ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก่อนเลยนะคะ นางฟ้าเทวดาตัวน้อย ๆ ได้เข้ามาอยู่ในท้องของคุณแม่เป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ จากนี้ไปลูกของคุณพ่อคุณแม่ที่เริ่มต้นจากการเป็นตัวอ่อน จะมีพัฒนาการในครรภ์ หลังจากเกิดการปฏิสนธิอย่างไร และจริง ๆ แล้ว ตัวอ่อนคืออะไร กันนะ เรามาหาคำตอบไป พร้อม ๆ กันเลย
ตัวอ่อนคืออะไร ?
ตัวอ่อนในครรภ์ 1-2 สัปดาห์แรก : เตรียมตัวให้พร้อม
โดยปกติแล้ว คุณหมอมักจะนับช่วงที่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ตั้งแต่วันสุดท้ายที่ประจำเดือนหมด นั้นหมายความว่า ถ้าคุณแม่ประจำเดือนหมดวันที่ 31 อีก 40 สัปดาห์ต่อจากนี้ คือวันครบกำหนดคลอดนั่นเองนะคะ แม้คุณแม่จะไม่ได้เริ่มตั้งครรภ์ตั้งแต่หลังประจำเดือนหมดทันทีก็ตามค่ะ
ตัวอ่อนในครรภ์ สัปดาห์ที่ 3 : การปฏิสนธิ
พอเริ่มเข้าช่วงนี้ สเปิร์มของคุณพ่อและไข่ของคุณแม่ก็จะรวมกันเป็นหนึ่ง เริ่มการปฏิสนธิในท่อรังไข่ หรือ ท่อนำไข่ หรือ ปีกมดลูก เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นเซลล์ไข่ที่ผสมแล้ว เรียกว่า ไซโกต หรือ zygote พร้อมที่จะเจริญเติบโตต่อไปเป็นเอ็มบริโอหรือตัวอ่อนค่ะ
ในไซโกตนี้จะมี 46 โครโมโซม มาจากคุณแม่ 23 และคุณพ่ออีก 23 ซึ่งเจ้าโครโมโซมตัวนี้นี่แหละค่ะ ที่จะเป็นตัวกำหนดเพศของลูก สีตา สีผม รวมไปถึงบุคลิกภาพ และความฉลาดของลูกก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้นี่เอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีสังเกตอาการคนท้องและพัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละไตรมาส
หลังจากนั้นไซโกตก็จะเดินทางตามท่อนำไข่ มีจุดหมายอยู่ที่มดลูก โดยระหว่างการเดินทางนี้ไซโกตก็จะเริ่มการแบ่งตัวของเซลล์เล็ก ๆ คล้ายกับลูกราสเบอร์รี่เล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า มอรูล่า (morula)
ตัวอ่อนในครรภ์ สัปดาห์ที่ 4 : ฝังตัวในผนังมดลูก
เมื่อมอรูล่าไปถึงมดลูกแล้ว กระบวนการแบ่งตัวจะทำหน้าที่ของมันอย่างรวดเร็ว ซึ่งเซลล์จะมีจำนวนมากถึง 150 เซลล์แล้ว ซึ่งจะเรียกว่าเป็นระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือบริเวณภายในเซลล์ที่จะกลายเป็นตัวอ่อน หรือ เอ็มบริโอ (embryo) ส่วนบริเวณภายนอกจะกลายเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่ฟูมฟักและปกป้องตัวอ่อน โดยการยืมพื้นที่ผนังมดลูกของคุณแม่เป็นที่ยึดเกาะนั่นเองค่ะ
สัปดาห์ที่ 5 : ช่วงเริ่มต้นตัวอ่อน
หลังจาก 3 สัปดาห์หลังจากปฏิสนธิ ก็มาถึงช่วงที่ตัวอ่อนจะถูกสร้างขึ้นภายในครรภ์ของคุณแม่แล้วนะคะ ในช่วงนี้สมอง ไขสันหลัง หัวใจ และอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของลูกจะเริ่มสร้างขึ้นมา เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ลูกก็จะมีขนาดเท่ากันปลายปากกาแล้วละค่ะ โดยที่ในตัวอ่อนจะมีทั้งหมด 3 ชั้นด้วยกัน
- ชั้นนอกสุดจะเรียกว่า ectoderm จะกลายเป็นผิวหนังชั้นนอก ระบบประสาท ดวงตา หูชั้นใน เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
- ชั้นกลางจะเรียกว่า mesoderm จะกลายเป็นหัวใจ ระบบหมุนเวียนเลือด กระดูก กล้ามเนื้อ ไต และระบบสืบพันธุ์
- ชั้นในสุดจะเรียกว่า endoderm จะกลายเป็นปอด ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ เยื่อบุผิวในช่องจมูกและปากที่สร้างน้ำเมือกหล่อลื่น
