อัลตราซาวนด์ครั้งแรก กี่สัปดาห์ คนท้องจะได้รู้อะไรบ้าง ?

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

แรกเริ่มตั้งครรภ์ คุณแม่คงแทบจะรอให้ครบ 9 เดือนไม่ไหว การอัลตราซาวนด์ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้พ่อแม่ได้เห็นความเคลื่อนไหว และยังสามารถติดตามการเจริญเติบโตของลูกในท้องได้ด้วย คุณแม่หลายคนคงแทบจะรอการ อัลตราซาวนด์ครั้งแรก ไม่ไหวแล้ว มาดูกันว่า ทำไมเราจึงสามารถติดตามการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ได้จากการอัลตราซาวนด์ อัลตราซาวนด์ครั้งแรก เกิดขึ้นตอนไหน และคุณแม่จะได้ทราบอะไรจากการอัลตราซาวนด์ครั้งแรกบ้าง ไปดูกันค่ะ

 

อัลตราซาวนด์คืออะไร ?

รศ.พญ.สายฝน ชวาลไพบูลย์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า การอัลตราซาวนด์ คือ การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงที่เกินกว่าหูมนุษย์จะได้ยิน (มากกว่า 20,000 เฮิรตซ์) ในการวินิจฉัยโรคจะใช้ความถี่ประมาณ 2 – 7.5 เมกะเฮิรตซ์โดยอาศัยหลักการทำงานของเสียง

เมื่อเปิดเครื่องอัลตราซาวนด์ กระแสไฟฟ้าสลับที่ไหลเข้ามาภายในเครื่องจะผ่านหัวตรวจ ซึ่งภายในมีผลึก (Piezoelectric material) เกิดการสั่นสะเทือน และมีการปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงออกมา ผ่านผิวหนัง เข้าไปยังอวัยวะภายในที่ต้องการตรวจ เมื่อเสียงกระทบเนื้อเยื่อต่างชนิดกัน ก็จะเกิดการสะท้อน และการดูดกลับของเสียงไม่เท่ากันในเวลาที่ต่างกันตามระดับความลึกของเนื้อเยื่อนั้น ๆ และจะถูกแปลผลให้ปรากฏเป็นภาพบนจอ

บทความที่เกี่ยวข้อง : อัลตราซาวนด์ท้อง กี่เดือนรู้เพศลูก ควรตรวจอัลตราซาวนด์ตอนไหน ?

 

 

การตรวจอัลตราซาวนด์มีกี่ประเภท ?

ปัจจุบันการตรวจอัลตราซาวนด์ ทำได้ทั้งอัลตราซาวนด์ 2 มิติ อัลตราซาวนด์ 3 มิติ และอัลตราซาวนด์ 4 มิติ ซึ่งจะภาพเคลื่อนไหวที่มีความละเอียดแตกต่างกัน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • อัลตราซาวนด์ 2 มิติ

ภาพจากอัลตราซาวนด์ 2 มิติ จากหลักการสร้างภาพจากคลื่นเสียงความถี่สูง ภาพที่ได้จากการตรวจอัลตราซาวนด์ทั่วไปจะเป็นภาพ 2 มิติ คือ เป็นภาพตัดขวางทีละภาพ ตามแนวของคลื่นเสียงที่ส่งออกไปในแนวระนาบ (มิติที่ 1 คือความกว้าง มิติที่ 2 คือ ความยาว)

  • อัลตราซาวนด์ 3 มิติ

ในการสร้างภาพ 3 มิติ หัวตรวจ และอุปกรณ์ประมวลผลจะมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยหัวตรวจจะส่งคลื่นเสียงในลักษณะหลายระนาบพร้อมกัน ทำให้เกิดการเก็บข้อมูลติดต่อกัน จากนั้นข้อมูลที่ได้ จะถูกส่งไปยังหน่วยประมวลผลของเครื่อง และทำการสร้างภาพ 3 มิติขึ้น สำหรับมิติที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นมาคือ ความลึก ซึ่งจะทำให้ภาพนั้นเสมือนจริงมากขึ้น ไม่ใช่เพียงภาพตัดขวางของวัตถุ

  • อัลตราซาวนด์ 4 มิติ

การตรวจอัลตราซาวนด์ 4 มิติ จะมีประมวลผลที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเครื่องจะทำการเก็บภาพ 3 มิติแต่ละภาพ แล้วแสดงผลเรียงต่อกัน ทำให้เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับภาพยนตร์ ซึ่งมีมิติที่ 4 นั่นคือ เวลา นั่นเอง ในการตรวจทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวนด์ 4 มิติ จะสามารถเห็นภาพทารกเคลื่อนไหว ตลอดจนเห็นกิริยาอาการที่ทารกกำลังทำอยู่ในขณะตรวจได้ เช่น การเคลื่อนไหวใบหน้า ยกแขน ขยับนิ้ว อ้าปาก หรือกลืน เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : อัลตราซาวนด์ สามารถตรวจความผิดปกติ ของทารกได้หรือไม่ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 63

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

การตรวจอัลตราซาวนด์ ทำได้อย่างไรบ้าง ?

  • อัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด

ตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด จะใช้กับอายุครรภ์น้อยกว่า 10 สัปดาห์ เป็นการวัดความยาวปากมดลูก และตรวจระยะห่างของขอบรก จากปากมดลูก วิธีการคือ หมอจะสอดหัวตรวจขนาดเล็กเข้าไปในช่องคลอด ขณะที่คนไข้นอนราบบนเตียง ลักษณะการนอน จะคล้ายกับการตรวจภายใน

  • อัลตราซาวนด์หน้าท้อง

การตรวจอัลตราซาวนด์หน้าท้อง ใช้ตรวจเมื่ออายุครรภ์เกิน 10 สัปดาห์ วิธีนี้เป็นวิธีที่คุณแม่อาจจะเคยเห็นบ่อย ๆ นั่นคือ คุณหมอจะทาเจลเย็น ๆ บริเวณหน้าท้องเพื่อเป็นสื่อนำภาพ แล้วใช้หัวตรวจเคลื่อนไปมาบริเวณหน้าท้องของคุณแม่

 

อัลตราซาวนด์ดูอายุครรภ์ อัลตราซาวนด์ครั้งแรก ทำได้ตอนไหน ?

ท้องกี่สัปดาห์ ถึงจะ อัลตราซาวนด์ การอัลตราซาวนด์สามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ แต่หากครรภ์ของคุณแม่เป็นครรภ์ปกติ และไม่มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อน ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจอัลตราซาวนด์ตั้งแต่ไตรมาสแรก ซึ่งจะต้องทำการอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดเท่านั้น เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 จึงจะสามารถอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องได้ โดยคุณหมอจะทาเจลเย็น ๆ บริเวณหน้าท้อง และเจลนี้เองที่จะช่วยให้คลื่นอัลตราโซนิกทำงานสะดวก โดยที่แม่ท้องไม่รู้สึกเจ็บปวดเลยสักนิด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อย่างไรก็ตาม แม่ท้องควรจะได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงอายุครรภ์ที่ 18 – 22 สัปดาห์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ และติดตามพัฒนาการของทารกอย่างใกล้ชิด ในปัจจุบัน คุณหมออาจจะแนะนำให้แม่ท้องมาตรวจทุก ๆ ไตรมาส ไตรมาสละ 1 ครั้ง แต่หากครรภ์ของคุณแม่ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ก็อาจจะมีความถี่มากกว่า เช่น ทุกสัปดาห์ หรือเดือนละ 1 ครั้ง

 

แม่ท้องจะได้รู้อะไรบ้าง จากการอัลตราซาวนด์​ ?

ผศ.นพ.เมธาพันธ์ กิจพรธีรานันท์ สูติแพทย์ อธิบายว่า การตั้งครรภ์ในช่วงต้น จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ และทางด้านสรีรวิทยาหลายประการ มีการเจริญเติบโตของถุงการตั้งครรภ์ ถุงไข่แดง และตัวอ่อน ทำให้แพทย์สามารถตรวจติดตามด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ได้

โดยทั่วไปหากเป็นการตั้งครรภ์ปกติ ที่ไม่มีความเสี่ยง หรือมีความเสี่ยงในระดับต่ำ คุณแม่สามารถฝากครรภ์ตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจอัลตราซาวนด์ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ แต่หากเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกจากช่องคลอด เคยแท้งบุตรในครรภ์ก่อน สงสัยตั้งครรภ์นอกมดลูก สงสัยตั้งครรภ์แฝด ก็สามารถตรวจอัลตราซาวนด์ตั้งแต่มาฝากครรภ์ครั้งแรกได้ ซึ่งช่วยกำหนดอายุครรภ์ได้ชัดเจน และยังเป็นการให้กำลังใจสตรีตั้งครรภ์อีกด้วย

การตรวจอัลตราซาวนด์ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ จำเป็นต้องใส่อุปกรณ์หัวตรวจอัลตราซาวนด์เข้าทางช่องคลอดเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจน และแปลผลได้ถูกต้อง ทั้งนี้ยังสามารถใช้ติดตามดูการเจริญของตัวอ่อนอย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีดูเพศลูกในใบซาวนด์ อ่านผลอัลตราซาวนด์ยังไง ซาวนด์ตอนไหนเห็นเพศชัดสุด

