คุณพ่อเอง ก็คงจะมีความตื่นเต้นไม่แพ้กับคุณแม่ เมื่อรู้ว่าลูกน้อยในท้องโต ๆ ของคุณแม่ กำลังจะลืมตาดูโลกออกมา ในวันนี้ เราจะมาแนะนำวิธีการเตรียมตัวในห้องคลอด ฉบับคุณพ่อกัน! ว่า พ่อเข้าห้องคลอด ต้องทำตัวอย่างไร และจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง! ไปดูกันเลย
พ่อเข้าห้องคลอด ได้ไหม?
ปัจจุบันมีหลาย ๆ โรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ที่อนุญาตให้คุณพ่อเข้าไปให้กำลังใจคุณแม่ แต่ตัวคุณพ่อเองก็ย่อมเคอะเขิน ทำตัวไม่ถูก หรือไม่รู้ว่าต้องเจออะไรบ้างภายในห้องคลอด แต่ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องสอบถามและตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลก่อนนะคะ ว่าอนุญาตให้คุณพ่อเข้าไปหรือเปล่า โดยในวันนี้ เราจึงมีคำแนะนำดี ๆ ให้ พ่อเข้าห้องคลอด กันว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง!
บทความที่เกี่ยวข้อง : คุณแม่ครรภ์คุณภาพ (Mother Class) โรงพยาบาลนวเวช เอาใจคุณแม่มือใหม่
เช็กให้ดีว่า โรงพยาบาลนี้อนุญาตให้พ่อเข้าห้องคลอดหรือไม่
คุณพ่อคุณแม่ต้องเช็กก่อนว่า ในโรงพยาบาลที่ตัวเองคลอดนั้น อนุญาตให้คุณพ่อเข้าห้องคลอดหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มีแต่โรงพยาบาลเอกชนเท่านั้นที่อนุญาตให้คุณพ่อเข้าไปได้ เพราะโรงพยาบาลรัฐมีเรื่องการดูแลความปลอดภัย เนื่องจากในห้องคลอด มีแม่ท้องที่คลอดพร้อม ๆ กันมากมาย ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสัดเป็นส่วน มักจะมีห้องส่วนตัว
มีกฎเกณฑ์หรือระเบียบปฏิบัติอย่างไร
แต่ละโรงพยาบาลก็มีระเบียบไม่เหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่ต้องสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อนว่า คุณหมอสามารถเข้าไปได้ไหม ถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปได้หรือเปล่า
คุณพ่อจะช่วยอะไรได้บ้างเมื่ออยู่ในห้องคลอด
คุณแม่ที่เลือกวิธีคลอดธรรมชาติ ต้องออกแรงเบ่งมาก เจ็บปวดสุด ๆ หน้าที่ของคุณพ่อคือ ช่วยกันเชียร์เบ่ง จับมือคุณแม่ไว้ คอยเป็นกำลังใจอยู่ข้าง ๆ แม่จะได้รู้สึกอุ่นใจ สำหรับโรงพยาบาลในต่างประเทศ พยาบาลยังแนะนำด้วยว่า คุณพ่อสามารถช่วยนวด และช่วยคุณแม่ ด้วยการหายใจเป็นจังหวะ พร้อม ๆ กับคุณแม่ที่กำลังเบ่ง วิธีการก็คือ หายใจเข้าเต็มที่ สูดลมหายใจลึก ๆ กลั้นหายใจ แล้วเบ่งอึ๊บ ๆ ระหว่างนั้นคุณแม่จะบีบมือ หยิก หรือจิก คุณพ่อก็ต้องอดทน คอยบีบนวดมือ พูดจาไพเราะ ให้กำลังใจไปเรื่อย โดยสิ่งที่คุณพ่อควรทำในห้องคลอด เราสรุปมาให้แล้ว ดังนี้ค่ะ
-
คอยให้กำลังใจคุณแม่
ในช่วงเวลานี้ คุณแม่ย่อมมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการคลอดลูกเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะกังวลถึงความเจ็บปวด ยิ่งโดยเฉพาะกรณีที่ คลอดแบบธรรมชาติ คุณพ่อจะต้องให้กำลังใจคุณแม่ให้มาก ๆ เพื่อให้คุณแม่คลายความกังวล และความกลัวออกไป
