั้น หากเป็นหูดหงอนไก่ขนาดเล็กสามารถคลอดทางช่องคลอดได้ ระวังเด็กทารกไม่ให้โดนหูด และไม่ควรดูดเสมหะลึกเพราะหูดหงอนไก่อาจจะไปติดที่หลอดลมของเด็กได้
งานวิจัยพบว่ามารดาที่เป็นหูดหงอนไก่ คลอดเองทางช่องคลอด จำนวน 1,000 ราย มีโอกาสที่เด็กจะติด เป็นหูดหงอนไก่ที่หลอดลมจำนวน 7 ราย แต่หากเป็นหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ที่จะทำให้การคลอดลำบาก อาจใช้วิธีผ่าตัดคลอด ลูกในท้องไม่ติดเชื้อหูดหงอนไก่ตอนอยู่ในท้องก็จริง แต่การผ่าตัดคลอดก็ไม่สามารถป้องกันการติดหูดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม หลังคลอดประมาณ 1 เดือน หูดมักจะยุบไปได้เอง แม่หลังคลอดบางคนหูดหลุดหมดได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ แม้หูดหลุดหมด ร้อยละ 20 ของคนที่เคยเป็นหูดจะยังมีเชื้อหูดเผยแพร่ให้ผู้อื่นโดยผ่านการสัมผัส หูดนั้นติดง่ายมาก สัมผัสหนึ่งครั้งมีโอกาสติดเชื้อหูดถึงร้อยละ 70 ดังนั้นหากมีเพศสัมพันธ์ควรสวมถุงยางอนามัย แม้แต่การทำออรัลให้ฝ่ายหญิง ก็ควรมีพลาสติกใสหรือถุงยางอนามัยตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม กันที่อวัยวะฝ่ายหญิง
ภาพจาก medthai.com
ตัวอย่างแม่ท้อง คลอดธรรมชาติ แม้จะเป็นหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ
ด้านเพจใกล้มิดชิดหมอ ก็เคยโพสต์ถึงการดูแลคนไข้รายหนึ่งซึ่งเป็นหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศทั้งสองข้างขนาดใหญ่มาก และกำลังตั้งครรภ์ โดยคนไข้อายุเพียง 15 ปี แต่ว่ามีความตั้งใจว่าจะคลอดเอง หมอจึงตัดสินใจผ่าตัดหูดหงอนไก่ด้วยไฟฟ้าแทนการจี้ด้วยยาเนื่องจากอายุครรภ์มากแล้ว ท้ายที่สุด คนไข้ก็คลอดทางช่องคลอด โดยไม่มีปัญหาจากตัวโรคทั้งแม่ และลูก
“หลาย ๆ ครั้ง คนไข้ที่เป็นหูดหงอนไก่ขณะตั้งครรภ์มักจะถูกผ่าคลอด เนื่องจากกลัวภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดกับทารก ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลปัจจุบัน ยังไม่ยืนยันว่าการผ่าคลอดจะช่วยป้องกันการติดเชื้อในลูกได้ และช่องทางคลอดไม่ได้ทำให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกเปลี่ยนแปลงไป”
นอกจากอวัยวะเพศแล้ว หูดหงอนไก่ยังพบได้ตาม เนื้อเยื่อเมือก (Mucosa) อย่างช่องปาก ลำคอ และหลอดลม ได้ด้วย ในผู้ชายมักจะพบขึ้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างส่วนหัวและส่วนตัวขององคชาตใต้หนังหุ้มปลาย หรือเส้นสองสลึง ส่วนน้อยอาจขึ้นตรงปลายท่อปัสสาวะ หากแม่ท้องพบอาการผิดปกติ ให้รีบปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม และเร็วที่สุด เพื่อให้แม่และลูกคลอดออกมาได้อย่างแข็งแรง ปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมวิธีการป้องกัน ทำอย่างไรให้ไม่ติดโรค?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคหนองใน หนองในเป็นยังไง? อันตรายไหม?
ครรภ์เสี่ยง ภาวะเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง ความเสี่ยงตั้งครรภ์ คนท้องต้องระวัง ครรภ์เสี่ยง
ที่มา : Medthai ,Komchadluek