ตั้งกฎครอบครัว อย่างไรให้ลูกเชื่อฟัง คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ไม่ควรพลาด!

ไม่ว่าจะครอบครัวโรงเรียน องค์กร หรือก้อนกลุ่มชุมชนใด ก็จำต้องมีกฎเกณฑ์กำกับไว้เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างปกติสุข แม้แต่เกมที่เด็กเล่นก็ยังต้องมีกฎ แล้วบ้านของคุณล่ะ มีกฎแล้วหรือยัง?

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ตั้งกฎครอบครัว อย่างไรให้ลูกเชื่อฟัง คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ไม่ควรพลาด!

การตั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ บนพื้นฐานของความรักถือเป็น การสร้างฐานอันมั่นคงให้ครอบครัว คำถามคือแล้วเราควรจะตั้งกฎแบบไหน? คำตอบคือ เราควรตั้งกฎที่จะช่วยสร้างครอบครัวและคนในครอบครัวให้แข็งแรง คุณควรตั้งกฎให้สอดคล้องกับอายุของลูก ๆ ตารางชีวิต จริยธรรมและความเชื่อของคุณ เรามีคำแนะนำที่เกี่ยวกับการ ตั้งกฎครอบครัว ที่จะช่วยคุณได้

บ้านที่มีเด็กแบเบาะ

บ้านที่มีเด็กเล็กอาจต้องมีกฎง่าย ๆ ที่เน้นด้านความปลอดภัยและระเบียบวินัยเป็นหลัก

  • เวลาเข้านอน ควรชัดเจน เข้าใจง่าย และทำสม่ำเสมอ
  • ควรปลูกฝังนิสัยการกินที่ดีให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก กฎ เช่น ห้ามกินเหลือทิ้ง กินอาหารครบห้าหมู่ ไม่กินหวาน พ่อแม่ควรปลูกฝังโดยการทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง
  • กฎเกี่ยวกับการฟังควรมีความชัดเจน และเข้าใจง่ายสำหรับเด็ก เช่น ถ้าจะทำโทษลูก คุณควรจะปฏิบัติตามกฎสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นเด็กอาจสับสน ว่าทำไมบางครั้งเขาจึงโดนทำโทษ แต่บางครั้งก็ไม่โดนทำโทษเมื่อปฏิบัติตัวเหมือนกัน

เด็กก่อนวัยเรียน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัยก่อนเข้าโรงเรียน คุณจำเป็นต้องเพิ่มกฎขึ้นอีกสองสามข้อ ดังนี้

  • ความรับผิดชอบ เด็กวัยนี้เป็นวัยที่เหมาะสมที่จะเริ่มช่วยงานบ้าน เช่นจัดโต๊ะอาหาร พับผ้า และเก็บของเล่น
  • คำพูด นี่เป็นวัยที่เด็กกำลังจดจำและรู้จักใช้คำใหม่ ๆ ดังนั้นคุณอาจต้องตั้งกฎเรื่องคำสุภาพและคำหยาบ หัดให้ลูกรู้จักพูด “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” ให้ติดปาก
  • ช่วงนี้อาจเป็นช่วงที่เจ้าตัวเล็กเริ่มแผลงฤทธิ์ เขาจะทำตรงข้ามกับสิ่งที่คุณขอ หรือทำสิ่งที่คุณห้ามซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะพวกเขาแค่ต้องการจะทดสอบขีดจำกัดของข้อห้าม แต่ไม่ได้มีเจตนาจะท้าทายคุณ (แม้บางครั้งคุณอาจจะคิดอย่างนั้นก็ตาม) เคล็ดลับคือ คุณต้องปฏิบัติตัวให้คงเส้นคงวา ควบคุมตัวเองให้ได้ ไม่ใช่ว่าบางครั้งก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แต่บางครั้งปล่อยผ่านไปทั้ง ๆ ที่ลูกทำผิดเช่นเดิม วางแผนให้ดี และตัดสินใจล่วงหน้าว่าคุณจะรับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไร
  • เด็กวัยนี้จะเริ่มพัฒนาทักษะทางสังคม นิสัยใจคอของลูกจะถูกพัฒนาขึ้นในช่วงอายุนี้ โดยเขาจะจดจำจากสิ่งที่คุณทำและสอน คุณควรเป็นแบบอย่างที่ดี สอนเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ความเอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารี และความซื่อสัตย์ การอธิบายให้ลูกฟังว่าคุณสมบัติเหล่านี้สำคัญอย่างไร และปลูกฝังนิสัยเหล่านี้ให้กับลูกจะช่วยสร้างนิสัยพื้นฐานที่ดีให้กับลูกเพื่อให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคงต่อไป

เด็กวัยประถม

เมื่อลูกเริ่มเข้าโรงเรียน เขาจะได้พบปะผู้คนและความคิดใหม่ ๆ การได้เจอเพื่อนที่มีนิสัยและถูกอบรมสั่งสอนมาต่างกันจะทำให้พวกเขาตั้งคำถามมากมาย นี่เป็นช่วงที่พวกเขาจะรู้สึกผูกพันและทราบซึ้งในความรักที่คุณมีให้โดยไม่รู้ตัว

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เด็กวัยประถมต้องการและพยายามทำทุกอย่างให้คุณพอใจ ฉะนั้นนี่จึงเป็นช่วงเวลาทองที่คุณจะสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกได้ นี่เป็นช่วงเวลาที่ลูกจะฟังคุณมากที่สุดในชีวิต รีบฉวยโอกาสนี้ไว้ เตรียมลูกให้พร้อมสำหรับก้าวต่อไปของชีวิต

  • ต้องมีกฎที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเพื่อนและเพื่อนร่วมชั้นที่ไม่ได้นับเป็นเพื่อน ว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้
  • นี่เป็นช่วงที่ลูกคุณอาจเริ่มหัดโกหก คุณต้องไม่โกหกลูก แต่ต้องสอนลูกทุกครั้งที่จับได้ว่าเขาไม่ซื่อสัตย์
  • ควรตั้งกฎเกี่ยวกับวินัยการเรียนในช่วงวัยนี้ เพราะมันจะช่วยสร้างนิสัยทางการเรียนให้เขาต่อไปในอนาคต พยายามให้เขาทำการบ้านให้เสร็จก่อนหัวค่ำในแต่ละวัน ถ้าลูกลืมทำการบ้าน คุณอาจอะลุ่มอล่วยให้ได้ครั้งหรือสองครั้ง และนั่งทำการบ้านกับลูก แต่ถ้าเกินกว่านั้น พวกเขาต้องโดนทำโทษ จะได้รู้จักรับผิดชอบมากขึ้น

วัยมัธยมขึ้นไป

เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น คุณต้องตั้งกฎอีกเป็นเบือเกี่ยวกับการเล่นคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ, ไอพอด/ไอแพด, การออกไปเที่ยวเล่น, ค้างบ้านเพื่อน, มีแฟน, ขับรถ และอีกร้อยแปดเรื่อง แค่คิดก็ปวดหัวแล้วใช่ไหมล่ะคะ?

อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไป ถ้าครอบครัวของคุณทำเรื่องกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ชัดเจนมาตั้งแต่ต้น คุณก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรกับการตั้งกฎใหม่ ๆ กับลูกวัยรุ่น แน่นอนว่าอาจมีการทดสอบความอดทนกันบ้าง แต่ไม่ได้แปลว่าลูกจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา มันแค่แปลว่าพวกเขาอยากโตเป็นผู้ใหญ่แค่นั้นเอง แม้อาจจะไม่ได้แสดงออกชัดเจน แต่เชื่อหรือไม่ ว่านี่เป็นช่วงที่เขาต้องการให้คุณช่วยมากที่สุด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • กำหนดเวลาใช้โทรศัพท์มือถือ บังคับให้ปิดโทรศัพท์ตามเวลาในแต่ละเย็น อย่าให้ลูกเอาโทรศัพท์ไปไว้ในห้องเวลากลางคืน
  • ตั้งค่าและพาสเวิร์ดต่าง ๆ ในคอมพิวเตอร์เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเข้าไปดูสิ่งที่ไม่สมควร เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพมีโอกาสมาล่อลวงลูกได้
  • กำหนดเวลากลับบ้านชัดเจน อาจยืดหยุ่นได้บ้างเวลามีวาระโอกาสพิเศษ นอกนั้น พยายามยึดตามกฎอย่างเคร่งครัด
  • คุณมีสิทธิที่จะสอบถามพ่อแม่คนอื่น ๆ ว่าลูกอยู่ไหน กับใคร เมื่อไหร่ ทำอะไร หากลูกไปเที่ยวเล่นบ้านเขา คุณควรต้องเริ่มกังวล ถ้าลูกพยายามเลี่ยงคำถามหรือตอบคำถามอ้อมแอ้ม
  • คุยเรื่องกฎเกณฑ์ต่าง ๆ กับลูกว่าด้วยเรื่องออกไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ ให้ลูกได้พิจารณาถึงความเหมาะสมด้วยตัวเอง เพราะลูกมีแนวโน้มจะยอมรับกฎกติกามากขึ้น แต่อย่าลืมว่าคุณเป็นพ่อแม่ ยังไงคุณก็ควรเป็นคนยื่นคำขาดสุดท้าย

จุดประสงค์ในการตั้งกฎต่าง ๆ ในบ้าน ไม่ใช่เพื่อบีบบังคับ แต่เพื่อให้ทุกคนในบ้าน (รวมทั้งตัวคุณ) รู้หน้าที่ของตนและความคาดหวังของสมาชิกคนอื่น ๆ จะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข กลมเกลียวและห่วงใยซึ่งกันและกัน

1. ใช้น้ำเสียงที่หนักแน่น
การใช้การพูดและไม่ตะโกนมันจะทำให้คำพูดมีความขลัง พูดด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นแสดงให้เห็นว่าเราหมายถึงในสิ่งที่เราพูด ในทางตรงข้ามหากเราตะโกนมันอาจจะทำให้พวกลูกรู้สึกตกใจและส่งผลให้ลูกรู้สึกหวาดกลัว ในทางจิตวิทยา พฤติกรรมที่รุนแรงของผู้ปกครองนั้นจะส่งผลให้เด็กยอมที่จะทำตาม แต่ไม่ใช่เพราะลูกเรียนรู้ว่าพวกเขาทำผิดอะไรที่ทำตามเพราะหวาดกลัว

2. ต้องมุ่งมั่น
ถ้าคุณบอกว่านี่จะเป็นรายการสุดท้ายที่ลูก ๆ จะได้ดูแล้ว คุณก็ต้องยอมที่จะเด็ดขาด อย่าอ่อนข้อ อย่ายอมเพียงเพราะลูกร้องไห้หรือบ่น หากพ่อแม่ยอมอ่อนข้อ นั่นหมายถึง ลูก ๆ ก็สามารถที่จะเจรจาต่อรองบางสิ่งกับคุณได้ง่าย ๆ และเมื่อเขารับรู้ว่าทำได้ พวกเขาก็จะไม่เรียนรู้ที่จะเชื่อฟังและจะใช้วีธีการเดิมกับคุณซ้ำแล้วซ้ำอีก

3.อย่าให้ลูกมีทางเลือก
ตัวอย่างเช่น อย่าใช้คำพูดอย่าง “ลูกควรปิดทีวีได้แล้ว” แต่ให้ใช้คำพูดตรงๆ “พ่อ/แม่ต้องการให้ลูกปิดทีวีเดี๋ยวนี้นะคะ” มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณมีอำนาจเหนือพวกเขา และลูกก็ควรจะทำตามเมื่อถึงเวลาดูทีวีตามที่กำหนดไว้

4. ลงไปอยู่ในระดับเดียวกับลูก ๆ
เวลาที่ต้องการออกคำสั่งให้ลูกทำอะไร ลองย่อตัวของคุณให้ลงไปในระดับสายตาและความสูงเดียวกัน วิธีการนี้จะทำให้ลูกรู้สึกใกล้ชิดกับพ่อแม่ และจะไม่รู้สึกว่าเป็น “เพียงคนเดียว” ที่ถูกบอกว่าให้ทำอะไร เมื่อลูกพบว่าพ่อแม่อยู่ในระดับเดียวกัน เขาก็จะให้ความร่วมมือกับคุณอย่างง่ายดาย

สิ่งสำคัญในการที่จะออกคำสั่งใช้กฎที่ตั้งไว้กับลูก คือ พ่อแม่ต้องเริ่มต้นที่จะพูดคุยสื่อสารกับลูก ๆ ตั้งแต่ในวัยเด็ก เช่นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด การแลกเปลี่ยนความรู้สึก และการให้คำแนะนำ และหลังจากนั้นค่อยเป็นในเรื่องของการรับคำสั่งด้วยคำพูดและน้ำเสียงที่ดี ในไม่ช้า เด็ก ๆ จะรู้ว่า พ่อแม่คาดหวังอะไรจากพวกเขา เพื่อที่จะได้มีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม การมีกฎกติกากับลูกขึ้นมา พ่อแม่ควรดูให้อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลที่เหมาะสม แต่ไม่ควรมีมากเกินไป เพราะเด็กในวัยนี้กำลังอยู่ในเรียนรู้ ชอบลองผิดลองถูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยขัดเกลาให้ลูกกลายเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อไปในอนาคต

 

Source :  1

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

10 วิธีในการสอนลูกของคุณให้มี ความซื่อสัตย์และมีน้ำใจ

วิธีสร้างวินัยให้ลูกน้อย เคล็ดลับการสอนลูก ให้รู้จักการแบ่งเวลาเรียนและเล่นได้ดี

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team