เมื่อลูกเริ่มคันเหงือก ฟันใกล้จะขึ้น อาการที่พ่อแม่เห็นชัดก็คือจะจับทุกอย่างที่ขวางหน้าเอาเข้าปาก…ง้ำ ง้ำ เคี้ยว เคี้ยว แต่บางครั้งของที่ลูกหยิบใส่ปากไม่ใช่ของที่ควรเอาเข้าปาก เช่น กระดุม กระดาษหนังสือพิมพ์ ก็อาจทำให้เกิดอันตราย ไม่ปลอดภัยกับหนูน้อย พ่อแม่หลายคนอาจให้ลูกใช้ยางกัดที่มีขายตามท้องตลาด สีสันสดใส บ้างก็เขย่าแล้วมีเสียง
แต่…ถ้าอยากให้ลูกได้บริหารเหงือก แถมได้รู้จักรสชาติอาหารชนิดใหม่ ๆ และได้สารอาหารด้วยในคราวเดียว ขอแนะนำ Finger Food เลยค่ะ
Finger Food คืออาหารหรือขนมชิ้นขนาดพอดีคำ ที่สามารถใช้นิ้วมือหยิบกินได้ ซึ่งจะทำให้ลูกได้สนุกสนานกับการใช้มือหยิบจับกินอาหารหรือขนม เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการกินให้กับลูก นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาและฝึกการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กันให้กับลูกน้อยอีกด้วย
การปล่อยให้เจ้าตัวเล็กกินอาหารด้วยมือเอง ลูกอาจจะเลอะเทอะ มอมแมมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พ่อแม่อย่าเพิ่งปวดหัวหงุดหงิดนะคะ แนะนำว่าไม่ต้องรีบทำความสะอาด รอให้ลูกกิน เล่น สำรวจสิ่งรอบตัวให้เรียบร้อยแล้วค่อยจัดการทีหลังค่ะ
เริ่มต้น Finger Food
วัยที่เหมาะสมที่จะเริ่มให้ลูกน้อยได้รู้จักกับ Finger Food คือ ช่วงที่ลูกน้อยอายุประมาณ 7-9 เดือน เป็นช่วงที่เด็กทารกเริ่มกินอาหารเสริมได้แล้ว และลูกน้อยเริ่มเรียนรู้การจับช้อนเพื่อกินอาหารเองได้แล้ว โดยในช่วงแรกลูกจะแค่พยายามเอาอาหารเข้าปากให้ได้เท่านั้น แต่ต่อมาจะเริ่มเรียนรู้วิธีการใช้และควบคุมนิ้วมือในการหยิบซึ่งเป็นพัฒนาการของเด็กในวัยนี้
เมื่อเริ่มครั้งแรก คุณแม่อาจลองให้ Finger Food ประมาณ 2-3 ชิ้นวางไว้บนถาดอาหารของลูก ให้ลูกได้ลองหยิบกิน หากลูกสามารถกินได้ คุณแม่สามารถค่อย ๆ เพิ่มจำนวน แต่ในช่วงแรกนี้ไม่ควรให้ลูกทาน Finger Food ขณะอยู่ในรถหรือบนรถเข็นเด็ก เพื่อป้องกันการสำลักหรืออาหารติดคอ คุณแม่ควรให้ลูกนั่งบนเก้าอี้ทานอาหาร เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการสอนให้ลูกรู้จักการนั่งรับประทานที่ถูกต้องอีกด้วย
เนื่องจากในวัยนี้ฟันของลูกยังขึ้นไม่ครบทุกซี่ คุณแม่ควรใช้อาหารที่เคี้ยวง่ายหรือละลายง่ายในปาก เมื่อลูกโตกว่านี้ คุณแม่ค่อยปรับเปลี่ยนเป็นอาหารที่เหมาะสมกับวัยของลูกมากขึ้น
การให้ลูกกินอาหารด้วยตัวเองนั้น ลูกน้อยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อสัมผัส สี กลิ่นและรส ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกได้ลองกินอาหารหลากหลาย อย่างไรก็ตาม อาหารเหล่านั้นควรต้องมีขนาดเล็กและมีลักษณะที่ลูกสามารถหยิบจับได้ง่าย และต้องไม่เป็นสิ่งที่อาจทำให้ติดคอลูกได้ เช่น พวกถั่ว หรือธัญพืช
อ่านหน้าถัดไปว่าอาหารใดเป็น Finger Food ได้บ้าง
ตัวอย่าง Finger Food
• เริ่มด้วยขนมปัง
• เต้าหู้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
• เส้นพาสต้าที่ต้มสุกแล้ว หั่นเป็นชิ้นสั้นๆ
• ไข่แดงต้มสุกจนไข่แดงแข็ง หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ (อย่าเพิ่งให้กินไข่ขาวจนลูกอายุ 9 เดือนขึ้นไป เพราะเด็กทารกมีโอกาสแพ้ไข่ขาวได้มากกว่าไข่แดง)
• กล้วยหรือผลไม้ที่ปอกเปลือกและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ เช่น แครอท มะม่วง แคนตาลูป ฯลฯ โดยหากเป็นผลไม้ที่มีเมล็ด ต้องเอาเมล็ดออกให้หมด
• ผักต้มสุกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เช่น แครอท บวบ มันฝรั่ง บล็อคโคลี่ กะหล่ำดอก ฯลฯ
• เนื้อไก่ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ (หรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่เมื่อปรุงสุกแล้วเนื้อยังนิ่ม ไม่แข็ง)
คำแนะนำเพิ่มเติม
- ..Finger Food เป็นเหมือนของว่าง หรือของกินเล่นสำหรับลูกน้อย คุณแม่จึงควรให้ลูกกินแต่พอดี ถ้าให้มากไป หนูน้อยอาจจะอิ่มเกินไปจนไม่สนใจอาหารมื้อหลักก็ได้
- Finger Food แบบเย็น ๆ เป็นที่โปรดปรานของเด็ก ๆ มาก เพราะช่วยลดอาการคันเหงือกของหนูน้อยได้ อาจเป็นพวกผลไม้แช่เย็นอย่าง กล้วย มะละกอ หรือ เมล่อน ก็ได้
- สิ่งสำคัญที่สุดคือ ห้ามปล่อยลูกน้อยนั่งกินเพียงลำพัง คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยค่ะ ที่มาอ้างอิง theAsianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น theAsianparent Thailand ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก theAsianparent Thailand เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแร’