เมื่อลูกน้อยเริ่มก้าวเข้าสู่วัย 1 ขวบ หรืออยู่ในช่วงระหว่าง 1-2 ขวบ นั้น เป็นช่วงเวลาที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่จะส่งเสริมทักษะที่เกี่ยวกับเรื่องของควาามคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ลูกๆ ได้ลองทำ งานศิลปะง่ายๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากเพิ่มทักษะและได้บริหารสมองไปกับลูกด้วยกัน ลองมาทำกิจกรรม เล่นกับลูก ด้วย งานศิลปะง่ายๆ ก็เป็นไอเดียที่สนุกสนาน ทำได้ไม่ยาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็ก 3 ขวบ เคล็ดลับเลี้ยงลูกให้ฉลาดตามวัย ที่พ่อแม่ควรรู้!
งานศิลปะง่ายๆ เสริมความฉลาดให้ลูกได้ตามช่วงวัย
โดยธรรมชาติของเด็กนั้น จะชอบการขีดเขียนวาดภาพ ระบายสีศิลปะอยู่แล้ว หากคุณหนูๆ ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ให้เขามีพัฒนาการการวาดภาพระบายสีศิลปะที่ดีตามวัย ก็จะทำให้ลูกน้อยมีพัฒนาการทางร่างกาย ความคิด และจิตใจที่ดีตามไปด้วย ซึ่งเด็กจะมีการพัฒนาการทำงานศิลปะ แตกต่างกันตามแต่ละช่วงวัย คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกเล่น งานศิลปะง่าย ๆ หลากหลายตามช่วงวัยของเด็กๆ ดังนี้
-
งานศิลปะ ในวัย 1-2 ขวบ
ในช่วงอายุประมาณ 1-2 ปี เด็กจะเริ่มวาดภาพขีดเขียนสะเปะสะปะเป็นเส้นยุ่งเหยิง โดยปราศจากรูปทรงและความหมาย เนื่องมาจากการที่เด็กยังบังคับกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ ยังไม่ได้ ทำให้การวาดภาพยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่การขีดเขี่ยของเด็กล้วนเป็นพื้นฐานความรู้และความเข้าใจในแบบของศิลปะลายเส้นเป็นผลงานศิลปะได้เหมือนกัน
-
งานศิลปะ ในวัย 2-4 ขวบ
ในช่วงอายุประมาณ 2-4 ปี เด็กจะเริ่มขีดเขียนภาพเป็นรูปทรงได้ แต่ยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ดูเป็นรูปทรงมากขึ้น ใกล้ความจริงไปทุกทีไม่ว่าจะเป็นรูปวงกลม วงรี สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ฯลฯ บางทีเมื่อเด็กเขียนพอมองเห็นเป็นรูปทรงแล้ว ซึ่งระยะนี้การประสานงานของกล้ามเนื้อมือและสายตาจะเริ่มดีขึ้น งานระบายสีศิลปะของเด็กก็จะเริ่มมีความหมายขึ้น แล้วต่อมาก็จะเป็นรูปต่าง ๆ ที่เริ่มมีความหมาย เช่น หัวใจ ดอกไม้ คน ฯลฯ
-
งานศิลปะ ในวัย 3-6 ขวบ
ในช่วงอายุประมาณ 3-6 ปี เด็กจะเริ่มสนุกกับงานศิลปะและการพิมพ์ภาพด้วยส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น นิ้วมือ ฝ่ามือ แขน ข้อศอก ฯลฯ และเด็ก ๆ จะเริ่มเรียนรู้การสร้างสรรค์ภาพระบายสีศิลปะด้วยการพับสี และรู้สึกสนุกจึงทำซ้ำแล้วซ้ำอีก และเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของรูปร่างจากการพับสีเพื่อให้การรูปร่างต่าง ๆ เด็กจะได้สัมผัสและสนุกสนานกับสีที่หลากสีสัน และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่จากจินตนาการ และยิ่งถ้าคุณพ่อและคุณแม่ได้มาใช้เวลาทำงานระบายสีศิลปะกับลูก จะช่วยให้เพลิดเพลินกันทั้งบ้าน ดูอบอุ่นดีไม่น้อย
-
งานศิลปะ ในวัย 4-6 ขวบ
ในช่วงอายุประมาณ 4-6 ปี เป็นช่วงเริ่มต้นของการวาดภาพที่มีรูปร่าง ดูแล้วเป็นเรื่องเป็นราวได้ เช่น แมวตัวสีส้มยืนอยู่ลำพัง เป็นต้น ซึ่งภาพจะมีความหมายกับเด็กมากขึ้น และเด็กๆ ยังชอบใช้สีที่สะดุดตาแล้วแต่สีไหนประทับใจ
-
งานศิลปะ ในวัย 4-7 ขวบ
ในช่วงอายุประมาณ 4-7 ปี เด็กวัยนี้จะสามารถสร้างผลงานศิลปะจากการเป่าสีได้แล้ว โดยการนำสีผสมกับน้ำให้สีข้นพอสมควร และหยดสีลงบนกระดาษแล้วเป่าสีให้ไหลกระจายไปในทิศทางต่างๆ จนทั่วแผ่นกระดาษได้ แล้วเด็กก็สามารถบอกหรือเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลงานที่ตนเองทำได้ งานระบายสีศิลปะแบบนี้เด็กได้ความสนุกเพลิดเพลินไปกับการเป่าสีและผสมสีเป็นรูปต่าง ๆ ตามแต่ที่จินตนาการไว้ของเด็กๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ร้อยลูกปัด มีประโยชน์อย่างไร? ฝึกสมอง ฝึกสมาธิได้จริงหรือไม่
9 ไอเดีย งานศิลปะง่าย ๆ เล่นกับลูก ได้ด้วย
งานศิลปะง่ายๆ ช่วยทำให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อหน่ายได้เป็นอย่างดี จะทำให้เด็กๆ มีสมาธิอยู่กับตัวงานของเขาและไม่วิ่งเล่นซนไปทั่วบ้าน โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือสื่อสารอะไรเลยอย่างพวกโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต และนี่คือไอเดีย งานศิลปะง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ก็ เล่นกับลูก ได้ด้วย
-
มือและเท้าสร้างงานศิลปะ
สร้าง งานศิลปะง่ายๆ ด้วยการให้เด็กๆ ได้สนุกกับการใช้อวัยวะอย่าง มือและเท้า ในการสร้างผลงาน ซึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมก็มีแค่ สีน้ำสำหรับเด็ก และภาชนะผสมสี โดยวิธีการเล่นก็เพียงแค่ให้เด็กๆ ใช้มือและเท้า ในการจุ่มสี จากนั้นก็นำมาวางบนกระดาษสีขาวที่เตรียมไว้ ถ้าจะให้สนุกและได้พัฒนาการด้วย ก็ลองให้เด็ก ๆ ใช้มือและเท้าสร้างรูปสัตว์ รับรองว่าสนุกแน่นอน
-
ใช้อวัยวะสร้างสัตว์ให้สมบูรณ์
คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเป็นคนเริ่มต้นในการวาดภาพสัตว์ขึ้นมาสักชนิด อาจจะทำง่าย ๆ โดยใช้รูปทรงอย่าง วงกลม วงรี สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม แล้วก็ให้เด็ก ๆ ลองใช้อวัยวะของตัวเองอย่าง มือ นิ้ว หรือเท้า มาต่อยอดตัวการ์ตูนของคุณพ่อคุณแม่ให้ดูสมบูรณ์แบบมากขึ้น
-
สร้างผลงานศิลปะด้วยแม่พิมพ์
ให้เด็กๆ ได้สนุกกับการออกแบบ หรือวาดภาพ ระบายสี จากแม่พิมพ์ โดยแม่พิมพ์ที่ว่านี้ ก็จะเป็นแม่พิมพ์ที่ใช้ในการทำอาหาร เช่น แม่พิมพ์สำหรับทำไข่ดาว หรือคุ้กกี้ จากนั้นก็ให้เด็กจุ่มลงในสี และวางประทับลงบนกระดาษสีขาว หรือจะวางบนกระดาษสีขาว แล้วนำสีมาเทใส่ ก็สนุกได้อีกแบบ ที่สำคัญคืออย่าลืมลองให้เด็กๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยการต่อยอดภาพแม่พิมพ์ให้กลายเป็น คน สัตว์ หรือสิ่งของ
