วิธีทำความสะอาดลิ้นลูก แบบง่ายๆ ที่คุณแม่ก็ทำเองได้ที่บ้าน
วิธีทำความสะอาดลิ้นลูก
การทำความสะอาดลิ้นลูกช่วยป้องกันสารพิษที่จะเข้าสู่ร่างกายลูก และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับลูกน้อยอีกด้วย การทำความสะอาดลิ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กทารก เพราะเมื่อเด็กกินนม จะมีคราบสีขาวติดที่ลิ้น และคราบนี้เองเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แบคทีเรียนชั้นดี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกน้อย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรทำความสะอาดลิ้นทุกๆ 3 – 4 วันครับ
ประโยชน์ของการทำความสะอาดลิ้นให้ลูก
- ช่วยป้องกันสารพิษที่จะเข้าสู่ร่างกายลูก และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับลูกน้อย
- สร้างนิสัยรักความสะอาดให้ลูกตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็ก ช่วยทำให้สุขภาพปากและฟันของลูกแข็งแรง และป้องกันกลิ่นปากได้อีกด้วย
- อาหารที่ลูกกินจะไปสร้างแบคทีเรียบนลิ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อลูก ดังนั้น การทำความสะอาดลิ้นคือการป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่จะทำร้ายสุขภาพลูกได้อีกทางหนึ่ง
- การทำความสะอาดลิ้นช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมรับรสชาติของลูก ทำให้ลูกได้รับรู้รสชาติอาหารที่อร่อยขึ้น
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อหรือคุณแม่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ระหว่างทำความสะอาดลิ้นของลูก อย่าทำแรงเกินไปหรือนานเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับลูกน้อยนะครับ
วิธีทำความสะอาดลิ้นลูก
- คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ถุงมือที่ทำจากผ้าเนื้อนุ่ม หรือทำจากผ้าขนหนู
- ค่อยๆ เปิดปากของลูก โดยใช้ถุงมือเช็ดทำความสะอาดลิ้นจนสะอาด
- พยายามเบี่ยงเบนความสนใจลูก เช่น มีของเล่นล่อลูก เพื่อไม่ให้ลูกร้องไห้ หรือดิ้นไม่ยอมให้ทำความสะอาดลิ้น
ชมวิดีโอสาธิตวิธีการทำความสะอาดลิ้นลูกได้ที่นี่ครับ:
โดยปกติแล้วเราจะพบเชื้อราในช่องปากของลูกตั้งแต่แรกคลอด หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก เชื้อราที่พบนั้นเป็นการเกิดขึ้นจากธรรมชาติและจะหายไปได้เอง แต่สำหรับเชื้อราในช่องปากส่วนที่พบและต้องดูแลคือ พบเชื้อราเป็นฝ้าขาวจับตัวหนาอยู่ตามลิ้นของลูกดูแล้วมีปริมาณที่มากเกินไป คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลให้ดีเป็นพิเศษค่ะ
เชื้อราที่มักพบในปากลูก ส่งผลให้ลูกลิ้นเป็นฝ้าขาว มีดังนี้
- เชื้อราที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทำความสะอาดเพียงเล็กน้อยเชื้อราก็จะหายไปเองค่ะ
