การเดินทางไปไหนมาไหนบนรถแต่มีลูกน้อยติดมาด้วยตลอด วิธีดูแลเด็กบนรถ ทำอย่างไรดี เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย และเสริมความปลอดภัยตลอดการเดินทาง เรียนรู้ได้จากบทความนี้
7 วิธีดูแลเด็กบนรถ เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด
เมื่อต้องเดินทาง และต้องพาเจ้าตัวน้อยเดินทางไปด้วย การเดินทางครั้งนี้อาจแตกต่างไปจากเดิม เพราะเด็กเล็กเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากกว่าที่คิด และเพื่อการเตรียมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีความปลอดภัยตลอดการเดินทาง เราจึงมี 7 วิธีที่อยากให้ผู้ปกครองลองอ่านเพื่อเตรียมตัวกันก่อน ได้แก่ เตรียมความพร้อมของคน และรถ, ศึกษาเส้นทางก่อน, ตรวจสอบอุปกรณ์ให้พร้อม, ต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลเด็กเสมอ, ไม่ควรนำเด็กมานั่งตักขณะขับรถ, ระวังสิ่งของบนรถ และให้ลูกทำกิจกรรมดึงดูดความสนใจ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกออกนอกบ้าน กี่เดือน สิ่งที่ต้องระวังและเตรียมตัว เมื่อพาลูกออกนอกบ้าน
1. เตรียมความพร้อมของคน และรถก่อนเสมอ
เป็นการเตรียมตัวของคนขับ และผู้ที่จะนั่งโดยสารไปด้วย เช่น คนขับควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก เพื่อไม่ให้เกิดความง่วงจนเสี่ยงอุบัติเหตุ หากเป็นการเดินทางไกลผู้ที่นั่งไปด้วยก็ควรพักผ่อนให้เต็มที่ เผื่อสลับกันขับเพื่อลดความอ่อนล้า หากขับได้คนเดียว ก็ควรวางแผนการเดินทางให้ดี ควรมีจุดแวะพักตามปั๊มน้ำมันตามความเหมาะสม ส่วนรถก็ต้องตรวจเช็กสภาพให้ดี หากเจอปัญหาจะได้นำไปซ่อมให้เรียบร้อยก่อน เป็นต้น
สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ ประกันรถยนต์จะต้องพร้อม สามารถใช้ได้เมื่อจำเป็นต้องใช้ ไม่ควรขับรถที่ประกันขาด เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจริง ๆ จะทำให้ส่งผลกระทบได้หลายอย่าง ทั้งเวลาที่ต้องเสียไป และค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด
2. ศึกษาเส้นทางที่ดีที่สุดก่อน
การมีเด็กขึ้นรถไปด้วยคงไม่เหมือนกับการเดินทางของผู้ใหญ่ เพราะเด็กอาจก่อให้เกิดปัจจัยอื่น ๆ เช่น เสียงดัง หรือลูกงอแงที่อาจทำให้ต้องจอดรถพัก การให้ลูกอยู่ที่คาร์ซีทเป็นเวลานานไม่ใช่ผลดี จึงควรมีจุดพักรถที่ได้อุ้มลูกกินนม หรืออุ้มออกไปเดินพักผ่อนคลายเบื่อนอกรถบ้าง นอกจากนี้ระยะของการเดินทางก็สำคัญ ยิ่งไปถึงที่หมายเร็ว โอกาสที่จะเจอปัญหาระหว่างทางก็จะน้อยลงตามไปด้วย ทั้งหมดนี้คือสาเหตุว่าทำไมจึงควรศึกษาเส้นทางก่อนวันเดินทางจริงเสมอ
3. ตรวจสอบอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนเดินทาง
ก่อนออกเดินทาง จะต้องเผื่อเวลาเพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ที่สำคัญบนรถก่อนเสมอ แน่นอนว่าในส่วนของลูกน้อยนั้นควรมีคาร์ซีท, หมวกกันน็อก และเข็มขัดนิรภัย ที่ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี พร้อมใช้งานได้ทันทีเมื่อต้องการ กรณีที่เกิดการชำรุดไม่ควรเสี่ยง เพราะส่งผลต่อความปลอดภัยของลูกโดยตรง หากพบปัญหาควรนำอุปกรณ์ไปซ่อมก่อน และค่อยออกเดินทาง ดังนั้นการตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนออกเดินทาง 1 วันจึงเป็นทางเลือกที่ทำให้วางแผ่นได้ง่ายที่สุด
นอกจากอุปกรณ์บนรถ สิ่งของจำเป็นสำหรับทารกก็ต้องพร้อมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าคลุมให้นม, แพมเพิส, ทิชชูเปียก, ของเล่นที่ลูกชอบ ไปจนถึงเสื้อผ้าสำรองของลูก และอย่าลืมในส่วนของผู้ปกครอง เช่น ยาประจำตัว หรือน้ำดื่มสะอาด ไปจนถึงแบตเตอรี่สำรอง เป็นต้น
วิดีโอจาก : PRAEW
4. ต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลเด็กเสมอ
การเดินโดยมีลูกน้อยไปด้วย จะยิ่งสะดวกสบายมากขึ้น หากมีผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลลูกน้อยได้โดยเฉพาะ 1 คน ซึ่งจะคอยทำหน้าที่คอยสังเกตอาการของเด็กว่าเป็นอย่างไรบ้าง คอยเล่น คอยพูดคุยด้วย เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อ และรู้ปลอดภัยไม่เหงา ซึ่งควรเป็นบุคคลที่เด็กมีความคุ้นเคยดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่บนรถตามลำพังด้วย เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็ก แล้วผู้ปกครองไม่ได้ดับรถ ตั้งใจลงไปแค่ไม่กี่นาที เด็กที่ไม่รู้อาจกดล็อกรถ แล้วไม่สามารถสื่อสารให้ลูกปลอดล็อกได้ เป็นต้น จึงควรพาลูกไปด้วยเสมอ หากผู้ปกครองต้องการออกจากรถ
5. ไม่ควรนำเด็กมานั่งตักขณะขับรถ
ต่อให้กำลังจอดรถติดไฟแดงอยู่ก็ตาม ทารกควรอยู่ที่คาร์ซีท ส่วนเด็กเล็กก็ควรอยู่ที่นั่งด้านหลังกับผู้ใหญ่ ไม่ควรให้เด็กอยู่บนตักของคนขับที่อาจเกิดจากการจับมานั่งเล่น หรือทำทีเหมือนกับการให้เด็กขับรถที่จอดนิ่ง เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เนื่องจากเด็กเล็กมีความซนมากกว่าที่คิด อาจเอื้อมมือไปกดปุ่ม หรือทำอะไรที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นระวังในเรื่องนี้ไว้ก่อน ไม่ประมาท จะดีต่อทุกคนบนท้องถนนที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีสอนลูกเอาตัวรอดเมื่อติดอยู่ในรถ พ่อแม่อย่ารอให้สายเกินไป…แล้วค่อยคิดได้ (มีคลิป)
6. ระวังสิ่งของที่อยู่ในรถให้ดี
ก่อนหน้านี้รถจะรกมากแค่ไหน แต่เมื่อจะนำลูกขึ้นรถไปด้วยจะต้องเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อยที่สุด อย่าให้มีสิ่งของโดยเฉพาะของชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือของมีคมอยู่ใกล้กับที่นั่งของเด็ก เพราะเด็กอาจจะยื่นมือไปหยิบสิ่งของเข้าปากตอนที่ผู้ปกครองเผลอจนเกิดอันตรายตามมาได้ นอกจากนรี้อีกสิ่งหนึ่ง คือ วัตถุ หรือการตกแต่งรถด้วยของบางอย่างที่น่ากลัวอาจต้องเอาออกจากรถ เช่น ตุ๊กตาผีตัวเล็ก ๆ หน้ารถ หรือตุ๊กตามอนสเตอร์ที่อาจทำให้ลูกหวาดกลัวจนเกิดความวุ่นวายทีหลังได้
7. ให้ลูกทำกิจกรรมดึงดูดความสนใจ
กรณีที่เดินทางไกล หากปล่อยให้ลูกนั่งเฉย ๆ อาจไม่ใช่เรื่องดี เพราะเด็ก ๆ อาจจะเบื่อได้ง่าย จึงต้องมีกิจกรรมให้ลูกทำด้วย ถ้าเป็นทารก ผู้ที่อยู่ใกล้ ๆ อาจชี้นิ้วไปที่วิวข้างนอก คอยถาม คอยพูดคุย เล่นของเล่น หรือจะเปิดการ์ตูนให้เด็กดูก็ได้ แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กที่พอสื่อสารได้แล้ว จะมีกิจกรรมที่สามารถทำได้หลากหลายกว่า เช่น ดูหนัง, ฟังเพลง แต่ไม่ควรให้เด็กดูจอที่มีขนาดเล็ก เพราะการสั่นของรถจะทำให้เด็กเกิดอาการตาลายได้นั่นเอง
เมื่อลูกรักเริ่มมีอายุมากขึ้น ยิ่งต้องเรียนรู้ทั้งมารยาท และการปฏิบัติบนรถ โดยมีความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นที่ตั้ง เพื่อสร้างความพร้อม และความเข้าใจเมื่อลูกต้องอยู่บนรถอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รถของผู้ปกครอง รวมไปถึงการรับมือ และการปฏิบัติหากต้องติดอยู่ในรถคนเดียว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พาลูกไปเที่ยวเตรียมอะไรบ้าง วิธีจัดกระเป๋าไปเที่ยว มีอะไรบ้างนะ
วิธีรับมือลูกป่วยตอนเดินทาง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากลูกเจ็บป่วยระหว่างทาง
ต้องทำอย่างไร เมื่อลูกน้อยจำเป็นต้อง เดินทางคนเดียวด้วยเครื่องบิน เป็นครั้งแรก
ที่มา : grabdriverth, ourglobetrotters