วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีทสำหรับเด็ก คู่มือฉบับสมบูรณ์สำหรับพ่อแม่ชาวไทย

undefined

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเดินทางโดยรถยนต์ที่มีลูกน้อยร่วมทางด้วย คือ คาร์ซีท ค่ะ วันนี้เราจะชวนมาดู วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีทสำหรับเด็ก เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของลูกกัน

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ว่าจะในสถานที่ใด ความปลอดภัยของลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะในระหว่างการเดินทาง ซึ่งหนึ่งในวิธีการดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยขณะเดินทางก็คือ การเลือกใช้คาร์ซีทที่เหมาะสม แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ชาวไทยบางครอบครัว การใช้คาร์ซีทอาจดูเป็นเรื่องยุ่งยากเนื่องจากกฎหมายเรื่องการใช้คาร์ซีทเพิ่งมีการบังคับใช้ได้ไม่นานนัก อาจยังขาดความเข้าใจในหลักการพื้นฐานอยู่บ้าง ดังนั้น วันนี้ theAsianparent จะชวนมาทำความรู้จักคาร์ซีท รวมถึง วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีทสำหรับเด็ก คู่มือฉบับสมบูรณ์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ชาวไทย

วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีทสำหรับเด็ก

“คาร์ซีท” คืออะไร ทำความรู้จัก คาร์ซีทสำหรับเด็ก

คาร์ซีท (Car seat) คือ อุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อให้เด็กนั่งอย่างปลอดภัยขณะเดินทางในรถยนต์ โดยจะยึดติดกับเบาะรถยนต์ มีจุดล็อกที่นั่งนิรภัย ป้องกันไม่ให้เลื่อนไหล รวมถึงมีสายคาดซึ่งทำหน้าที่เป็นเข็มขัดนิรภัย (Seat belt) ให้เด็กด้วย

เนื่องจากที่นั่งและเข็มขัดนิรภัยของรถไม่เหมาะกับสรีระของเด็ก คาร์ซีทจึงถูกออกแบบมาเพื่อช่วยรองรับร่างกายของลูกน้อยให้คงที่ในขณะเกิดอุบัติเหตุ ลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บร้ายแรง เช่น ศีรษะกระแทก คอหัก หรือกระดูกหัก และป้องกันการเสียชีวิต ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้คาร์ซีทได้กับลูกตั้งแต่เป็นทารกไปจนถึงอายุ 12 ปี

ทำไมต้องใช้คาร์ซีท

ทำไม? ต้องใช้ คาร์ซีทสำหรับเด็ก

มีข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า การใช้ คาร์ซีทสำหรับเด็ก ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้มากถึง 70% โดยเด็กที่นั่งด้านหน้ารถและไม่ได้ใช้ คาร์ซีทสำหรับเด็ก มีความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากกว่าเด็กที่นั่งเบาะหลังของรถยนต์และใช้คาร์ซีทถึง 5 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจาก National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) สหรัฐอเมริกา พบว่า การเลือกคาร์ซีทที่ถูกต้องก็สำคัญเช่นกัน เพราะไม่ใช่แค่ให้ลูกนั่งคาร์ซีทก็พอ แต่ผลการศึกษาพบว่าการให้ลูกนั่งคาร์ซีทที่มีขนาดไม่พอดีตัว ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บจากการเกิดุบัติเหตุมากถึง 2 เท่าเช่นกัน

จากผลการศึกษาข้างต้นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม? ต้องใช้ คาร์ซีทสำหรับเด็ก ในขณะเดินทางด้วยรถยนต์ อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องความปลอดภัย การลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บข้างต้นแล้ว ยังมีเหตุผลในเรื่องของ “กฎหมาย” เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญด้วย ซึ่งหลายประเทศมีกฎหมายบังคับให้เด็กต้องนั่งในคาร์ซีทขณะเดินทางโดยรถยนต์ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

กฎหมายเกี่ยวกับข้อบังคับ เกี่ยวกับการใช้ คาร์ซีทสำหรับเด็ก

พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13)

ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123

 

  • ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่ในรถ
  • ผู้โดยสารที่อายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (คาร์ซีท) ซึ่งมี 2 แบบ ได้แก่
  1.  ชนิดนั่งหันไปทางด้านหลังรถ และชนิดนั่งหันไปทางด้านหน้ารถ
  2. ที่นั่งพิเศษแบบที่นั่งเสริมที่ไม่มีพนักพิง (Booster Seat)
  • ผู้โดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง

 

คาร์ซีทมีกี่แบบ วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีทสำหรับเด็ก ให้เหมาะกับลูกน้อย