-
ขีดเส้นสะเปะสะปะด้วยสีเทียน
ใช้สีเทียน ที่มีด้ามจับขนาดใหญ่ หรืออาจจะเป็นรูปทรงต่าง ๆ เพื่อง่ายต่อการหยิบจับ แล้วก็ทนต่อแรงกดในขณะที่ขีดเส้นสะเปะสะปะหรือระบาย นอกจากนี้ควรเลือกสีเทียนที่ปลอดสารพิษด้วย สำหรับเฉดสีควรจะมีแค่ 6-12 เฉด เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ หากมีเฉดสีเยอะเกินไปอาจทำให้เด็กเล็กๆ เกิดความสับสนได้
-
วาดภาพเชิงสัญลักษณ์ง่ายๆ
เช่น วาดภาพดอกไม้ หัวใจ ด้วยสีเทียนหรือสีไม้ ที่มีด้ามจับขนาดใหญ่ หรือด้ามที่มีลักษณะรูปทางที่ใช้ให้ถนัดมือ จะยิ่งเหมาะมือเด็กมากขึ้น และสีไม้นั้นต้องใช้ความพยายามในการระบายเพื่อควบคุมแรง ทิศทาง และสมาธิไม่ออกเส้นขอบ ทำให้เด็กๆ ได้เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้เป็นอย่างดี และสีไม้ที่เหลาใหม่ๆ จะมีปลายที่แหลม ผู้ปกครองต้องคอยระวังไม่ให้เด็กๆ ถือวิ่งเล่นเพราะอาจจะเกิดอันตรายกับเด็กๆ ได้
-
ภาพตัวการ์ตูน และวัตถุต่างๆ
เช่น สุนัข แมว หรือตัวการ์ตูนที่เด็ก ๆ ชอบ ด้วยสีเทียน, สีไม้หรือสีเมจิก ที่สามารถให้เด็กใช้ด้ามจับขนาดปกติและมีสีสันสดใส จะกระตุ้นความสนใจของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนการเลือกใช้เฉดสีนั้นสามารถเพิ่มเฉดสีขึ้นเป็น 24 เฉดสี เพื่อสอดคล้องกับภาพวาดที่มีรายละเอียดของสีมากขึ้น เพื่อเพิ่มการเรียนรู้ในสีต่างๆ
-
การพับสี
โดยสีที่เหมาะสมกับการพับสีแบบนี้ก็คือสีน้ำ โดยหยดสีใส่กระดาษแล้วพับครึ่งกระดาษ เมื่อกางออกมาจะเกิดเป็นรูปร่างต่างๆ ในแนวสมมาตร ทั้งนี้ ควรเลือกสีที่ไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อเด็ก รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ของสีด้วย แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่คอยดูแลอยู่ข้างๆ ในขณะที่เด็กพับสี พร้อมทั้งให้เด็กได้เรียนในเรื่องของการผสมสีไปด้วย
-
การเป่าสี
สีที่เหมาะสมกับการเป่าสีก็คือสีน้ำ โดยผสมสีน้ำให้ค่อนข้างเหลวแล้วหยดสีลงไปในกระดาษ โดยใช้ปากเป่าโดยตรงหรือเป่าสีผ่านการใช้หลอดดูดน้ำ เด็ก ๆ จะได้สนุกกับการเป่าสีออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ ตามจินตนาการ ทั้งนี้ จะต้องเป็นสีที่ไม่มีสารเคมีอันตรายต่อเด็ก ใช้งานได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่คอยดูแลเด็กอยู่ข้างๆ ในขณะที่เป่าสีด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้สีน้ำเข้าปากเด็ก
-
เพ้นท์ก้อนหิน
