เด็ก ๆ ที่ชอบความท้าทาย ชิงไหวชิงพริบ พร้อม ๆ ไปกับการได้ออกกำลังกาย ยังมีกีฬาชนิดหนึ่งที่สามารถตอบรับความชอบนี้นั่นคือ “ฟันดาบ” กีฬาเฉพาะตัวที่มีประวัติศาสตร์มาจากสงคราม และกลายมาเป็นกีฬาที่เปี่ยมไปด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน
เปิดประวัติกีฬาฟันดาบ
การใช้ดาบในการต่อสู้ระยะประชิด เดิมที่มีที่มาจากในอดีต เนื่องจากเป็นยุคที่มีสงครามอยู่เสมอ ดาบจึงเป็นสิ่งที่เหล่าทหารต้องมีติดตัวถือเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งยุคสมัยที่พัฒนาขึ้น เริ่มมีการนำอาวุธอื่นมาใช้ในการสงครามเพื่อความสะดวก และไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้าหาศัตรูนั่นคือ “ปืน” แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการใช้ดาบติดกระบอกปืนเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน หากจำเป็นต้องเข้าหาศัตรู ต่อมาด้วยความสงบที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องเผชิญหน้ากับสงคราม เลยไม่จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการฟันดาบ อีกต่อไป แต่ในความสงบนี้การฟันดาบก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นกีฬาแทนในที่สุด
สำหรับในประเทศไทย อาจไม่ใช่กีฬาที่ได้รับความนิยมเหมือนกับศิลปะการป้องกันตัวรูปแบบอื่น เนื่องจากไม่ใช่การฝึกด้วยมือเปล่า และมีโอกาสใช้ได้จริงน้อย เพราะต้องพึ่งอุปกรณ์ โดยคนไทยเริ่มรู้จักกีฬาฟันดาบครั้งแรกใน พ.ศ. 2478 แต่ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก นอกจากในเมืองหลวง จนกระทั่งต่อมามีการจัดตั้งสมาคมฟันดาบสมัครเล่นแห่งประเทศไทยขึ้น และมีการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 7 ที่กรุงเตหะราน ของประเทศอิหร่าน และเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่กีฬาที่ทุกคนให้ความสนใจมากเท่าไหร่นักในปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าเป็นกีฬาที่มีความเฉพาะตัวตอบโจทย์กับบางคนที่สนใจในด้านนี้จริง ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ยูโด (Judo) ศิลปะการต่อสู้แห่งความคิด และพัฒนาจิตใจสำหรับเด็ก
วิดีโอจาก : รู้หรือไม่ – DYK
กีฬาฟันดาบเหมาะกับเด็กอย่างไร
ด้วยความเฉพาะของกีฬาฟันดาบ ทำให้หลายคนอาจไม่สนใจและมองว่ามีความล้าหลัง ทั้งที่จริงแล้วกีฬาชนิดนี้มีการปรับเปลี่ยนเทคนิคต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยในแต่ละช่วงมากที่สุด อีกทั้งยังฝึกการพัฒนาทักษะหลายอย่างกับทุกคนที่ได้มีโอกาสฝึก ดังนี้
- ฝึกความคิด และกล้ามเนื้อ : กล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญที่จะเคลื่อนไหวตามการสั่งการของสมอง การเคลื่อนไหวร่างกายในการ ฟันดาบ จึงต้องพึ่งการทำงานทั้ง 2 รูปแบบที่มีความสัมพันธ์กันทั้งในการวางแผนด้านความคิด และแสดงผลออกมาผ่านร่างกาย ไม่ใช่กีฬาที่เน้นเข้าต่อสู้แบบตรง ๆ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการสู้อยู่เสมอ เพื่อรองรับคู่แข่งที่มีการปรับเปลี่ยนแผนในระหว่างการแข่งขันด้วยเช่นกัน นอกจากการฟันดาบแล้ว สมองและกล้ามเนื้อยังมีความสำคัญต่อการทำงานร่วมกันในชีวิตประจำวัน หากฝึกไว้รับรองว่าได้ใช้แน่นอน
- ความตั้งใจและเด็ดขาด : เนื่องจากเป็นกีฬาที่ไม่มีเวลาให้คิด และไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป การที่ต้องรีบตัดสินใจเพื่อตั้งรับ หรือโจมตี เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และต้องตัดสินใจให้เด็ดขาด หากมีความโลเล ไม่มั่นใจจะยิ่งเปิดช่องว่างให้คู่ต่อสู้เอาชนะได้ การให้เด็กได้ฝึกกีฬาฟันดาบจึงมีส่วนช่วยให้เด็กได้ฝึกการคิด และลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเด็ดขาด มั่นใจ และรวดเร็วนั่นเอง
