มลพิษทางอากาศ มาจากไหน จะป้องกันตัวเองจากมลพิษทางอากาศได้อย่างไร

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

มลพิษทางอากาศ เป็นสิ่งที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมือง ที่มีความเจริญและมีแหล่งที่ตั้งของโรงงานอยู่เยอะ มลพิษทางอากาศมาจากไหน จะป้องกันตัวเองยังไงได้บ้าง วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟัง

มลพิษทางอากาศ มาจากไหน

มลพิษทางอากาศเป็นมลพิษที่ลอยอยู่ในอากาศ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และโลก และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รวมทั้งทำให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ปอดทำงานได้แย่ลง ภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรืออาการหอบหืดกำเริบ ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็ยังชี้อีกว่า มลพิษทางอากาศอาจทำให้เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน เกิดภาวะการอักเสบในร่างกาย เป็นโรคอัลไซเมอร์ และทำให้มีภาวะสมองเสื่อมได้ด้วย โดยมลพิษทางอากาศที่ถือว่าอันตรายนั้น คือ ฝุ่น PM2.5 ที่เรารู้จักกันนั่นเอง โดยถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็ง และทำให้มีภาวะแทรกซ้อน ที่อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่แย่ลงอีกด้วย ซึ่งทุก ๆ ปี จะมีคนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 7 ล้านคนทั่วโลก

หากถามว่ามลพิษอากาศมาจากไหน สาเหตุหลัก ๆ ก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากมนุษย์ ในแต่ละวัน มนุษย์ใช้พลังงานและผลิตสิ่งต่าง ๆ ออกมาจากโรงงานมากมาย ซึ่งการเผาไหม้จากโรงงาน ทำให้เกิดแก๊สและสารเคมีที่ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า จนเกิดเป็นมลพิษ แถมนี่ ยังทำให้โลกร้อนขึ้นอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกรัก เสริมเกราะป้องกันในช่วง โควิด-19 และฝุ่น PM 2.5

มลพิษทางอากาศ มีอยู่ทุกที่

มลพิษทางอากาศ มีกี่ประเภท

มลพิษทางอากาศอาจแบ่งออกได้ ดังนี้

1. หมอกควันและเขม่า

เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด เกิดจากการใช้ยานพาหนะตามท้องถนน และการเผาไหม้จากโรงงาน โดยที่หมอกและเขม่าควันเหล่านี้ จะอยู่ในรูปแบบละอองอนุภาคเล็ก ๆ และสามารถเข้าไปในปอดและกระแสเลือดของมนุษย์ได้ จนทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ ภาวะหัวใจวาย และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

นอกจากนี้ มลพิษจากหมอกควัน ยังทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ตาและลำคอได้ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับมลพิษดังกล่าว คือคนที่ใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้ง ผู้ที่ออกกำลังกายตามสวนสาธารณะหรือนอกบ้าน เด็ก ๆ และผู้สูงอายุ ซึ่งหากคนไหนเป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว ก็อาจทำให้อาการกำเริบได้ง่าย

2. สารเคมีอันตราย

เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายมาก และส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง ถึงแม้ว่าจะสูดดมเข้าไปในปริมาณน้อย ซึ่งได้แก่ปรอท ตะกั่ว ไดออกซิน และเบนซิน ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มักมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน การเผาขยะหรือของเสีย หรือการใช้น้ำมันเบนซิน โดยอาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณตา ผิวหนัง และปอด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนไดออกซินนั้น เป็นสารเคมีที่มีอยู่ในอากาศไม่มากนัก แต่หากได้รับเข้าไปในร่างกาย ก็อาจส่งผลเสียต่อตับ เป็นอันตรายต่อระบบภูมิคุ้มกันประสาท ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบสืบพันธุ์ได้

นอกจากนี้ สารเคมีกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอนหรือ PAH ที่มาจากการใช้รถของมนุษย์และควันไฟป่า ก็ยังอันตรายต่อระบบเลือดและตับ หรืออาจทำให้เป็นแต่มะเร็งได้ด้วย ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า เด็กที่ได้รับสารเคมีกลุ่ม PAH ตอนที่อยู่ในท้องแม่  มีพัฒนาการด้านสมองช้า และเป็นโรคสมาธิสั้น 

3.  ก๊าซเรือนกระจก

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น และน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย ซึ่งก๊าซดังกล่าวนี้ เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซมีเทน ทั้งจากแหล่งธรรมชาติ โรงงานอุตสาหกรรม และการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ โดยเมื่อปี 2559 140 ประเทศทั่วโลก ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อช่วยลดการใช้สารเคมีเหล่านี้ และหาพลังงานอย่างอื่นมาทดแทน

4. ละอองเรณูและเชื้อรา

ละอองเรณูจากดอกไม้และเชื้อรา ไม่ได้เกิดจากมนุษย์ แต่เมื่อสูดดมเข้าไปในร่างกายแล้ว ก็อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ จึงถือว่าเป็นมลพิษทางอากาศชนิดหนึ่ง ซึ่งละอองเรณูและเชื้อรา อาจทำให้เกิดอาการหอบหืด หรือเป็นภูมิแพ้ รวมทั้งยังทำให้เป็นไข้ น้ำมูกไหล ระคายเคืองบริเวณดวงตา และมีอาการอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเรือนกระจก ก็ยังทำให้ละอองเรณูเกิดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะสูดดมละอองเรณูเข้าไปในร่างกายจึงมากขึ้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความที่เกี่ยวข้อง : ค่าฝุ่นละออง กทม. PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ควรสวมใส่หน้ากากป้องกัน คนท้อง ทารก เลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง

มลพิษทางอากาศ ทำให้น้ำมูกไหล อันตรายต่อคนที่เป็นภูมิแพ้

ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจากมลพิษ

เมื่อร่างกายได้รับมลพิษทางอากาศเข้าไปจำนวนมาก อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ดังนี้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

1. เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มลพิษทางอากาศอาจส่งผลเสียต่อปอด จนทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

2. เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อสูดดมละอองที่เป็นอันตรายเข้าไป อาจทำให้หลอดเลือดทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ที่สูดดมอากาศเสียเข้าไปทุกวัน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองเพิ่มขึ้น และจากรายงานของ National Toxicology Program (NTP) ยังชี้อีกว่า มลพิษทางอากาศ ยังสามารถทำให้หญิงตั้งครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือเสียชีวิตได้

3. เป็นโรคมะเร็ง จากงานวิจัยที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ โดยมีผู้หญิงมากกว่า 57,000 เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้กับถนน มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม มากกว่าคนที่บ้านอยู่ไกลจากถนน นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอื่นชี้ว่า สารเมทิลีนคลอไรด์ ที่พบในผลิตภัณฑ์ลบสีหรือสเปรย์ ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีดูแลเมื่อลูกมีอาการแพ้ฝุ่น

เราทำอะไรเพื่อตัวเองและโลกได้บ้าง

แม้ว่าเราจะไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดมลพิษทางอากาศได้ แต่เราสามารถทำสิ่งที่เราพอจะทำได้ เพื่อช่วยลดการเกิดมลพิษ และสามารถป้องกันตัวเองได้จากอากาศเสีย ด้วยการทำตามวิธีต่อไปนี้

  • หากชอบไปออกกำลังในสวนสาธารณะ ให้เลือกสวนสาธารณะที่ไม่ติดถนน เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมีจากท่อไอเสียเข้าไปในร่างกาย
  • ติดตามข่าวอยู่เสมอ เพื่อดูว่าในแต่ละวันมีมลพิษทางอากาศมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านในวันที่อากาศไม่ดี
  • ลดการใช้น้ำมันเบนซิน เพื่อไม่ให้เกิดการเผาไหม้สู่ชั้นบรรยากาศ โดยอาจหันมาใช้รถสาธารณะ ติดรถไปกับเพื่อนหากต้องไปที่เดียวกัน ขี่จักรยาน หรือเดินแทนก็ได้
  • วันไหนที่มีมลพิษทางอากาศมากผิดปกติ ให้ปิดหน้าต่างให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มลพิษเล็ดลอดเข้ามาในบริเวณที่อยู่
  • ทาครีมกันแดด เพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตจากชั้นโอโซน ที่อาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้
  • ลดการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น หรือถอดปลั๊กทุกครั้งหลังการใช้งาน
  • หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานกังหันลม เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้าน
  • เลือกซื้ออาหารที่ผลิตในท้องถิ่น หรือในหมู่บ้าน เพื่อช่วยลดการขนส่งอาหารจากต่างจังหวัด
  • หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการเผาไหม้ขยะหรือของเสีย หรือบริเวณที่มีโรงงานอยู่
  • งดการเผาไหม้ขยะหรือของเสีย เพื่อลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • เติมน้ำมันรถในตอนเย็น เพราะเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อน
  • ใช้ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5
  • หมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับมลพิษ

มลพิษทางอากาศ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และมีอยู่ทุกที่ โดยเราอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ หากเราไม่สามารถบังคับให้คนอื่นเลิกก่อมลพิษทางอากาศได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือการเริ่มจากตัวเราเอง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราและคนในครอบครัว

บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝุ่นละออง pm 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน วิธีป้องกันฝุ่นละอองในอากาศ อาการแบบไหนต้องหาหมอ

ที่มา : eea.europa.eu , unece.org , nrdc.org , niehs.nih.gov , solarimpulse.com , epa.gov

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

Kanokwan Suparat