สัปดาห์ที่ 6 : ระยะที่หลอดประสาทปิด
เมื่อเข้าสู่สัปดาห์นี้หลอดประสาทของลูกจะปิด และหัวใจจะมีการสูบฉีดเลือดเพื่อเลี้ยงร่างกาย รายละเอียดบนใบหน้าจะเริ่มปรากฏให้เห็น หูชั้นใน ส่วนโค้งที่ดูเหมือนเป็นกราม ตัวของลูกจะเริ่มมีลักษณะโค้งงอเป็นรูปตัว C จะเริ่มเห็นว่ามีมือและขา
สัปดาห์ที่ 7 : ศีรษะเจริญเติบโตมากขึ้น
สมองและใบหน้าจะพัฒนามากขึ้น รูจมูกเล็ก ๆ ก็จะเริ่มเห็น กระจกตาจะเริ่มพัฒนา รวมถึงแขนที่งอกออกมาจะมีฝ่ามือที่เริ่มเห็นเป็นเค้าโครงบ้างแล้ว เมื่อหมดอาทิตย์ขนาดของลูกจะใหญ่กว่ายางลบที่ก้นดินสอหน่อยนึงค่ะ
สัปดาห์ที่ 8 : เห็นดวงตาของเจ้าตัวเล็กแล้ว
แขนและขาน้อย ๆ เริ่มยืดยาวมากขึ้น นิ้วจิ๋ว ๆ เริ่มจะเห็นแล้ว ใบหูเริ่มมีรอยหยักเป็นก้นหอย และจะเริ่มมองเห็นดวงตาของเจ้าตัวเล็กแล้วนะคะ ริมฝีปากบนและจมูกเริ่มมีให้เห็น ลำตัวเริ่มที่จะตั้งตรงมากขึ้น ตอนนี้ลูกจะมีขนาดครึ่งนิ้ว หรือประมาณ 11-14 มิลลิเมตรแล้วละค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : การตั้งครรภ์ 1-9 เดือน ของหนูในท้องแม่ พัฒนาการทารกในครรภ์ตลอด 40 สัปดาห์
สัปดาห์ที่ 9 : เริ่มมีนิ้วเท้าแล้วนะ
ในช่วงนี้แขนจะยาวมากขึ้น กระดูกจะพัฒนามากขึ้น และแขนเริ่มมีการงอเห็นเป็นข้อศอกแล้วละค่ะ เปลือกตาและหูพัฒนามากขึ้น รวมไปถึงนิ้วเท้าเล็ก ๆ ก็เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้วด้วย สิ้นสุดสัปดาห์นี้ลูกจะตัวยาวประมาณ 20 มิลลิเมตรค่ะ
สัปดาห์ที่ 10 : ลูกมีคอเหมือนกัน
หัวของเจ้าตัวเล็กจะกลมมากขึ้น มีช่วงคอให้เห็นแล้ว เปลือกตาจะปิดเพื่อปกป้องดวงตาน้อย ๆ และจะมีพัฒนาการของดวงตาในช่วงนี้ค่ะ
สัปดาห์ที่ 11 : อวัยวะสืบพันธุ์
ในสัปดาห์นี้ลูกจะเรียกได้ว่าเป็นตัวอ่อนอย่างเป็นทางการได้แล้วค่ะ และมีการพัฒนาการที่เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นค่ะ ทั้งขนาดลำตัวใหญ่ขึ้น ตาที่เปิดโตมากขึ้น เม็ดเล็ดแดงจะถูกผลิตขึ้นที่ตับ อวัยวะสืบพันธุ์จะเริ่มพัฒนาขึ้น แต่อาจจะยังดูไม่ออกว่าเป็นเพศไหนนะคะ ซึ่งตอนนี้ลูกจะตัวใหญ่ประมาณ 50 มิลลิเมตร หรือประมาณ 2 นิ้วได้แล้วค่ะ น้ำหนักก็จะอยู่ที่ประมาณ 8 กรัม
สัปดาห์ที่ 12 : ลูกมีเล็บด้วย
หน้าตาลูกจะมีครบทั้งตา จมูก ปาก หู และเล็บจะเริ่มงอกขึ้นมาในช่วงนี้ค่ะ โดยตัวลูกจะใหญ่ขึ้นเป็น 60 มิลลิเมตรหรือ 2 นิ้วครึ่ง และหนักประมาณ 14 กรัมค่ะ
น่าทึ่งใช่ไหมล่ะ ว่าเทวดาตัวน้อยของคุณพ่อคุณแม่ จะมีพัฒนาการได้มากขนาดนี้ และเพื่อพัฒนาการอื่น ๆ ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น คุณแม่ก็อย่าลืมดูแล และรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดีที่สุดนะคะ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะพัฒนาการของทารกในครรภ์ จะสมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองของคุณแม่ด้วย และหากมีอาการแปลก ๆ ใด ที่น่าสงสัย ก็อย่าลืมรีบไปพบคุณหมอนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ อาการเป็นอย่างไร และจำเป็นจะต้องเตรียมตัวอย่างไร
ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ อาการเป็นอย่างไร และควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ อาการเป็นอย่างไร สามารถอัลตราซาวนด์ได้หรือไม่
ที่มา : mayoclinic