- บริหารสมาธิ : ความเร็วจากการแข่งขัน เป็นสิ่งสำคัญในการฟันดาบ กีฬาที่คู่ต่อสู้อยู่ตรงหน้า และทั้ง 2 คนต่างมีความคิดที่จะเคลื่อนไหว ทำให้สมาธิในการสังเกต และมีสติอยู่ตลอดเวลา ทำให้เพื่อให้สามารถรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที หากไม่มีสมาธิก็ยิ่งมีโอกาสในการแพ้การแข่งขันมากยิ่งขึ้น
- ความสามารถพิเศษที่วิเศษ : การให้เด็กได้ฝึกฟันดาบถือเป็นกีฬาที่หาได้ยากในคนทั่ว ๆ ไป อาจบอกได้ว่าหากมีความชำนาญจะถือเป็นความสามารถพิเศษที่น่าสนใจ เนื่องจากบางสถาบันอาจต้องการคนที่มีความสามารถประเภทนี้เพื่อใช้ในการแข่งขัน ทำให้มีผลต่อการเข้ารับการศึกษากรณีใช้ความสามารถพิเศษ นอกจากนี้หากเด็กมีความสนใจ อาจถูกผลักดันให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในกีฬาอย่างเป็นทางการ จนเป็นนักกีฬาอาชีพได้อีกด้วย
- เวลาว่างที่มีประโยชน์ : การฝึกกีฬาทุกประเภท ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพราะมีประโยชน์กว่าการทำอย่างอื่น เนื่องจากเด็กสมัยใหม่มีโอกาสที่จะติดหน้าจอโทรศัพท์ค่อนข้างสูง ทำให้เสียโอกาสในการทำกิจกรรมอื่น ๆ การได้ออกกำลังกายสามารถส่งผลดีต่อทั้งจิตใจ และร่างกาย ได้มากกว่าการเสพติดสื่อออนไลน์อย่างแน่นอน
กีฬาฟันดาบเป็นการฝึกความคิด ไหวพริบ การตัดสินใจ และการใช้กล้ามเนื้อ อีกทั้งยังเหมาะกับเด็กที่ชอบความท้าทาย เนื่องจากไม่ใช่กีฬาประเภททีม ทำให้ทุก ๆ อย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตนเองแต่เพียงผู้เดียว
กติกาเบื้องต้นของกีฬาฟันดาบ
การฟันดาบจะต้องเริ่มจากการมีอุปกรณ์ที่จำเป็นนั่นคือดาบรูปแบบต่าง ๆ และชุดเหนียวสีขาว พร้อมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายจากอาการบาดเจ็บ โดยในการแข่งขันจะมีการจับคะแนนจากอุปกรณ์ไฟฟ้าบนชุด ประกอบกับการพิจารณาการเคลื่อนไหวของผู้เข้าแข่งขันด้วย โดยประเภทการแข่งขันจะแบ่งออกตามขนาดของดาบที่ใช้ในการแข่งขัน ดังนี้
- ดาบฟอยล์ (Foil) น้ำหนักไม่เกิน 200 กรัม
- ดาบเอเป้ (Epee) น้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม
- ดาบซาเบอร์ (Sabre) น้ำหนักไม่เกิน 700 กรัม
การแข่งขันฝ่ายชายจะมีเวลา 6 นาที หากใครได้ 5 คะแนนก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ สำหรับผู้หญิงจะมีเวลา 5 นาที และใช้กฎ 4 คะแนนเท่านั้น กรณีเสมอจากการแข่งด้วยดาบฟอยล์ และดาบซาเบอร์จะต้องแข่งใหม่ หากเป็นดาบเอเป้จะถูกปรับแพ้ทั้ง 2 ฝ่าย
ข้อห้ามของการแข่งขัน
- ห้ามเข้าต่อสู้ถึงขั้นประชิดตัว ต้องมีระยะห่าง ยกเว้นการเคลื่อนไหวไปพร้อมกับอาวุธอย่างถูกต้องตามกติกา หากตัวถูกกันจะต้องหยุดการแข่ง และจัดตำแหน่งใหม่
- กรณีมีการเข้าประชิดตัวจากการแข่งขันด้วยดาบฟอยล์ และซาเบอร์ จะมีการเตือนก่อน 1 ครั้ง หากทำซ้ำจะถูกลงโทษด้วยการฟัน 1 ครั้ง แต่หากเป็นการแข่งขันด้วยดาบเอเป้จะผ่านการพิจารณาก่อน หากไม่รุนแรงจะไม่ได้รับการลงโทษ
- การแข่งขัน ฟันดาบ ด้วยดาบฟอยล์ห้ามข้ามเขตที่กำหนดเกิน 1 เมตร ส่วนดาบอีก 2 ชนิด จะไม่เกิน 2 เมตร โดยจะได้รับการเตือนก่อน หากทำซ้ำจะถูกลงโทษเป็นการฟัน 1 ครั้งเช่นกัน
- การถือดาบจะถือได้เพียงแค่มือเดียว กรณีต้องการเปลี่ยนมือต้องแจ้งต่อกรรมการ การถือต้องถือตลอดเวลา ไม่สามารถขว้างดาบได้ และห้ามใช้มือที่ไม่ได้ถือดาบในการป้องกันการโจมตีจากอีกฝ่าย
- ห้ามฟันดาบอย่างรุนแรงใส่คู่ต่อสู้ โดยจะได้รับการเตือนก่อน 1 ครั้ง หากทำซ้ำจะถูกลงโทษด้วยการฟัน 1 ครั้ง และหากทำซ้ำครบ 3 ครั้ง จะถูกปรับแพ้ทันที
- ในระหว่างการแข่งขันห้ามทำการถ่วงเวลา หากผิดกติกาจะถูกลงโทษด้วยการฟัน 1 ครั้ง
หัวใจสำคัญนอกจากจะเป็นการฝึกฝนความคิด และร่างกายของเด็กแล้ว กีฬาฟันดาบยังสอนให้รู้จักการให้เกียรติ และความเคารพที่มีต่อผู้อื่น ผ่านกฎกติกาที่เข้มงวด ต่อความปลอดภัยจากการแข่งขันอยู่เสมอ
บทความที่น่าสนใจ
“ขี่ม้า” ศิลปะแห่งความงามและความท้าทายของเด็ก
“ฟุตซอล” เรียนรู้กีฬาแห่งจังหวะที่คู่ควรกับเด็กวัยเรียน
แฮนด์บอล (Handball) กีฬาแห่งความเร็ว และการทรงตัว เหมาะกับเด็กอย่างไร
ที่มาข้อมูล : workpointtoday masteryfencing sanook