กทม. เตือน มือเท้าปากระบาดหนัก
สถานการณ์ มือเท้าปากระบาดหนัก ขณะนี้ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ เขตปทุมวัน พญาไท หนอกจอก พบการระบาดของโรคค่อนข้างสูง
เมื่อวันก่อน นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อํานวยการสํานักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า สถิติการเจ็บป่วยด้วย “โรค มือ เท้า ปาก” ณ วันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยสะสมจํานวนสูงถึง 38,000 ราย โดยแยกเป็นผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร จํานวน 6,000 ราย แต่ปัจจุบันยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 0-4 ปี รองลงมา 5-9 ปี
โดยพื้นที่เขตพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก มากที่สุด ได้แก่ เขตหนองจอก เขตพญาไท และเขตปทุมวัน ตามลำดับ สำหรับโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่สามารถแพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบอัตราผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยแต่ละปีพบมีอัตราป่วยเฉลี่ยประมาณ 2,000 ต่อเดือน ส่วนแหล่งที่พบการระบาดของโรค คือ สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ทำให้สำนักอนามัยมีความห่วงใยสุขภาพอนามัยประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็กก่อนวัยเรียนที่มีอายุ 0-5 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หากเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้หากยังพบการระบาด ขอให้ประชาชนแจ้งหน่วยงานของ กทม.ทันที หรือติดต่อกองควบคุมโรคติดต่อ
ขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง
นพ.ชวินทร์กล่าวว่า ขณะเดียวกัน เพื่อป้องกันโรคมือ เท้า ปาก จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการเกิดโรคดังกล่าว โดยเบื้องต้นประชาชนสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
- กินร้อนช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังปัสสาวะ อุจจาระ และไม่กินน้ำแก้วเดียวกัน
- เข้มคัดกรอง เมื่อพบว่าเด็กมีไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล ไม่กินอาหาร แนะนำให้ตรวจในช่องปาก ลิ้นเหงือก กระพุ้งแก้มว่ามีตุ่มหรือแผลหรือไม่ และตรวจดูฝ่ามือ ฝ่าเท้าว่ามีตุ่มแดงหรือตุ่มพองใสหรือไม่ หากมีให้รีบแยกเด็กเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อทันที จากนั้นให้เด็กกลับบ้านและหยุดเรียนเป็นเวลา 7 วัน
- ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอื้ ราวบันได ลูกบิดประตู ห้องส้วมและเครื่องเล่นเด็ก โดยใช้ผงซักฟอกละลายน้ำเช็ด ตามด้วย น้ำยาคลอรอกซ์ หรือไฮเตอร์ โดยให้เช็ดอีกรอบทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ส่วนของเล่นที่เข้าปากใช้ผงซักฟอกเช็ด ล้างน้ำสะอาดแล้วผึ่งแดด
นอกจากนี้ นพ.ชวินทร์ยังได้กล่าวเพิ่มถึงเรื่องสถานรับเลี้ยงเด็กในข้อถัดไปว่า การปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรปิดเมื่อมีเด็กป่วยมากกว่า 2 รายในห้องเดียวกัน โดยปิดเฉพาะห้องที่เด็กป่วย 7 วัน และหากมีเด็กป่วยมากกว่า 5 คนในห้อง หรือมากกว่า 1 ห้อง ให้ปิดโรงเรียน 5 วัน และทำความสะอาดตามข้อ 3 พร้อมโทรแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุขหรือสำนักงานเขตที่ใกล้สถานศึกษา เพื่อเข้าควบคุมป้องกันโรค และหลังเปิดเรียน ให้เน้นคัดกรองเด็กป่วย
ที่มา : matichon.co.th
บทความอื่นที่น่าสนใจ
5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคมือเท้าปาก
หลอดลมฝอยอักเสบจากไวรัส RSV สาเหตุสำคัญของอาการหอบในเด็กเล็ก