10 เคล็ดลับ ฝึกลูกเลิกแพมเพิส โบกมือลาเพิสลูก ฝึกยังไงให้ได้ผล ?

ฝึกลูกเลิกแพมเพิส เป็นสิ่งที่แม่ๆ ทุกบ้านต้องเตรียมความพร้อม ต้องอาศัยความตั้งใจจริงทั้งคุณแม่และตัวลูกเองด้วย จะมีวิธีฝึกอย่างไรบ้าง มาดูกัน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การเลี้ยงลูกมีหลายเรื่องที่ท้าทายสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เรื่องหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นคือ ฝึกลูกเลิกแพมเพิส หรือผ้าอ้อมสำเร็จรูป  เพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูกรู้จักควบคุมการขับถ่ายและมีความรับผิดชอบต่อร่างกายของตัวเอง และยังเป็นก้าวสำคัญในพัฒนาการของเด็ก ที่ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยต้องเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมๆ กัน

ทำไมต้อง ฝึกลูกเลิกแพมเพิส ? เข้าใจเหตุผลที่แท้จริง

การให้ลูกเลิกแพมเพิสไม่ใช่แค่เพื่อความสะดวกสบายของพ่อแม่ แต่ยังส่งผลดีต่อพัฒนาการของลูกในหลายด้านอีกด้วย

  1. ส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย

  • ควบคุมกล้ามเนื้อ การฝึกเลิกผ้าอ้อมช่วยให้ลูกได้ฝึกควบคุมกล้ามเนื้อส่วนล่าง เช่น กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ ทำให้สามารถบอกได้เมื่อต้องการขับถ่าย
  • พัฒนาการทางกายภาพ การเดินไปยังห้องน้ำหรือการนั่งบนโถชักโครก จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  1. ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์

  • ความภูมิใจในตนเอง เมื่อลูกสามารถควบคุมการขับถ่ายได้เอง จะรู้สึกภูมิใจในตัวเองและมีความมั่นใจมากขึ้น
  • ความเป็นอิสระ การเลิกแพมเพิสหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปเป็นการก้าวสู่ความเป็นอิสระขั้นหนึ่ง ทำให้ลูกรู้สึกมีส่วนร่วมในการดูแลตัวเอง
  • ลดความวิตกกังวล การไม่ต้องกังวลเรื่องแพมเพิสเปียกชื้นจะช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดในเด็ก
  1. ส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม

  • การเข้าสังคม การเลิกผ้าแพมเพิสหรืออ้อม ทำให้ลูกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับเด็กคนอื่นๆ ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
  • ความสัมพันธ์กับผู้อื่น การฝึกลูกเลิกแพมเพิส เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นการเริ่มต้นสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อตนเอง และเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างวินัย

  1. เหตุผลอื่นๆ

  • สุขอนามัยที่ดีขึ้น การเลิกแพมเพิส ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นผ้าอ้อมและการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้อีกด้วย
  • ลดค่าใช้จ่าย การที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ดีทีเดียวค่ะ

เลิกแพมเพิสเมื่อไหร่ดี ? เตรียมอนุบาลต้องเลิกแพมเพิสไหม ?

การที่คุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจให้ลูกเลิกแพมเพิส ควรพิจารณาจากความพร้อมของลูกเป็นสำคัญ ซึ่งความพร้อมที่ว่าคือในช่วง 2 ขวบขึ้นไป เพราะกล้ามเนื้อขาของเด็กจะเริ่มแข็งแรงและสามารถที่จะกลั้นฉี่ได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามพัฒนาการเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าลูกไม่พร้อมก็คือไม่พร้อมค่ะ ไม่ควรฝืนเพราะจะกลายเป็นการกดดันลูกจนเกินไป

สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกพร้อมเลิกแพมเพิสแล้ว

คุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยพร้อมที่จะเลิกใช้แพมเพิสแล้ว และฝึกเข้าห้องน้ำด้วยตัวเอง ต้องเริ่มสังเกตอาการดังต่อไปนี้

