ไกต์วอเตอร์ กินยังไง ถ้าให้ลูกกินบ่อยๆ จะอันตรายกับทารกไหม
เวลาทารกร้องไห้ ถ้าไม่ใช่หิวนม หรือเกิดไม่สบายตัวต้องการให้แม่เปลี่ยนผ้าอ้อม ก็อาจจะเป็นเพราะลูกท้องอืดได้ เพราะอาการท้องอืดสำหรับลูกในช่วง 4 เดือนแรกนั้น เป็นอาการที่เกิดได้บ่อยในวัยทารก ซึ่งพ่อแม่มักจะใช้ยามหาหิงค์ ทาท้องลูก แต่ทารกบางคนก็แพ้จนขึ้นผื่น จึงต้องหันมาหาไกต์วอเตอร์เอามาให้ลูกกิน ด้วยตัวยาเป็นชนิดรับประทาน พ่อแม่จึงมักมีคำถามอยู่เสมอว่า ไกต์วอเตอร์ กินยังไง ถ้าให้ลูกกินบ่อยๆ จะอันตรายกับทารกไหม
ส่วนผสมของไกต์วอเตอร์
Gripe water (ไกต์วอเตอร์) มีส่วนประกอบสำคัญ คือ โซเดียมไบคาร์บอเนต, ดอกคาโมไมล์, ยี่หร่า, ขิง, สะระแหน่, อบเชย, น้ำมันกานพลู, ผักชีฝรั่ง, กระวาน, ยาหม่องมะนาว, กลีเซอรีน และน้ำมันฟรุตโตส
สำหรับสรรพคุณ หลักๆ แล้ว จะช่วยในการขับลม บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ทั้งยังเชื่อกันว่าสามารถแก้อาการโคลิคได้ด้วย
ให้ลูกกินไกต์วอเตอร์ยังไงดี
สามารถให้ลูกกินโดยใช้ไซริงค์ป้อนยา ขนาดที่ใช้คือครั้งละ 2.5 – 10 มิลลิลิตร หรือตามที่แพทย์แนะนำ อาจต้องกินหลายครั้งในหนึ่งวัน เมื่อลูกทานยาขณะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จะใช้เวลาในการออกฤทธิ์ราวๆ 5 – 20 นาที
ถ้าให้ลูกกินบ่อยๆ จะอันตรายกับทารกไหม
ยังไม่พบรายงานที่ว่า ยาไกต์วอเตอร์ ส่งผลอันตรายกับทารก แต่ก็ไม่แนะนำให้กินเพื่อป้องกันอาการท้องอืด พ่อแม่ควรจะสังเกตว่า เพราะเหตุใดลูกถึงมีอาการท้องอืด เพราะไม่จับลูกเรอหรือเปล่า หรือเป็นเพราะอาหารที่แม่ทานก่อนให้นมลูก
แก้อาการท้องอืดทารกโดยไม่ต้องพึ่งยา
- ควรจับลูกเรอทุกครั้ง หลังดื่มนมอิ่มในทุกมื้อ โดยท่าอุ้มลูกเรอมีอยู่หลายท่า เช่น การอุ้มพาดบ่าแล้วลูบหลังเบาๆ หรือแม้แต่จับลูกนั่งบนตัก ใช้มือประคองไว้ใต้คาง แล้วโน้มตัวลูกไปข้างหน้า เอามือลูบหลัง 10 วินาที แล้วคืนตัวตรง
- ไล่ลมจากท้องด้วยการ การจับลูกน้อยนอนหงาย งอหัวเข่าน้อยๆ และขาเล็กๆ นั้น โดยการกดขาลงไปชิดหน้าท้องอย่างเบามือ หรือใช้ท่าปั่นจักรยานกลางอากาศ ขยับขาไล่ลม ลดอาการท้องอืด
- นวดทารกอย่างเบามือ นวดท้องลูกด้วยฝ่ามือกดหน้าอกไล่มาใต้สะดือ ใช้มือทั้งสองข้างช้อนบริเวณสันหลัง แล้วให้หัวแม่มือนวดวนเป็นวงกลมที่ท้อง หรือจะจับลูกนอนคว่ำ นวดหลังเบาๆ จากก้นกบไล่ขึ้นไปถึงกระดูกสะบัก
แม้ว่าไกต์วอเตอร์หรือมหาหิงค์ จะเป็นตัวช่วยชั้นดีลดอาการท้องอืดของทารกได้ แต่จะดีกว่าถ้าแม่ๆ ป้องกันไม่ให้ลูกท้องอืด ด้วยการจับลูกเรอทุกครั้ง แต่ถ้าลูกน้อยยังมีอาการร้องไห้โยเย ท้องป่อง ไม่หายสักที ต้องรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายของทารกอย่างละเอียดนะคะ
ที่มา : doctor.or.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
มหาหิงค์ vs ไกร๊ปวอเตอร์ ใช้แก้ท้องอืดสําหรับทารกต่างกันอย่างไร