- เชื้อราที่เกิดจากการทำความสะอาดไม่ทั่วถึงจึงทำให้เกิดคราบสะสม ซึ่งคราบสะสมที่เกิดขึ้นนี้อาจเกิดจากนมที่ลูกกินเข้าไป จึงทำให้เกิดแบคทีเรียสะสมเป็นฝ้าหนาอยู่ที่ลิ้นของลูกนั่นเองค่ะ
- เชื้อราที่เกิดจากเชื้อโรคอันเนื่องมาจากการที่ลูกหยิบสิ่งของที่สกปรกเข้าปากทำให้ได้รับเชื้อและเกิดเป็นเชื้อราขึ้นได้ค่ะ
เชื้อราที่เกิดขึ้นในปากของลูกจะสังเกตได้ง่าย ๆ ดังนี้ ตามลิ้น กระพุ้งแก้มทั้ง 2 ข้าง ตามเหงือก ให้สังเกตว่ามีฝ้าขาวหนา ๆ อยู่ไหมถ้าเชื้อรามีเยอะหรือหนามาก เด็กจะมีอาการ งอแง กินนมได้น้อย กินอาหารเสริมได้น้อย น้ำหนักตัวลดอาการดังนี้แสดงว่าลูกเจ็บจากการที่เชื้อราจับตัวกันอยู่ในปากนั่นเองค่ะ
การดูแลป้องกันไม่ให้ลูกเป็นเชื้อราในปากมีดังนี้ค่ะ
- ทำความสะอาดช่องปากของลูกอย่างสม่ำเสมอ เช่น เช็ดช่องปากของลูก เช้า-เย็น หรือก่อนนอน
- ควรให้ลูกดื่มน้ำต้มสุกหลังกินนม หรือ หลังมื้ออาหารเสริมทุกครั้ง แล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตามค่ะ
- คุณแม่ที่ให้นมลูก ก่อนและหลังให้นมลูกควรทำความสะอาดหัวนมให้สะอาดอยู่เสมอค่ะ
- ของเล่นต่าง ๆ ของลูก ควรทำความสะอาดให้บ่อย เพราะเด็กในวัยนี้ชอบหยิบสิ่งของต่าง ๆ เข้าปากค่ะ
- ถ้าคุณแม่เริ่มเห็นว่าลูกมีลิ้นเป็นฝ้าขาว ให้รีบทำความสะอาดอย่าปล่อยทิ้งไว้จนหนา เพราะจะทำความสะอาดยากค่ะ
- ถ้าฝ้าที่ลิ้นของลูกหนามากทำความสะอาดบ่อยครั้งแล้วก็ยังไม่หาย ลูกเริ่มมีอาการเจ็บ หรือ งอแง ให้คุณแม่พาลูกไปพบหมอเพื่อหาวิธีการรักษาที่ถูกต้องค่ะ
วิธีการอีกแบบหนึ่งที่คนไทยนิยมทำเมื่อมีฝ้าขาวขึ้นที่ปากของลูกคือการกวาดยาค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องแน่ใจว่าการกวาดยานั้นสะอาดและปลอดภัยกับลูก ทางที่ดีควรปรึกษาคุณหมอถึงตัวยาที่จะนำมากวาดลูกดีกว่าค่ะ เพราะทุกสิ่งที่จะนำเข้าปากลูกเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมากถ้าทำไม่ถูกต้องปากลูกอาจเจ็บหรือเกิดแผลทำให้ติดเชื้อโรคบางอย่างได้ค่ะ
วิธีการดูแลช่องปากและฟันให้ลูกรักสำหรับคุณแม่มือใหม่
ฟันยังไม่ขึ้น
- นมแม่ล้วน ยังไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดช่องปากก็ได้ แต่เพื่อความคุ้นเคยคุณแม่สามารถเริ่มต้นทำความสะอาดช่องปากน้องตั้งแต่ตอนนี้ได้เลยนะคะ
- เด็กที่ลิ้นเป็นฝ้าขาวไม่ต้องกังวลเดี๋ยวจะหายเอง ไม่ใช้ฉี่เด็กหรือยาคูลท์ทำความสะอาดลิ้นเด็กนะคะ
- นมผง หรือ นมผงร่วมกับนมแม่ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วทำความสะอาดลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น
เด็กแต่ละคนฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นช้าเร็วแตกต่างกัน บางคนขึ้น 3 เดือนบางคนขึ้น 1 ขวบครึ่ง ไม่ต้องกังวลค่ะ เด็กที่ฟันใกล้ขึ้นจะมีน้ำลายเยอะชอบเอามือเข้าปาก อาจงอแงหรือตื่นบ่อยตอนกลางคืน อาจมีไข้ร่วมด้วยสังเกตเห็นสันเหงือกมีสีซีดๆ จับดูนูนๆ แข็งๆคุณแม่อาจบรรเทาอาการคันเหงือกของลูกโดยให้ลูกกัดยางกัดแช่เย็นหรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นที่สะอาดพันนิ้วเพื่อนวดเหงือกให้ลูกหากลูกงอแงเจ็บเหงือกมากให้กินยาลดไข้บรรเทาปวดได้และเริ่มทำความสะอาดช่องปากลูกได้เลยเพื่อสร้างความคุ้นเคย
ฟันเพิ่งขึ้นพ้นเหงือก หรือหลัง 6 เดือนที่เด็กเริ่มอาหารเสริมแล้ว
เริ่มทำความสะอาดฟันและช่องปากได้เลยฟันที่เพิ่งโผล่พ้นเหงือกจะใช้แปรงสีฟันทำความสะอาดไม่สะดวกอาจใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วเช็ดทำความสะอาดฟัน รวมทั้งลิ้น เหงือกกระพุ้งแก้ม วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็นเด็กที่ฟันเพิ่งขึ้นอาจมีเลือดออกขณะทำความสะอาดฟัน ไม่ต้องกังวลลูกไม่เจ็บค่ะ
ฟันขึ้นเกินครึ่งซี่แล้ว
เริ่มแปรงฟันลูกโดยเลือกแปรงสีฟันไนล่อน ขนนุ่ม หน้าตัดตรง ปลายขนแปรงกลมมนขนาดเล็กเหมาะกับปากลูก ด้ามจับตรงจับถนัดมือ และ ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็กได้เลย ใช้แค่พอแตะปลายขนแปรงลูกยังบ้วนปากไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ปริมาณยาสีฟันที่ใช้นั้นน้อยมากไม่อันตรายแปรงเสร็จเช็ดฟองส่วนเกินออกด้วยผ้าสะอาดหลังแปรงฟันงดน้ำงดอาหารครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
ข้อควรปฏิบัติอื่นๆ เพื่อป้องกันฟันผุให้ลูกรัก
- เมื่อลูกนั่งเองได้โดยไม่ต้องประคองให้ฝึกลูกดื่มน้ำหรือใช้หลอดดูดน้ำเพื่อหวังให้ลูกใช้แก้วน้ำเป็นและหย่าขวดนมได้ภายใน 1 ขวบถึง 1 ขวบครึ่ง
- เมื่อลูกอายุ 1 ขวบเป็นวัยที่กินอาหารครบ 3 มื้อและกินนมเป็นอาหารเสริมเริ่มฝึกให้ลูกหย่านมมื้อดึกหรือลดความถี่ในการกินนมมื้อดึกโดยเลือกวิธีที่เหมาะสมในแต่ละครอบครัวและเริ่มในช่วงเวลาที่พ่อแม่ลูกพร้อมนะคะ
- ฝึกให้ลูกกินอาหารครบทุกหมู่และหลากหลายฝึกลูกไม่ให้ติดหวานโดยไม่เติมน้ำตาลในนม เครื่องดื่ม หรืออาหาร
- พาลูกไปพบหมอฟันเพื่อตรวจฟันได้เลยเมื่อฟันซี่แรกขึ้นหรือไม่เกิน 1 ขวบเพื่อพูดคุยถึงแนวทางการป้องกันฟันผุที่เหมาะสมส่วนการเคลือบฟลูออไรด์หรือจ่ายฟลูออไรด์เม็ดหมอฟันจะพิจารณาตามความเสี่ยงฟันผุของเด็กแต่ละคนจากนั้นมาตรวจฟันตามหมอนัดอย่างสม่ำเสมอทุก 3-6 เดือนเพื่อคงสภาพช่องปากที่ดีและเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ลูกค่ะ
- แปรงฟันให้ลูกอย่างมีคุณภาพด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตั้งแต่ฟันซี่แรกทุกวันวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอนและพาลูกไปพบหมอฟันตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นหรือไม่เกิน 1 ขวบ ทำได้เท่านี้ก็ป้องกันฟันผุให้ลูกรักได้แล้วค่ะ ^ ^
ที่มา sg.theasianparent
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
ให้ลูกอาบน้ำต้มใบมะขามหัวหอม ช่วยแก้หวัดได้จริงหรือ
ตารางอาหารที่เด็กควรได้รับใน 1 วัน กินอย่างไรหลังหย่านม ให้ลูกฉลาดและแข็งแรง