  • สามารถสื่อสารความต้องการได้ ลูกสามารถบอกได้เมื่อปวดฉี่หรือปวดอึ หรือแสดงท่าทางที่บ่งบอกถึงความต้องการเหล่านั้น
  • การรับรู้ทางร่างกาย ลูกน้อยจะรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระด้วยตัวเอง และอาจซ่อนตัวหรือรอจนกว่าจะอยู่คนเดียวจึงจะทำเข้าไปทำธุระของตัวเอง
  • สามารถควบคุมกล้ามเนื้อส่วนล่างได้ เด็กๆ สามารถยืน เดิน และนั่งได้อย่างมั่นคง และสามารถเดินเข้าห้องน้ำได้เอง สามารถดึงกางเกงลงได้เอง และนั่งกระโถนได้โดยไม่ต้องช่วยเหลือ
  • ต้องการความสะอาด ลูกน้อยอาจไม่ชอบนั่งในแพมเพิสหรือผ้าอ้อมที่เปียก สกปรก และอาจรีบบอกคุณแม่ถึงเวลาต้องเปลี่ยน หรือเมื่อแพมเพิสนั้นเปียก
  • ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน ลูกน้อยจะแสดงอาการ หรือสัญญาณของความพร้อม เมื่อพวกเขาฉี่หรือแพมเพิสเปียกในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันในแต่ละวัน
  • ความอยากรู้อยากเห็น ตัวบ่งชี้อีกอย่างหนึ่งคือความอยากรู้เกี่ยวกับห้องน้ำ ชักโครกหรือ กระโถน ซึ่งอาจแสดงออกมาเป็นความสนใจในพฤติกรรมการใช้
  • ผ้าอ้อมแห้งเป็นเวลานาน ลูกสามารถอยู่ได้นานขึ้นโดยไม่ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม

10 เคล็ดลับ ฝึกลูกเลิกแพมเพิส ฝึกยังไงให้ได้ผล ?

เมื่อคุณแม่เห็นสัญญาณความพร้อมของลูกแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการฝึกลูกเลิกแพมเพิสได้เลย ซึ่งการเปลี่ยนจากแพมเพิสมาสู่การใช้กระโถนหรือเข้าห้องน้ำของลูกน้อย ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปถ้าคุณพ่อคุณแม่มีเทคนิคและความอดทน มาเริ่มต้นไปด้วยกันค่ะ

1. สอนให้รู้จัก “อึ” และ “ฉี่”

ก่อนที่จะ ฝึกลูกเลิกแพมเพิส ต้องสอนลูกให้รู้จัก อึ ฉี่ ก่อนว่าคืออะไร และหากลูกน้องการ อึ หรือ ฉี่ ต้องบอกคุณแม่ก่อนนะ

2. ความพร้อมเรื่องการสื่อสาร

เมื่อลูกน้อยเริ่มพูดคุยโต้ตอบได้ ก็เป็นช่วงเวลาดีที่จะเริ่มทำความรู้จักกับห้องน้ำค่ะ ลองพาลูกไปนั่งบนโถชักโครกหรือกระโถนเด็กบ่อยๆ เพื่อให้ลูกคุ้นเคย ค่อยๆ สอนลูกให้รู้จักการขับถ่าย และคุณแม่เองต้องใจเย็นด้วยนะคะ ไม่ควรใช้การบังคับ

3. สังเกตและคอยถามบ่อยๆ

การสังเกตพฤติกรรมของลูกเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกได้ว่า ลูกต้องการอะไร เพราะบางครั้งลูกอาจจะยังไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ชัดเจน ลองสังเกตดูนะคะว่าลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เช่น หน้าแดง มีท่าทางรีบเร่ง เริ่มกระสับกระส่าย เดินวนไปวนมา อาจเป็นสัญญาณบอกว่าลูกอยากเข้าห้องน้ำแล้วก็ได้ค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

4. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝึก

ในช่วงแรกของการฝึกคือในช่วงตอนกลางวัน เพราะคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดได้สะดวกกว่า และให้ลูกใส่กางเกงแทนการใส่แพมเพิส เมื่อลูกเริ่มมีทักษะและความเข้าใจเรื่องการเข้าห้องน้ำในระดับหนึ่ง แล้วจึงค่อยฝึกเลิกผ้าอ้อมในช่วงกลางคืนค่ะ