การเพ้นท์ก้อนหินเป็นที่นิยมในศิลปะเด็กมาก แต่กิจกรรมนี้ยังช่วยให้บำบัดจิตใจเด็กอีกด้วย เพราะการเพ้นท์ก้อนหินจะทำให้ลวดลายบนนั้นเป็นตัวแทนของอารมณ์ที่จับต้องได้และเข้าใจง่ายสำหรับเด็กขึ้น ควรหาหินที่มีผิวสัมผัสเรียบและนำไปล้างให้สะอาด หาสีโปสเตอร์ที่ปลอดสารพิษเหมาะสำหรับเด็กเพื่อใช้วาดได้ หากต้องการเก็บผลงานไว้ คุณพ่อคุณแม่สามารถนำก้อนหินไปเคลือบ เก็บได้อีกนาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรดูว่าพฤติกรรมลูกน้อยสมควรกับกิจกรรมนี้หรือไม่ ไม่ควรให้เด็กทำกิจกรรมนี้ถ้าเด็กคนนั้นเป็นคนรุนแรง ชอบปาของ ก็ควรให้ทำกิจกรรมอื่นที่ปลอดภัยกว่านี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : รวมไอเดีย ประดิษฐ์ของเล่น DIY ของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ ทำเองก็ได้ง่าย ๆ
งานศิลปะง่ายๆ ใช้เป็น “ศิลปะบำบัด” ปรับอารมณ์ลูกน้อย
อีกประโยชน์ของงานศิลปะ คือการใช้เป็น “ศิลปะบำบัด” ซึ่งเป็นการบำบัดประเภทหนึ่งที่ช่วยปรับอารมณ์ลูกน้อยได้ รวมทั้งยังช่วยเสริมสร้างสมาธิให้เด็กสมาธิสั้นอีกด้วย เพราะศิลปะบำบัดถือเป็นการระบายอารมณ์ผ่านงานศิลปะ เป็นการหมุนเวียนพลังงานของเด็กให้ไหลทั่วร่าง หรือปรับอารมณ์ให้มั่นคงขึ้น เด็กที่มีอาการหมกมุ่น ไฮเปอร์ หรือซึมเศร้าก็สามารถใช้ศิลปะบำบัดเพื่อให้เขาระบายอารมณ์ในใจออกมาได้
จากแนวคิดที่ว่า ศิลปะ คือ หนทางแห่งการปลดปล่อย อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ตามความต้องการของแต่ละคน เด็กก็เช่นกัน พวกเขาต้องการ สิทธิ เสรีภาพ ที่จะแสดงออกซึ่ง ความต้องการของเขาอย่างมีความสุข พวกเขาต้องการโอกาสที่จะพัฒนา ศักยภาพของตัวเขาเองในด้าน การเรียน การเล่น และการแสดงออกต่าง ๆ
ศิลปะบำบัด ยังนับเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำจิตบำบัด (psychotherapy) ที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ ซึ่งหลักการของศิลปะบำบัด คือใช้ศิลปะเป็นสื่อในการแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความขัดแย้ง และความต้องการ ที่ซ้อนเร้นอยู่ภายในส่วนลึกของจิตใจ
การแสดงออกทางผลงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นลายเส้น สี รูปทรง สัญลักษณ์ อารมณ์ ความหมาย ที่สื่อออกมาทั้งหมดสามารถนำมาวิเคราะห์ให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดว่าเป็นอย่างไร หรือสภาพจิตมีปัญหาอย่างไร ทั้งนี้ การประเมินผลการบำบัดรักษาด้วยศิลปะบำบัด เน้นที่กระบวนการและกิจกรรมทางศิลปะ ไม่ได้เน้นที่ผลงานหรือคุณค่าทางศิลปะ แต่เน้นให้เด็กๆ ได้สรรสร้าง ปลดปล่อยจินตนาการของตัวเองผ่านงานศิลปะ
ที่มา babbledabbledo,happyhomeclinic
บทความที่คุณอาจจะสนใจ
รวมกิจกรรม ! เสริมทักษะด้าน ศิลปะเด็ก ง่าย ๆ ลงมือทำได้ที่บ้าน
ร้อยลูกปัด มีประโยชน์อย่างไร? ฝึกสมอง ฝึกสมาธิได้จริงหรือไม่
ประโยชน์ของการนั่งสมาธิของเด็ก เด็กนั่งสมาธิ สอนให้ลูกนั่งสมาธิ