ตามหลักกฎหมายในตารางข้างต้น จะเห็นได้ว่า คาร์ซีทสำหรับเด็ก ที่กำหนดให้ใช้ได้นั้นมี 2 แบบด้วยกัน คือ ชนิดนั่งหันไปทางด้านหลังรถและชนิดนั่งหันไปทางด้านหน้ารถ กับที่นั่งพิเศษแบบไม่มีพนักพิง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามการใช้งานแล้ว ต้องบอกว่าที่นั่งหรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็กนั้นมีหลายแบบ และหลายขนาดเลยค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับอายุ รวมถึงน้ำหนักและส่วนสูงของลูกน้อยด้วย ดังนี้

คาร์ซีท แบบหันหน้าเข้าหาเบาะ

  1. แบบหันหน้าเข้าหาเบาะ (Rearward Facing Seats)

เหมาะกับลูกน้อยวัยแรกเกิด – 2 ปี คาร์ซีทประเภทนี้จะสามารถปกป้องศีรษะ คอ และกระดูกสันหลังของทารกได้ดีกว่าคาร์ซีทที่หันไปด้านหน้า ซึ่งในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการติดตั้ง คาร์ซีทสำหรับเด็ก ไว้ตรงที่นั่งข้างคนขับ ต้องปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยเพื่อความปลอดภัยด้วยนะคะ

คาร์ซีท แบบหันหน้าออกจากเบาะ

  1. แบบหันหน้าออกจากเบาะ (Forward Facing Seats)

เป็นคาร์ซีทที่ออกแบบให้มีสายรัดจำกัดการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของลูกน้อยในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงมีสายรัดสำหรับการยึดที่นั่งไว้ด้วย เหมาะสำหรับเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 2-4 ปี

คาร์ซีทแบบ Booster

  1. แบบเสริม (Booster Seats)

เป็นคาร์ซีทสำหรับเด็กที่มีขนาดตัวโตเกินกว่าขนาดของคาร์ซีทธรรมดา แต่ยังไม่โตพอที่จะสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้เต็มที่ เหมาะกับลูกน้อยวัย 4-12 ปี เป็นคาร์ซีทที่จะช่วยเสริมก้นให้สูงขึ้น จนสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี ซึ่งสายคาดควรพาดผ่านกระดูกเชิงกราน หน้าอก และไหล่ของลูก ส่วนเข็มขัดคาดเอวควรพาดผ่านอุ้งเชิงกรานโดยให้เส้นทแยงมุมอยู่เหนือไหล่ ไม่ใช่ที่คอ

คาร์ซีทสำหรับเด็ก

วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีทสำหรับเด็ก

เมื่อเข้าใจความสำคัญของการใช้คาร์ซีท รวมถึงทำความรู้จักคาร์ซีทแต่ละประเภทไปแล้ว สิ่งสำคัญมากอีกอย่างคือต้องรู้ วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีทสำหรับเด็ก เพื่อให้สามารถป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วย ซึ่งมีปัจจัยต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณา คือ

  1. เลือกประเภทตามอายุ น้ำหนัก และขนาดตัวของลูก

นั่นคือเลือกตามประเภทของคาร์ซีท 3 ประเภทข้างต้น ได้แก่ แบบหันหน้าเข้าหาเบาะ แบบหันหน้าออกจากเบาะ และแบบบูสเตอร์ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกซื้อให้ถูกประเภท เหมาะสมกับวัยและขนาดตัวของลูก โดยควรเลือกซื้อคาร์ซีทที่สามารถปรับให้กระชับ ไม่แน่น อึดอัด หรือหลวมเกินไป

  1. เลือกจากการใช้งาน ติดตั้งถาวร หรือเคลื่อนย้ายได้

คือการพิจารณาเรื่องความถี่ของการใช้งานค่ะ ซึ่งการเลือกคาร์ซีทแบบติดตั้งถาวรจะเหมาะกับการใช้งานในระยะยาว กรณีลูกวัยก่อนเข้าเรียน วัยอนุบาล ที่ต้องเดินทางไปโรงเรียนบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจเลือกติดตั้งคาร์ซีทแบบติดตั้งถาวร ไม่ต้องถอดเข้าถอดออก และมีความปลอดภัยสูง แต่ข้อเสียคือมักจะหมุนไม่ได้ ส่วนคาร์ซีทแบบเคลื่อนย้ายได้จะใช้งานได้อิสระมากกว่า ซึ่งสามารถนำไปใช้กับรถเข็นเด็กได้ด้วยค่ะ

  1. มีสัญลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัยสากล

คุณค่าของ คาร์ซีท คือการเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ลูกน้อย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง “คุณภาพ” และ “มาตรฐาน” เป็นพิเศษ โดยควรเลือกซื้อคาร์ซีทสำหรับเด็กที่มีมาตรฐานสัญลักษณ์ความปลอดภัยสากล ได้แก่