-
คอยกระตุ้นในเรื่องการคลอด
ไม่ว่าจะเป็นการบีบ การนวดเพื่อความผ่อนคลาย หรือพยายามเบ่งไปพร้อม ๆ กับคุณแม่ ทั้งนี้ คุณพ่อควรสังเกตว่า จังหวะไหน คุณแม่ควรเบ่ง หรือจังหวะไหนพักหายใจ เพื่อที่การคลอดของคุณแม่ จะดำเนินไปอย่างราบรื่นค่ะ
-
เข้าคอร์สที่โรงพยาบาลจัดอบรม
ทางโรงพยาบาลส่วนใหญ่ มีการจัดคอร์สสอนอบรมการเลี้ยงดูลูกน้อย สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการอุ้ม อาบน้ำ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องได้ทำในอนาคต หากคุณพ่อมาฝึกไว้ก่อน จะช่วยคุณแม่ได้ง่ายมากขึ้นในอนาคตแน่นอนค่ะ
-
เตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย
ความพร้อมด้านร่างกายเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการคลอดนั้น คุณแม่อาจใช้เวลานานกว่าหลายชั่วโมง ดังนั้น คุณพ่อควรจะแข็งแรงพอ ที่จะสู้ไปพร้อม ๆ กับคุณแม่ในห้องคลอดนะคะ
-
ช่วยคุณแม่จัดกระเป๋า
เพื่อที่จะได้หาของอะไรเจออย่างง่าย และสามารถช่วยเหลือคุณแม่หลังจากการพักฟื้นได้อย่างเต็มที่นั่นเองค่ะ
พ่อต้องเตรียมใจว่าจะเจออะไรในห้องคลอด
- อย่าเข้าไปถ้ากลัวเลือด คุณพ่อที่ตัดสินใจเข้าห้องคลอด ต้องมั่นใจก่อนว่าตัวเองไม่กลัวเลือด เห็นเลือดแล้วไม่เป็นลม เพราะจะทำให้เป็นปัญหากับเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานหนักมากขึ้นนั่นเองค่ะ
- เมื่อถึงวินาทีที่ลูกออกมา ต้องตั้งสติให้ดี เพราะในห้องคลอดจะวุ่นวาย ถ้าคุณพ่อลน แล้วเดินไปเดินมา พยาบาลกับหมอ จะทำงานกันไม่สะดวก และไม่แนะนำให้ดูตอนที่ลูกโผล่หัวออกมา เพราะอาจเป็นภาพที่ฝังใจ และเป็นปัญหาเกี่ยวกับการมีเซ็กส์ในอนาคตได้
- ทำใจให้ได้เวลาที่เห็นคุณแม่เจ็บปวด อย่าเสียใจไปพร้อม ๆ กับคุณแม่ แต่ต้องฮึดสู้ให้คุณแม่เห็น เพื่อเป็นกำลังใจให้คุณแม่ฝ่าฟันไปได้พร้อมกัน
แล้วอย่าลืม อ่านหนังสือเยอะ ๆ เพื่อเตรียมพร้อมเป็นพ่อ หรือเข้าคอร์สอบรมของทางโรงพยาบาล เพื่อเรียนรู้วิธีดูแลคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ ไปจนถึงการดูแลลูกน้อยหลังคลอด คุณพ่อจะได้มั่นใจ และเตรียมพร้อมเป็นพ่อคนได้อย่างดีที่สุด
โดยสรุปแล้ว สิ่งที่คุณพ่อต้องเตรียมตัวมากที่สุด ก็คือ การเตรียมตัวเตรียมใจ และตั้งสติไปพร้อมกับคุณแม่ เพื่อให้คุณแม่สบายใจ มีกำลังใจในการคลอดไปพร้อม ๆ กับคุณพ่อ และสามารถคลอดลูกน้อยออกมาได้อย่างปลอดภัย และเตรียมตัวในการดูแลลูกน้อยที่จะลืมตาดูโลกออกมา หลังจากการคลอดครั้งนี้นั่นเองค่ะ!
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด ปฏิทินฤกษ์คลอดบุตร ประจำปี 2566 ปีกระต่ายทอง
โรคคลั่งผอม แม่หลังคลอดระวัง มาจากหลายปัจจัย อันตรายขั้นสูง !
รีวิวการคลอดธรรมชาติของลูกชายคนแรกแบบงง ๆ
ที่มา : konthong