5. พาลูกเข้าห้องน้ำบ่อยๆ

คุณแม่ต้องค่อยๆ สอนลูกให้รู้จักบอกว่าอยากเข้าห้องน้ำนะคะ หรือพาลูกเข้าห้องน้ำเป็นประจำทุก 1-2 ชั่วโมง จะช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับการเข้าห้องน้ำและจำได้ว่าเวลาอยาก ฉี่ หรือ อึ ต้องไปที่ห้องน้ำค่ะ

6. เล่าเรื่องเกี่ยวกับห้องน้ำให้ลูกฟัง

คุณแม่ลองหาหนังสือนิทานที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการฝึกเข้าห้องน้ำมาอ่านให้ลูกฟังหรืออาจพาลูกเข้าห้องน้ำพร้อมกัน ลูกจะได้คุ้นเคยว่าเมื่อปวดฉี่หรือปวดอึต้องไปห้องน้ำนั่งโถส้วม ลูกจะได้เรียนรู้ และเกิดการซึมซับพฤติกรรมไปในตัวค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

7. ให้ลูกเลือกกระโถนเอง

การที่ให้ลูกได้เลือกกระโถนที่จะใช้ด้วยตัวเอง หรือพยายามเลือกอันที่ลูกนั่งสบายๆ เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ฝึกให้ลูกนั่งกระโถน ลูกจะได้ไม่รู้สึกอึดอัดและเกิดความคุ้นเคยในการนั่ง

8. วางกระโถนไว้ใกล้ตัว

การวางกระโถนไว้ในที่ที่ลูกเห็นชัดๆ ให้กระโถนเป็นเพื่อนคู่ใจของลูกเลยค่ะ วางไว้ใกล้ๆ ตัวลูก จะได้หยิบมาใช้ได้ง่ายๆ เวลาลูกปวดฉี่หรือปวดอึ จะได้รู้สึกปลอดภัยและไม่กดดันเวลาอยากเข้าห้องน้ำนะคะ

9. ก่อนนอนให้ลูกฉี่หรืออึก่อนทุกครั้ง

ในทุกๆ คืนก่อนเข้านอน คุณแม่ควรพาลูกเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนเสมอ แต่ถ้าวันไหนคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่า วันนี้ลูกกินน้ำเยอะ อาจจะปลุกพาลูกเข้าห้องน้ำระหว่างคืนด้วยก็ได้นะคะ ป้องกันไม่ให้ลูกฉี่รดที่นอน และฝึกวินัยไปในตัว

10. ให้กำลังใจลูก

การให้กำลังใจและคำพูดชมเชย เมื่อลูกสามารถทำได้ในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการพูดบอกของลูกว่า ปวดฉี่ ปวดอึ หรือการนั่งกระโถนได้ เป็นสิ่งที่ดีมากนะคะ ต้องให้กำลังใจทุกครั้ง และไม่ควรดุเมื่อลูกเข้าห้องน้ำไม่ทัน หรือนั่งกระโถนไม่ทัน และควรบอกลูกว่า ไม่เป็นไร ครั้งต่อไปค่อยเริ่มกันใหม่นะคะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ฝึกลูกเลิกแพมเพิส ตอนกลางคืนยังไงให้ได้ผล ?

การฝึกให้ลูกเลิกแพมเพิสหรือผ้าอ้อมตอนกลางคืน หลังจากที่ลูกสามารถควบคุมการขับถ่ายในช่วงเวลากลางวันได้แล้ว การฝึกตอนกลางคืนก็จะตามมา ซึ่งอาจต้องใช้เวลาและความอดทนมากกว่า แต่ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับได้อย่างแห้งสนิทค่ะ วิธีนี้ลองทำตามกันได้นะคะ

  • สังเกตความพร้อมของลูก

การที่จะ ฝึกลูกเลิกแพมเพิส ตอนกลางคืน นั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจจังหวะ และเวลาที่เหมาะสม ในการเริ่มต้นฝึก ให้ลูกเลิกแพมเพิสตอนกลางคืน ซึ่งโดยปกติแล้ว เด็กๆ จะพร้อมให้คุณเริ่ม ฝึกลูกเลิกแพมเพิส ตอนกลางคืน เมื่อเค้าอายุได้ราว 3 ขวบครึ่ง