 

 

สิ่งที่ได้จากการ อัลตราซาวนด์ท้อง ในแต่ละสัปดาห์

  • อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ โดยเริ่มนับจากวันแรกของรอบประจำเดือนล่าสุด จะเห็นเพียงเยื่อบุผนังโพรงมดลูกที่มีความหนามากขึ้น ถึง 20 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นแถบขาวในโพรงมดลูก
  • อายุครรภ์ 5 สัปดาห์ เริ่มเห็นถุงการตั้งครรภ์ มีลักษณะเป็นถุงทรงกลม มีขอบเขตชัดเจนเป็นวงสีขาวเข้ม อยู่กลางโพรงมดลูก บางครั้งอาจเริ่มเห็นถุงไข่แดง อยู่ภายในถุงตั้งครรภ์ได้
  • อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ เริ่มเห็นตัวเด็กทารกในครรภ์ ขนาดเล็ก อยู่ติดกับถุงการตั้งครรภ์ พร้อมทั้งเห็นสัญญาณชีพจากการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ได้
  • อายุครรภ์ 7 สัปดาห์ จะเห็นเด็กทารกในครรภ์เริ่มใหญ่มากขึ้น สามารถเห็นการขยับตัวของทารกได้ ถุงไข่แดงเริ่มเล็กลงหรือหายไปได้
  • อายุครรภ์ 8 – 12 สัปดาห์ เห็นเด็กทารกในครรภ์ชัดเจนมากขึ้น สามารถแยกสัดส่วนของทารกได้ ว่าเป็นส่วนศีรษะหรือส่วนลำตัว เป็นต้น

 

การอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของทารก

หนึ่งในเหตุผลของการอัลตราซาวนด์คือการตรวจสอบครรภ์ของแม่ เพื่อให้มั่นใจว่า ลูกน้อยมีความแข็งแรง สุขภาพดี ไม่มีความผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนใด ๆ โดยการตรวจอัลตราซาวนด์ ประกอบกับความประสบการณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็ทำให้การตรวจอัลตราซาวนด์นั้น มีความแม่นยำมากถึง 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการระบุตำแหน่งที่แน่ชัดของความผิดปกติ เช่น แขน ขา มือ ทางเดินหายใจ หรืออวัยวะอื่น ๆ แต่ก็ทำให้ทราบถึงสุขภาพ และความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ เพื่อให้คุณแม่วางใจได้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การเตรียมตัวก่อนอัลตราซาวนด์ครั้งแรก

การตรวจอัลตราซาวนด์ในช่วงแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรจะไปก่อนเวลาสักเล็กน้อย ดื่มน้ำ 4 – 6 แก้ว และอย่าเพิ่งปัสสาวะออก จนกว่าการตรวจจะเรียบร้อย เพราะปริมาณของเหลวในกระเพาะปัสสาวะ จะทำให้เห็นภาพลูกในครรภ์ได้ชัดเจนมากขึ้น

 

ส่วนใหญ่แล้ว กว่าที่แม่จะรู้ว่าตัวเองตั้งท้อง กว่าจะมีอาการแพ้ท้อง จนกระทั่งวันฝากครรภ์ เวลาก็ล่วงเลยมาหลายสัปดาห์ การอัลตราซาวนด์ครั้งแรกของแม่ท้องแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน ทางที่ดีที่สุด เมื่อแม่ท้องรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ ต้องรีบไปฝากครรภ์ เพื่อให้คุณหมอดูแลคุณแม่ให้เร็วที่สุดนะคะ

 

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แม่ท้องไม่ต้องงงอีกต่อไป อ่านผลอัลตราซาวนด์ง่าย ๆ ใคร ๆ ก็อ่านออก

ความแตกต่างของการทำอัลตราซาวนด์แต่ละแบบ ไม่เหมือนกันตรงไหน

อยากรู้เพศลูก! ลุ้นก่อนอัลตราซาวนด์ รวมหลากวิธี ทํานายว่าได้ลูกหญิงหรือชาย

แชร์ประสบการณ์หรือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการฝากครรภ์และอัลตราซาวนด์ ได้ที่นี่!

ฝากครรภ์ที่ไหนดี มีโรงพยาบาลไหนที่คุณแม่ไปฝากครรภ์กันบ้างคะ แนนำหน่อยค่า

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล , mamastory

บทความโดย

Tulya