อาชญากรรมบนท้องถนนเกิดบ่อยขึ้นทุกวัน และบรรดาอาชญากรก็อายุน้อยลงทุกวัน จะโทษใครดีล่ะ เพื่อน? โรงเรียน? หรือพ่อแม่ที่ไม่เคยใส่ใจที่จะปลูกฝังนิสัยที่ดีให้กับลูก?
นิสัยดีนั้นสำคัญไฉน?
นิสัยที่ดีเป็นรากฐานของความคิดที่เป็นบวกและความมั่นใจในตัวเอง ไม่มีอะไรน่าประทับใจไปกว่าการได้เห็นคนมาสัมภาษณ์งานด้วยลักษณะท่าทางที่เป็นมิตร น่าคบหา ผลการวิจัยชี้ว่าผู้สมัครงานโดยส่วนใหญ่จะถูกตัดสินจากลักษณะท่าทางมากกว่าผลการเรียน
ความท้าทายอันยิ่งใหญ่
การสอนให้เด็กรู้จักผิดชอบชั่วดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เขา น้องอีฟ เด็กสาววัย 22 จำได้ว่าเธอเคยเห็นคุณแม่ของเธอไปช่วยสถานสงเคราะห์ทำอาหารเลี้ยงเด็ก ๆ อยู่บ่อย ๆ ตอนเธอ 5 ขวบ และเมื่อเธอขึ้นมัธยม เธอจึงมักใช้เวลาว่างในวันหยุดไปช่วยทำอาหารตามสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ เช่นกัน
อีกวิธีที่น่าสนใจคือการพาลูกไปเล่นกับเด็กตามบ้านเด็กกำพร้า หรือโรงพยาบาลเด็ก ฯลฯ นอกจากจะช่วยสร้างนิสัยที่ดีให้กับลูกแล้ว กิจกรรมเช่นนี้ยังจะช่วยให้คุณกับลูกใช้เวลาอยู่ด้วยกันและเป็นการกระชับสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกอีกด้วย
เด็กบางคนอาจเป็นเด็กนิสัยดีตามธรรมชาติ เด็กบางคนอาจอยากแบ่งของเล่นให้เด็กอื่น ๆ ในขณะที่เด็กบางคนอาจจะโวยวาย บางครั้งเด็กก็เรียนรู้ที่จะโกหกและลักเล็กขโมยน้อยด้วยตัวเอง คุณต้องอธิบายให้เขาฟังเกี่ยวกับผลเสียของการกระทำเหล่านี้
บทความแนะนำ: เคล็ดลับการเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ
ชมลูกบ่อย ๆ
อย่าประหยัดคำพูดโดยเฉพาะคำชมเมื่อลูกทำในสิ่งที่น่าชื่นชม ถ้าเขามาบอกความจริงกับคุณว่าเขาเอาของเล่นของน้องไปซ่อน คุณควรจะขอบคุณเขาที่แสดงความซื่อสัตย์ และอธิบายให้เขาฟังว่าทำไมเขาจึงไม่ควรเอาของคนอื่นไปซ่อน แทนที่จะตะคอกหรือต่อว่าลูก ถ้าลูกรู้จักให้อาหารสัตว์เลี้ยงหรือจัดที่นอนเองโดยที่คุณไม่ได้ขอ คุณควรจะกอดและชื่นชมเขา คำชมจะทำให้เขาเรียนรู้ที่จะทำในสิ่งดี ๆ ไปอีกนาน
บทความใกล้เคียง: วิธีให้รางวัลลูก
ฮีโร่ในดวงใจ
ถ้าเจ้าตัวเล็กรู้สึกเบื่อกับกิจกรรมสร้างนิสัยแบบเดิม ๆ ของคุณ ลองเปลี่ยนแนวโดยการแต่งตัวเล่นเป็นซูเปอร์ฮีโร่ต่าง ๆ เช่น “จอมสะอาด” แล้วให้ลูกช่วยเก็บกวาดรอบบ้าน ฯลฯ ให้ลูกเล่นเป็นผู้ช่วยซูเปอร์ฮีโร่ด้วยก็ยังได้
การปลูกฝังนิสัยที่ดีให้แก่ลูกไม่จำเป็นต้องเริ่มเมื่อลูกโตแล้วเท่านั้น เด็กรู้จักผิดถูกตั้งแต่เล็ก และการเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้เขานิสัยดีไปตลอดชีวิต
บทความใกล้เคียง: สอนลูกให้คิดเป็นด้วยคำถามปลายเปิด