9 วิธีสร้างสายสัมพันธ์พ่อลูก เคล็ดลับง่ายๆ ทำได้ทุกวันตั้งแต่ในท้อง

สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาการของทารกไม่แพ้คุณแม่นะคะ มาดูเคล็ดลับพัฒนาความสัมพันธ์ของคุณพ่อกับทารกน้อยกัน
การสร้างสายสัมพันธ์กับลูกนั้นเป็นเรื่องสำคัญของทั้งคุณแม่และคุณพ่อค่ะ ซึ่งสายสัมพันธ์ระหว่าง “พ่อ” กับ “ลูก” เป็นสายใยรักอันทรงพลังที่ส่งผลต่อพัฒนาการในทุกด้านของลูกน้อยเช่นเดียวกัน และการเริ่มต้นสร้างสายสัมพันธ์นี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น และมั่นใจในการเติบโตในโลกใบนี้ เรามี 9 วิธีสร้างสายสัมพันธ์พ่อลูก เคล็ดลับง่ายๆ ที่สามารถทำได้ทุกวัน เพื่อสร้างความผูกพันที่แน่นแฟ้นกับลูกตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์จนถึงวัยกำลังเรียนรู้โลกค่ะ
▼สารบัญ
ความสำคัญของการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก
สายสัมพันธ์พ่อลูกเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการในทุกด้านของลูกน้อยค่ะ ทั้งด้านอารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมถึงความเชื่อมั่นในตนเอง แม้คุณแม่จะมีบทบาทของผู้ให้กำเนิดและให้นม จนดูเหมือนคุณแม่เป็นศูนย์กลางของความผูกพันในช่วงแรกเกิดของลูกน้อย แต่คุณพ่อก็สามารถสร้างสายใยรักอันแข็งแกร่งกับลูกน้อยได้ในแบบฉบับของตัวเองเช่นกัน ซึ่งเริ่มทำได้ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์
ทั้งนี้ มีการศึกษาวิจัยจากนักมานุษยวิทยาชีววิทยา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่า หนึ่งในความกังวลอย่างยิ่งของคุณพ่อในช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งช่วงระยะแรกของการเลี้ยงลูก ก็คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก ซึ่งมีการแนะนำ วิธีสร้างสายสัมพันธ์พ่อลูก แบบง่ายๆ ที่คุณพ่อสามารถทำได้ไว้ด้วย โดยให้เริ่มจาก ทำความเข้าใจก่อนว่าสร้างสายสัมพันธ์พ่อลูกนั้น “ต้องใช้เวลา” ซึ่งสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและทรงพลังกับลูกๆ นั้นคุณพ่อทำได้แน่ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าคุณแม่เล็กน้อย ซึ่งโดยเฉลี่ยอาจใช้เวลาราว 6 เดือนค่ะ
9 วิธีสร้างสายสัมพันธ์พ่อลูก เคล็ดลับที่คุณพ่อทุกคนทำได้!
คุณพ่อไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อยผ่านการให้นมจากเต้าได้เหมือนคุณแม่ก็จริงค่ะ แต่คุณพ่อก็สามารถทำทุกอย่างเหมือนคุณแม่ได้นะคะ ทั้งการอุ้ม กอด ปลอบประโลมเวลาลูกร้องไห้ การเล่นกับลูก สอนการบ้าน และพาลูกเข้านอน เป็นต้น ซึ่งเรามี 9 วิธีสร้างสายสัมพันธ์พ่อลูก ให้เกิดขึ้นได้ ดังนี้ค่ะ
-
เริ่มต้นให้เร็ว ตั้งแต่ตั้งครรภ์