  • UNr 129 หมายถึง คาร์ซีทได้รับการทดสอบแล้วว่าผ่านมาตรฐานการป้องกันการกระแทก จากด้านข้าง
  • ECE R44 เป็นมาตรฐานสำหรับคาร์ซีทของสหภาพยุโรป หมายถึง คาร์ซีทได้รับการทดสอบแล้วว่าผ่านมาตรฐานการป้องกันการกระแทกจากด้านหน้าและด้านหลังของตัวคาร์ซีทแล้ว
  • FMVSS 213 เป็นมาตรฐานจากประเทศสหรัฐอเมริกา หมายถึง คาร์ซีทได้รับการทดสอบแล้วว่าผ่านมาตรฐานของรัฐบาลกลาง โดยมีข้อกำหนดว่าทดสอบคาร์ซีทแบบ Frontal Sled Test เพื่อจำลองการชน
  1. มีความเหมาะสมกับรถยนต์ที่ใช้งาน

ไม่เพียงตัวลูกน้อยเท่านั้นนะคะ แต่คาร์ซีทควรต้องมีความเหมาะสมกับรถยนต์ที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ด้วย โดยสิ่งที่สำคัญคือการเช็กอุปกรณ์ติดตั้ง คือ เช็กคาร์ซีทว่าถูกออกแบบมาสำหรับเข็มขัดนิรภัยกี่จุด และรถที่ใช้สามารถติดตั้งได้ตามนั้นหรือไม่นั่นเอง

การติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็ก

วิธีติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็ก

Rearward Facing Seats 
  • สำหรับเด็กอายุไม่ถึง 2 ขวบ ควรติดตั้งคาร์ซีทแบบหันหน้าเข้าหาเบาะเสมอ
  • ห้ามติดตั้งคาร์ซีท Rearward Facing Seats ตรงที่นั่งข้างคนขับที่ไม่สามารถปิดการใช้งานของถุงลมนิรภัยได้
  • ติดตั้งคาร์ซีทประเภทนี้ตรงที่นั่งข้างคนขับได้ เฉพาะกรณีมีการปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยแล้วเท่านั้น
  • ต้องใช้สายรัดแบบ 3 จุดหรือ 5 จุดสำหรับเด็กอายุไม่ถึง 1 ขวบตามประเภทของเบาะรถยนต์
Forward Facing Seats
  • คาร์ซีทที่หันหน้าออกจากเบาะ ควรติดตั้งบริเวณที่นั่งผู้โดยสารเบาะหลัง
  • หากจำเป็นต้องติดตั้งคาร์ซีทประเภทนี้ที่เบาะหน้า ต้องปรับเบาะรถยนต์ให้ห่างจากถุงลมนิรภัยให้มากที่สุด
  • เด็กที่มีน้ำหนัก 9 – 12 กิโลกรัม และน้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม ควรใช้สายรัดแบบ 5 จุด
  • กรณีเด็กมีน้ำหนัก 22 – 36 กิโลกรัม ควรใช้สายรัดแบบ 3 จุด

 

ทั้งนี้ จุดติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็กในรถยนต์คือ “เบาะหลัง” ค่ะ โดยมีผลการศึกษาพบว่า หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เบาะหลังคือตำแหน่งที่คาร์ซีทจะได้รับแรงกระทบเทือนน้อยที่สุด ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรวางคาร์ซีทที่เบาะข้างคนขับเนื่องจากอาจมีความเป็นไปได้ที่ถุงลมนิรภัยจะบีบอัดกับตัวลูกน้อยหรือคาร์ซีท และตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ “ตรงกลางของเบาะหลัง” เพราะปลอดภัยจากแรงกระแทกต่างๆ ที่สุดค่ะ

 

“คาร์ซีท” ไม่ใช่แค่ที่นั่งสำหรับเด็กนะคะ แต่เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องลูกน้อยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นขณะเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ การเลือกคาร์ซีทที่เหมาะสมกับวัย น้ำหนัก และส่วนสูงของลูกน้อย จึงมีความสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บได้อย่างมาก หวังว่าบทความนี้จะเป็นคู่มือให้กับคุณพ่อคุณแม่ชาวไทยในการเลือกซื้อคาร์ซีทที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูก เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่จะได้รับการปกป้องอย่างดีที่สุดขณะเดินทางนะคะ

 

ที่มา : www.thaihealth.or.th , www.carsome.co.th , www.prachachat.net

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ปี 2025 เริ่มต้น เด็ก Gen Beta เด็กยุค AI ที่โลกไม่ควรละสายตา

พาลูกเที่ยวตอนกี่เดือน ทารกเดินทางได้ตอนกี่เดือน เคล็ดลับเดินทางครั้งแรกกับทารก

แจก 42 พิกัด เที่ยวงานวันเด็ก 2568 เรียนรู้สนุก กับกิจกรรมสุดสร้างสรรค์

เจ้าหนูจำไม ถามเก่ง ถามไม่หยุด พ่อแม่ควรรับมือยังไงดี

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!