วิธีล้างจมูกลูก ล้างจมูก ลดน้ำมูก ทารก แม่ทำได้ง่ายลูกไม่สำลัก (มีคลิป)

อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ผู้ใหญ่อย่างเรายังจาม ฮัดเช่ย ฮัดเช่ย ป่วยได้ง่าย ๆ ไม่แปลกที่ทารกน้อย ร่างกายบอบบางจะไม่สบาย ไข้ขึ้น น้ำมูกไหลย้อย

วิธีล้างจมูกลูก

มาดู วิธีล้างจมูกลูก ล้างจมูก ลดน้ำมูก ทารก ที่ทำได้ง่าย ๆ ไม่สำลัก พร้อมเคล็ดลับจากคุณแม่มือฉมังที่ล้างจมูกให้ลูกจนชำนาญกันค่ะ

คุณแม่ Aem Nisachon สมาชิกเฟซบุ๊กกลุ่ม หนูน้อยปีระกา 2560 ได้โพสต์คลิปล้างจมูกลูก ล้างจมูกทารก ลดน้ำมูก ให้ลูกน้อยหายใจโล่ง สบายตัว!

www.facebook.com/chillchill.aemiiz/videos/1500489956693581/

คุณแม่บอกว่า ปกติแล้วจะล้างจมูกให้กับน้อง เฉพาะช่วงที่ลูกเป็นหวัด มีน้ำมูกไหล จุดเริ่มต้นคือ น้องเคยไม่สบายตอนอายุได้ 4 เดือน แม่ก็พาไปหาหมอ แล้วคุณพยาบาลก็สอนวิธีล้างจมูกลูกให้

"ช่วงแรก ๆ ก็ช่วยกัน 2 คนกับสามี มาตอนหลัง น้องเริ่มเก่งไม่ดิ้น แม่เลยทำคนเดียวค่ะ แถมบางครั้งน้องยังร้องจะให้ล้างอีก แม่นี่งงเลยค่ะ"

สำหรับน้องคนเก่งชื่อน้องสมายด์ อายุใกล้จะ 9 เดือนแล้ว ซึ่งน้องเริ่มเคยชินกับการถูกล้างจมูกแล้วค่ะ ส่วนเคล็ดลับในการล้างจมูกให้ไม่สำลัก คุณแม่บอกว่า ต้องค่อย ๆ หัดให้น้องเคยชินกับการล้างจมูกเสียก่อน ตอนนี้แม่จะเริ่มให้จังหวะเพื่อให้น้องฮึบ หรือกลั้นหายใจ เช่น บอกน้องว่า แม่จะเอาแล้วนะ นับ 1 2 3 แล้วฉีดน้ำเกลือ วิธีนี้จะทำให้น้องกลั้นหายใจ ไม่สำลักค่ะ

ที่มา : หนูน้อยปีระกา 2560

 

อ่านวิธีล้างจมูกเพื่อล้างจมูกลดน้ำมูกให้ทารก ต่อหน้าถัดไป

วิธีล้างจมูก ลดน้ำมูก ทารก

รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน แนะนำว่า การล้างจมูก กำจัดน้ำมูกในทารก มีด้วยกัน หลากหลายวิธี ตามปริมาณน้ำมูก และอายุของทารก ได้แก่