การสร้างสายสัมพันธ์พ่อลูกตั้งแต่ก่อนคลอดจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณพ่อได้ดียิ่งขึ้นเมื่อลูกน้อยเกิดค่ะ ซึ่งทารกจะสามารถได้ยินเสียงจากภายนอกมดลูกได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 18 สัปดาห์ ดังนั้น คุณพ่อควรมีเวลาคุณภาพในแต่ละวันเพื่อพูดคุย ร้องเพลง และอ่านหนังสือให้ลูกน้อยในท้องฟัง จะช่วยให้ลูกจำเสียงพ่อได้ นอกจากนี้ การไปฝากครรภ์กับคุณแม่ทุกครั้ง การได้เห็นลูกจากอัลตราซาวนด์ รวมถึงเข้าฟังการอบรมความรู้ต่างๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ก่อนคลอด จะช่วยให้คุณพ่อสร้างความรักความผูกพันกับลูก และรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกหลังคลอดมากขึ้นด้วยค่ะ
-
กอดลูกทันทีหลังคลอด
การได้สัมผัสและโอบกอดลูกน้อยทันทีหลังคลอดจะช่วยให้ลูกจำสัมผัสนั้นของคุณพ่อได้ ลูกน้อยจะได้ยินเสียงหัวใจและเรียนรู้กลิ่นของคุณพ่อ เช่นเดียวกับตอนที่คุณแม่ให้นม ดังนั้น อย่าลืมใช้ทุกโอกาสที่ทำได้เพื่อให้ลูกน้อยได้ซบอยู่บนหน้าอกของคุณพ่อนะคะ เพราะไม่เพียงกระชับความรู้สึกของการได้ใกล้ชิดกันแต่ยังช่วยให้ผ่อนคลายได้ทั้งคู่ด้วยค่ะ
-
ลูกไม่ต้องการความสมบูรณ์แบบ
วิธีสร้างสายสัมพันธ์พ่อลูก ที่ต้องทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ อย่าคิดว่าทารกมีแต่ความบอบบาง จนไม่กล้าแตะต้องตัวลูก หรือไม่กล้าทำอะไรให้ลูกนะคะ ต่อให้คุณพ่อจะใส่ผ้าอ้อมให้ลูกได้ไม่พอดีเป๊ะเหมือนที่คุณแม่ทำ อย่างมากคนที่อุ้มลูกก็จะเลอะอึหรือฉี่ของลูก ล้างออกก็จบ แล้วใส่ใหม่ให้ถูกต้องเท่านั้นเองค่ะ ดังนั้น อย่าพลาดที่จะเรียนรู้วิธีอาบน้ำ อุ้มลูก จับเรอ ล้างก้น เปลี่ยนผ้าอ้อม พร้อมๆ กันกับคุณแม่ เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์จากความรู้ตรงนี้ในการดูแลลูกน้อยรวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระของภรรยาด้วยค่ะ
-
ลองอุ้มลูกแบบจิงโจ้
การอุ้มลูกแบบจิงโจ้ ให้เนื้อแนบเนื้อบนหน้าอกของคุณพ่อ (หรือคุณแม่) โดยให้ลูกใส่ผ้าอ้อมผืนเดียว จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกสบายและผ่อนคลาย เนื่องจากเคยชินกับการเคลื่อนไหวขึ้นลงของหน้าอกพ่อแม่เวลาหายใจเข้าออก และได้ยินเสียงหัวใจจากหน้าอกของคุณพ่อคุณแม่ด้วยค่ะ
-
สัมผัสลูกบ่อยๆ
สัมผัสลูกบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด เพราะการสัมผัสจะช่วยให้คุณพ่อและลูกน้อยใกล้ชิดกันมากขึ้น พยายามอุ้มลูกให้บ่อยที่สุด ลูบหลังลูกเบาๆ โยกตัวไปมาอย่างแผ่วเบาเพื่อกล่อมลูก ยิ่งเกิดการสัมผัสมากเท่าไร ความผูกพันจะเกิดมากขึ้นเท่านั้นค่ะ หรืออาจลองจัดสรรเวลาทำกิจกรรม “การนวดทารก” ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างสายสัมพันธ์ผ่านการสัมผัส เนื่องจากระหว่างการนวดร่างกายของคุณพ่อและลูกจะปล่อยฮอร์โมนแห่งความสุข “ออกซิโทซิน” ออกมา ยิ่งช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดีค่ะ อีกทั้ง คุณพ่อเองก็สามารถประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้เช่นกัน การนวดจึงเป็นตัวช่วยที่ดีในการปรับปรุงอารมณ์ของคุณพ่อได้ค่ะ
-
ใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด
คุณแม่นั้นไม่ได้ผูกพันแน่นแฟ้นกับลูกเพราะสัญชาตญาณนะคะ แต่เป็นเพราะการใช้เวลาอยู่กับลูกต่างหาก ลูกน้อยนั้นสามารถทำความสนิทสนมกับทุกๆ คนรอบตัวได้ คุณพ่อจึงสามารถสานสัมพันธ์ที่ดีกับลูกได้ด้วยการใช้เวลากับลูกให้มากที่สุดเช่นกัน โดยพ่อแม่ควรทำงานเป็นทีม ให้กำลังใจกันและกัน สร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้กัน ไม่เครียด และทำทุกช่วงเวลาที่อยู่ร่วมกันให้มีความสุขนะคะ
-
ไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ลูกสงบไม่ได้
อย่ากังวลว่าตัวเองไม่มีกลิ่นของน้ำนมเหมือนคุณแม่แล้วลูกจะเมินนะคะ เพราะคุณพ่อมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวหลายอย่างที่ทำให้ลูกหยุดร้องไห้ได้โดยไม่ต้องใช้เต้านมล่อเลยค่ะ เช่น มีมือที่ใหญ่และแข็งแรงกว่า จึงสามารถห่อตัวลูกด้วยผ้าได้อย่างกระชับ อุ้มลูกได้นาน รู้สึกเหนื่อยยากกว่า หรือแม้กระทั่งการเอาตัวลูกมาคว่ำขวางอยู่บนหน้าตักของพ่อก็จะช่วยแก้อาการปวดท้องของลูกได้ด้วย รวมถึงลูกอาจสงบเวลาได้ยินเสียงทุ้มๆ ของคุณพ่อเวลาร้องเพลงกล่อม หรือพูดคุยกับลูกด้วยนะคะ คุณพ่อทำได้ทั้งนั้นค่ะ
-
อนุญาตให้ตัวเองเป็นคุณพ่อสายสนุก
เมื่อลูกน้อยอายุได้ประมาณ 6 เดือน สายสัมพันธ์พ่อลูกจะก้าวไปสู่อีกระดับค่ะเนื่องจากลูกน้อยพร้อมที่จะ “เล่น” แล้ว รูปแบบการเล่นที่รวดเร็ว เข้มแข็ง แต่เต็มไปด้วยความครึกครื้นของคุณพ่อนี่แหละค่ะจะช่วยเพิ่มการปล่อยสารเคมีสร้างสายสัมพันธ์อย่าง ออกซิโทซิน โดพามีน และเบต้า-เอนดอร์ฟิน ซึ่งหมายความว่าทารกและคุณพ่อจะได้รับสารเคมีที่ทำให้รู้สึกดีอย่างท่วมท้นไปพร้อมกัน สร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ การประสานงานทางร่างกาย และทักษะทางสังคมของลูก ดังนั้น จงเป็นคุณพ่อที่พร้อมจะเล่นสนุกกับลูกทุกเมื่อนะคะ
-
มีกิจวัตรประจำ วิธีสร้างสายสัมพันธ์พ่อลูก
คุณพ่อที่รับอาสาทำหน้าที่พาลูกเข้านอนทุกวัน ทำกิจวัตรประจำวันก่อนนอนหลังจากดูดนมแม่เสร็จ เช่น อาบน้ำ เปลี่ยนชุดนอน เล่านิทานก่อนนอน ร้องเพลงกล่อมนอน จะทำให้มีช่วงเวลาพิเศษระหว่างพ่อกับลูกที่จะเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เมื่อลูกโตขึ้นการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันจะไม่ถูกลูกปิดกั้นค่ะ
สายสัมพันธ์ที่คุณพ่อมีกับลูกน้อยนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนะคะ โดยสายสัมพันธ์ที่คุณแม่และคุณพ่อมีกับลูกน้อยนั้นแตกต่างกันก็เพื่อสนับสนุนพัฒนาการของลูกน้อย ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดที่ด้อยกว่า ซึ่งความต่างนี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจถึงความหลากหลายของบุคคลและความสัมพันธ์ที่ลูกจะได้พบต่อไปในชีวิตนั่นเองค่ะ เป็นกำลังใจให้คุณพ่อทุกคนนะคะ
ที่มา : www.nct.org.uk , สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5 หน้าที่ พ่อลูกอ่อน เป็นพ่อคนแล้ว จะทำแบบเดิมไม่ได้แล้วนะ
ภรรยาท้อง สามีห้ามทำอะไรบ้าง ชวนคุณพ่อมือใหม่ มาเอาใจคุณแม่ท้องกัน!
7 สิ่งที่สามีควรรู้ เพื่อช่วยให้ภรรยามีสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง