เด็กยุคดิจิทัลเติบโตมาพร้อมกับสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งมักนำเสนอภาพชีวิตที่เต็มไปด้วยความหรูหราและฟู่ฟ่า จนอาจทำให้เด็กๆ หลายคนปรารถนาที่จะมีชีวิตติดแกลม เหมือนกับที่เห็นในโลกออนไลน์ นี่คือความท้าทายที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเผชิญ บทความนี้จะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับค่านิยม “ติดแกลม” ที่กำลังแพร่หลาย พร้อมแนะแนวทางในการเลี้ยงลูกให้มีภูมิคุ้มกันใจที่เข้มแข็ง เพื่อไม่ให้หลงใหลไปกับความหรูหราจอมปลอมในโลกที่สื่อโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญ
ติดแกลม คืออะไร?
คำว่า “ติดแกลม” มาจากคำว่า “Glamorous” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึง “สวยงาม มีเสน่ห์ น่าดึงดูดใจ” เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย คำว่า “แกลม” ถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงลักษณะของ พฤติกรรมติดหรู หรือการแสดงออกถึงฐานะทางสังคมผ่านการแต่งกาย การใช้สิ่งของ หรือการใช้ชีวิตประจำวัน
ในบริบทของการเลี้ยงลูก การติดแกลม อาจหมายถึงการที่เด็กหรือวัยรุ่นให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ภายนอก การใช้สิ่งของแบรนด์เนม หรือการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือย มากกว่าการให้ความสำคัญกับคุณค่าภายในหรือความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
ทำไมหลายคนจึงใช้ชีวิตติดแกลม?
ทำไมเราถึงต้องไขว่คว้าที่จะดูแพงและทันสมัย? เด็กที่ใช้ชีวิตติดแกลม ทำตัวให้ดูแพง ดูอินเทรนด์ อาจเกิดได้จากหลากปัจจัย ดังนี้
-
Self-esteem ที่เปราะบาง
จริง ๆ แล้ว แรงผลักดันส่วนหนึ่งอาจมาจากความรู้สึก ‘ขาดคุณค่าในตัวเอง’ หรือความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า จากการศึกษาพบว่า หลายคนใช้จ่ายเงินและสร้างภาพลักษณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจและการยอมรับจากผู้อื่น เพราะกลัวที่จะถูกมองข้ามหรือด้อยค่า การใช้ชีวิต ‘ติดแกลม’ จึงไม่ใช่แค่การอวดร่ำอวดรวย แต่เป็นการพยายามสร้างภาพลักษณ์หรูหรา เพื่อชดเชยความรู้สึกด้อยค่า เช่น การซื้อของราคาแพงเพื่อให้รู้สึกมีคุณค่า หรือต้องการคำชมจากผู้อื่นเพื่อเพิ่มความมั่นใจ
-
แรงกดดันจากสังคมและสื่อโซเชียลมีเดีย
โซเชียลมีเดียทำให้เห็นชีวิตที่ดูดีของผู้อื่นได้ง่าย นำไปสู่ความรู้สึกด้อยค่าและอยากมีเหมือนบ้าง เช่น เห็นภาพเพื่อนไปเที่ยวต่างประเทศหรูหรา แล้วรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่ดีพอ
-
ต้นแบบที่ผิดเพี้ยน
หากพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ผิดเพี้ยน ใช้ชีวิตด้วยค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าคุณค่าภายในของบุคคล เช่น การตัดสินคนจากเสื้อผ้าหรือฐานะทางสังคม แทนที่จะมองที่ความสามารถหรือคุณค่าภายใน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมให้ลูกเป็นเด็กติดแกลมได้
ข้อเสียของพฤติกรรมติดหรู ติดแกลม
เมื่อใช้จ่ายเกินตัว หรือสร้างภาพมากเกินไป อาจส่งผลกระทบตามมา ดังต่อไปนี้
-
เงินไม่พอใช้ เป็นหนี้
การใช้เงินเกินตัวเพื่อตามกระแส ชีวิตติดแกลม อาจทำให้เกิดปัญหาทางการเงิน เป็นหนี้เป็นสิน เช่นซื้อของแพงโดยไม่จำเป็น ใช้เงินเยอะ หมดไปกับการกิน เที่ยวอย่างหรูหรา
-
เครียด ซึมเศร้า
การสนใจแต่ภาพลักษณ์ภายนอกมากเกินไป อาจทำให้เครียด วิตกกังวล และซึมเศร้าได้ เครียดที่ต้องรักษาภาพลักษณ์หรูหรา หรือไม่พอใจตัวเองที่ไม่มีชีวิตหรูหรา แบบคนอื่น เป็นต้น
-
ปัญหาความสัมพันธ์
การให้ความสำคัญกับวัตถุมากเกินไป อาจทำให้มีความสัมพันธ์ที่ผิวเผินกับผู้อื่น เช่น การเลือกคบเพื่อนที่ฐานะดี หรือการไม่เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ที่มาจากใจ”
เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ติดแกลม สร้างภูมิคุ้มกันใจให้ลูก
แนวทางเลี้ยงลูกไม่ให้ติดแกลม สร้างภูมิคุ้มทางกันใจให้ลูกสามารถเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากสังคม และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต
1. สร้าง Self-esteem ที่แข็งแกร่ง
การที่เด็กเกิดความรู้สึกอยากมี อยากได้เหมือนคนอื่น นั่นเป็นเพราะลูกยังไม่เชื่อมั่นในคุณค่าของตนเองมากพ่อ จึงต้องการได้รับการยอมรับจากผู้อื่นเพื่อเพิ่มความมั่นใจ ดังนั้น การสร้าง Self-esteem ที่แข็งแกร่ง สร้างความมั่นใจในตัวเองจากภายใน จะช่วยให้ลูกสามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับแรงกดดันจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสูง
แนะเคล็ดลับสร้าง Self-esteem ให้ลูก
- ชื่นชมความพยายามและความสามารถของลูก ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอกหรือสิ่งของ
- ส่งเสริมให้ลูกค้นหาและพัฒนาความสามารถของตัวเอง
- สอนให้ลูกรู้จักรักและเห็นคุณค่าในตัวเอง
2. สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงิน
สอนให้ลูกรู้จักการออม การใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย และรู้จักซ่อมแซมสิ่งของแทนการซื้อใหม่ นอกจากนี้ ควรสอนให้ลูกแยกแยะระหว่าง ‘ความต้องการ’ กับ ‘ความอยากได้’ เพื่อให้เข้าใจความจำเป็นในการใช้จ่าย
แนะเคล็ดลับ สอนเรื่องคุณค่าของเงิน
- คุยกับลูกถึงการเงินของครอบครัวตามความจริงเสมอ และให้ลูกมีส่วนร่วมในการวางแผนการเงินของครอบครัว
- ให้ลูกเข้าใจความสำคัญของการออมและใช้เงินอย่างฉลาด แทนการซื้อของเพื่อเอาใจคนอื่น
- ให้ลูกได้ลองทำงานหาเงินด้วยตัวเอง ถ้าอยากได้สิ่งที่ไม่จำเป็น ลูกต้องเก็บเงินซื้อเอง
- สอนให้ลูกรู้จักการให้และการช่วยเหลือสังคมแทนการโฟกัสที่ตัวเองหรือสิ่งของ
3. ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง
สอนให้ลูกเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น การทำความดี และการพัฒนาความสามารถของตนเอง จะนำไปสู่ความสุขและความสำเร็จที่ยั่งยืนกว่าการไขว่คว้าวัตถุเพียงอย่างเดียว
แนะเคล็ดลับ ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องให้ลูก
- เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิต สอนให้ทำตัวติดดิน กินง่ายอยู่ง่าย ประหยัด
- พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับค่านิยมที่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องใช้ของหรู แต่เลือกซื้อของที่ราคาย่อมเยา ใช้งานได้จริงตามฐานะของครอบครัว
- ส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬา หรือทำงานศิลปะ เพื่อลดการหมกมุ่นกับวัตถุ
4. สอนให้ลูกแยกแยะข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย
สอนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์และแยกแยะข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงสอนให้ลูกเข้าใจความเป็นจริงของโลกโซเชียลมีเดีย โดยชี้ให้เห็นว่าผู้คนส่วนใหญ่มักจะเปิดเผยเฉพาะด้านบวกของตนเองเท่านั้น และซ่อนด้านลบไว้ ทำให้เราเห็นเพียงภาพลักษณ์ที่สวยงามเพียงด้านเดียว
แนะเคล็ดลับ การใช้โซเชียลมีเดียอย่างชาญฉลาด
- กำหนดเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม
- พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับสิ่งที่เห็นบนโซเชียลมีเดีย
- สอนให้ลูกตั้งคำถาม ว่าสิ่งที่เห็นนั้นสามารถเชื่อถือได้หรือไม่
- สอนให้ลูกตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลก่อนหลายๆ แหล่งก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์
5. เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิต
การเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องให้กับลูก เพราะเด็ก ๆ มักจะเรียนรู้และซึมซับพฤติกรรมจากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะพ่อแม่ หากพ่อแม่เองมีพฤติกรรมติดแกลม หรือให้ความสำคัญกับวัตถุมากเกินไป ก็ยากที่จะสอนให้ลูกมีค่านิยมที่แตกต่างออกไปได้
แนะเคล็ดลับ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
- ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ดำเนินชีวิตแบบพอเพียงให้ลูกเห็นอยู่เสมอ
- การหลีกเลี่ยงการโชว์ของฟุ่มเฟือย หรือพฤติกรรมโอ้อวดบนโซเชียลมีเดีย
- แสดงให้ลูกเห็นถึงความสำคัญของการมีน้ำใจ การทำบุญ การช่วยเหลือสังคม และการให้เกียรติผู้อื่น
- ชื่นชมและให้กำลังใจเมื่อลูกแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ดีงาม
การปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็กเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ เพื่อให้ลูกสามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีภูมิคุ้มกันทางใจที่เข้มแข็ง ไม่ยึดติดกับความหรูหราจอมปลอม และไม่ใช้จ่ายเกินตัว คำแนะนำที่นำเสนอในบทความนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและมีความสุขที่แท้จริง
ที่มา : กรมสุขภาพจิต , เลี้ยงลูกตามใจหมอ , ThaiPBS , กรุงเทพธุรกิจ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
10 แนวทาง เลี้ยงลูกให้ใช้เงินเป็น ในยุคของแพง ค่าใช้จ่ายสูง
10 วิธีเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดี ที่สำคัญยิ่งกว่าผลการเรียนเกรด A
10 สัญญาณที่บ่งบอกว่า พ่อแม่เลี้ยงลูกถูกทาง รู้แบบนี้สบายใจได้เลย!