  1. การหยอดน้ำเกลือ ทำได้โดยหยอดน้ำเกลือ (Normal saline) เข้าไปในรูจมูก ข้างละ 2-3 หยด เพื่อให้น้ำมูกที่เหนียวข้นและแห้งติดจมูกอ่อนตัวลง ไม่แห้งกรัง เหมาะกับเด็กเล็กที่มีปริมาณน้ำมูกไม่มาก โดยหลังจากหยอดน้ำเกลือแล้ว หากมีปริมาณน้ำมูกน้อยควรเช็ดจมูก เอาน้ำมูกออกด้วยไม้พันสำลี แต่หากมีปริมาณน้ำมูกมาก ควรดูดน้ำมูกออก ด้วยลูกยางแดงหรือเครื่องดูดต่อกับอุปกรณ์ดูดน้ำมูก
  2. การพ่นจมูก เป็นการกำจัดน้ำมูก โดยใช้อุปกรณ์พ่นน้ำเกลือแบบสเปรย์ เหมาะกับเด็กเล็กที่มีปริมาณน้ำมูกน้อย ไม่เหนียวข้นมาก มีข้อดีคือสามารถพกพาไปในที่ต่างได้สะดวก
  3. การล้างจมูกด้วยกระบอกฉีดยา เป็นการล้างจมูกที่สามารถทำได้โดยใช้น้ำเกลือปริมาณมาก จึงเหมาะกับการกำจัดน้ำมูกปริมาณมากที่ติดอยู่ในโพรงจมูก แบ่งตามอายุได้เป็น 2 วิธีการคือ

 

เด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน หรือมากกว่า 6 เดือนแต่ไม่ร่วมมือในการล้าง มีขั้นตอนดังนี้

  • ให้เด็กนอนในท่าศีรษะสูง เพื่อป้องกันการสำลัก
  • สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างที่จะล้าง โดยให้ปลายกระบอกฉีดยาชิดด้านบนรูจมูก
  • ค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกครั้งละประมาณ 1-5 ซี ซี หรือปริมาณมากที่สุดเท่าที่เด็กจะทนได้
    ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูกออก

 

เด็กทารกอายุมากกว่า 6 เดือน ที่เคยล้างจมูกมาก่อน สามารถให้ความร่วมมือได้ดี มีขั้นตอนดังนี้

  • ให้เด็กอยู่ในท่านั่ง ก้มหน้าเล็กน้อย
  • สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูก
  • ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกครั้งละประมาณ 1-5 ซี ซี หรือปริมาณมากที่สุดเท่าที่เด็กจะทนได้ จนน้ำเกลือและน้ำมูกไหลออกมาทางจมูกอีกข้างหนึ่ง
  • ล้างซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง จนไม่มีน้ำมูกออกมา

 

หมายเหตุ :

  • หากสวมจุกล้างจมูกไว้ที่ปลายกระบอกฉีดยา ก็จะสามารถเพื่อป้องกันปลายกระบอกฉีดยาทิ่มที่ผนังกั้นจมูกได้ ทำให้ล้างจมูกได้ง่ายขึ้น
  • การล้างจมูกด้วยขวดบีบขนาดใหญ่ ไม่แนะนำให้ใช้กับเด็กทารก เพราะมีแรงดัน และปริมาณน้ำเกลือเยอะ อาจสำลักได้ง่าย
  • การล้างจมูกเด็กเล็กวัยทารก ควรใช้กระบอกฉีดยาขนาดเล็กไม่เกิน 5 ซีซี ปริมาณน้ำเกลือน้อย เว้นช่วงให้เด็กหายใจ เพื่อป้องกันไม่ให้สำลัก

 

การล้างจมูกในทารกก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่?

อันตรายจากการล้างจมูกพบได้น้อยมาก ภาวะแทรกซ้อนที่มีรายงานจากการล้างจมูก ยกตัวอย่าง อาเจียนหรือสำลัก หรือเชื้อโรคเข้าไปในโพรงไซนัส สามารถป้องกันได้โดยการล้างจมูกอย่างถูกวิธี ในช่วงที่ท้องว่าง คือ ก่อนทานอาหาร หรือหลังทานอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อย อย่าปล่อยผ่าน เช็คสัญญาณก่อนเป็นโรคร้าย

5เคล็ดลับง่ายๆ ดูแลลูกน้อยอย่างไร ไม่ให้ป่วยหน้าหนาว

ไอ หายใจหวีด อาการของทารก ที่แม่ห้ามนิ่งนอนใจ ต้องรีบพาไปหาหมอ

 

บทความโดย

Tulya