ทั้งนี้ ต้องฝึกเลิกแพมเพิสตอนกลางวันก่อน เด็กจะสามารถบอกว่า ต้องการปัสสาวะได้ตั้งแต่ 2 ขวบ ยังไม่จำเป็นต้องเร่งฝึกในตอนกลางคืนค่ะ เมื่อลูกเลิกแพมเพิสตอนกลางวันได้แล้ว จึงฝึกเลิกแพมเพิสตอนกลางคืนในภายหลัง

  • เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม

เตรียมอุปกรณ์เพื่อความพร้อมและความสะดวก เช่น กระโถน หรือที่รองชักโครกน่ารักๆ ทิชชู่เปียก กางเกงชั้นใน รวมถึง ของเล่น หรือ หนังสือไว้ให้พร้อม หากต้องลุกขึ้นมาฉี่ตอนกลางคืน ควรจัดห้องให้ลูกสามารถขึ้นลงเตียงได้ง่าย หรืออาจวางกระโถนไว้ข้างเตียง สามารถมองเห็นได้ตอนกลางคืน และสามารถหยิบมาใช้ได้ทันที

  • ไม่ต้องปลุกลูกกลางดึก

คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องปลุกลูกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางดึกนะคะ ลูกจะได้นอนหลับยาวได้เต็มที่ เพราะจะมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของลูก โดยเราจะรู้ว่าลูกกลั้นปัสสาวะได้แล้วก็ต่อเมื่อ ลูกสามารถนอนได้ยาว ไม่ปัสสาวะรดที่นอนอีก

  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอน

การดื่มน้ำก่อนนอนจะทำให้ลูกปวดฉี่กลางดึกได้ ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอน และควรพาลูกไปเข้าห้องน้ำ หรือนั่งกระโถนอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน และทำอีกครั้งก่อนดับไฟ

  • ใช้ผ้ารองที่นอนกันฉี่

แผ่นรองฉี่เด็ก เป็นของที่จำเป็นอย่างมาก สำหรับการฝึกลูกเลิกแพมเพิสตอนกลางคืน เพราะในช่วงแรกของการฝึก ลูกอาจฉี่รดที่นอนเป็นเรื่องปกติ คุณพ่อคุณแม่จึงควรปูผ้ารองที่นอนกันฉี่เอาไว้ เพื่อไม่ต้องยุ่งยากกับการยกที่นอนไปตากค่ะ

  • ยอมรับและชื่นชม

การฝึกลูกฉี่ตอนกลางคืน ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็ก หากคืนไหนที่ลูกฉี่รดที่นอน คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่โกรธลูก ไม่ทำให้ลูกรู้สึกผิดที่ฉี่รดที่นอนนะคะ และเมื่อลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมการฉี่ในเวลากลางคืนได้แล้ว ควรชื่นชม กอดลูก และทำให้ลูกเห็นว่าคุณแม่มีความสุขและภาคภูมิใจในตัวเขา

 

ฝึกลูกเลิกแพมเพิส ต้องใช้ความอดทนและความสม่ำเสมอ เหมือนการสอนให้ลูกขี่จักรยานเลยค่ะ อย่าเพิ่งท้อใจถ้าลูกยังทำผิดพลาดบ้าง เพราะเด็กทุกคนเรียนรู้ในแบบของตัวเอง เมื่อลูกทำได้สำเร็จ อย่าลืมชมเชยและให้กำลังใจลูกเยอะๆ นะคะ

ที่มา : Parents , youngciety , New Health Advisor

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

7 เทคนิค ! ฝึกลูกทำงานบ้าน ช่วยพัฒนา EF ทักษะสำคัญของการใช้ชีวิต

10 บันไดชักโครก สำหรับเด็ก ฝึกลูกน้อยใช้ห้องน้ำให้ถูกสุขลักษณะ !

อยากฝึกลูกนั่งกระโถนต้องเริ่มอย่างไร และควรเริ่มฝึกลูกตั้งแต่อายุเท่าไหร่ดี?

บทความโดย

yaowamal