Ear pit รูเล็กๆ ข้างหูลูก ภัยเงียบที่พ่อแม่ต้องคอยเฝ้าสังเกตให้ดี ซึ่งพ่อแม่หลายคนอาจคิดว่า Ear pit เป็นเพียงรูเล็กๆ ข้างหูลูกที่ไม่น่าจะมีอันตรายใดๆ จึงไม่ใส่ใจเท่าที่ควร วันนี้เรามาทําความรู้จักกับโรค Ear pit ให้มากขึ้น ผ่านกรณีศึกษาของคุณแม่ท่านหนึ่งที่ลูกน้อยต้องทนทุกข์ทรมานจากเจ้ารูเล็กๆ ข้างหูที่ว่านี้ ซึ่งหากพ่อแม่ปล่อยปละละเลย อาจส่งผลเสียต่อลูกได้อย่างคาดไม่ถึง
แม่ขอแชร์ Ear pit รูเล็กๆ ข้างหูลูก ภัยเงียบที่ต้องระวัง
ทําไม Ear pit รูเล็กๆ ข้างหูลูก ถึงกลายเป็นภัยเงียบ
จากกรณีคุณแม่ท่านหนึ่งได้แชร์ประสบการณ์ที่ลูกวัยเพียง 1 ขวบ ต้องทนทรมานกับโรค Ear pit ขั้นรุนแรง โดยเริ่มต้นจากการที่ลูกมีรูข้างหูทั้ง 2 ข้างมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งหมอได้แจ้งแล้วว่าเป็นกระบวนการสร้างรูหูที่ไม่สมบูรณ์ในขณะตั้งครรภ์
โดยคุณแม่ไม่ได้พบปัญหาในตัวเด็กแต่อย่างใด จนกระทั่งได้ส่งน้องไปเรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 6-7 เดือน จะเห็นได้ทั่วไปที่เริ่มมีการสอนเด็กตั้งแต่ 6 เดือน ว่ายน้ำและเริ่มดำน้ำในวัยนี้ โดยคุณแม่มั่นใจ ว่า รร. สอนว่ายน้ำสำหรับเด็กนั้นมีครูสอนผู้ชำนาญ และตัวน้องเองก็ชอบเล่นน้ำ ไม่ได้กลัวน้ำ จึงลงเรียนมาได้สักพักจนถึงประมาณ 1 ขวบ จนพบว่าน้องมีอาการบวมแดงบริเวณรูเล็กๆ ข้างหู หลังการว่ายน้ำ ซึ่งเริ่มมีการดำน้ำได้บ้างแล้วประมาณ 3 วินาที ซึ่งคุณแม่เดาว่าน่าจะเกิดจากการดำน้ำ จนมีแรงดันน้ำเข้าไปในรูเล็กๆ และน้ำน่าจะขังในรูจนเกิดอาการอักเสบบวมแดงขึ้น
หลังเกิดอาการคุณแม่ได้พาลูกไป รพ. ทันที ซึ่งแพทย์ได้แจ้งว่าเกิดอาการอักเสบภายในรูด้านใน ถ้าอาการบวมไม่ยุบลง หรือหัวหนองไม่โผล่ขึ้นมาจะกลายเป็นฝีทันที และต้องทำการผ่าฝีออก
เวลาผ่านไปประมาณ 3-4 วัน คุณแม่ได้ให้น้องกินยาตามที่คุณหมอสั่ง แต่อาการบวมกลับไม่ลดลง และหัวหนองไม่เปิด จากนั้นน้องเริ่มมีอาการปวดที่บริเวณแผล คุณแม่จึงได้พากลับไปพบแพทย์ที่ รพ. เดิม แต่แพทย์ไม่สามารถผ่าได้เนื่องจากเป็นเด็กเล็ก ซึ่งแพทย์ได้แนะนำให้ไป รพ. เฉพาะทางสำหรับเด็ก ซึ่งสุดท้ายคุณแม่เลือกไป รพ. รามาธิบดี แบบพรีเมียม
หลังการผ่าทำการรักษาปกติ ต้องมีการคว้านทำความสะอาดแผลอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดหนอง เด็ก 1 ขวบกับการคว้านล้างแผลโดยยัดผ้าก๊อซ เช้า-เย็น หลังๆ คุณแม่ได้ขอหมอทำแค่ 1 ครั้งต่อวัน เพราะแม่แทบใจสลาย
ตอนนัดคุณหมอ ช่วงที่แผลหายดีแล้ว คุณหมออยากให้น้องทำการผ่า Ear pit ออก เนื่องจากด้านในเป็นโพรงใหญ่ และเคยเป็นฝีแล้ว อาจเกิดอาการขึ้นได้อีก คุณแม่คุณพ่อคิดทบทวนนานมาก และได้สอบถามคนใกล้ชิดที่เป็นแพทย์ ได้คำแนะนำว่า อยากให้น้องโตขึ้นมาอีกหน่อย เพราะการผ่าอาจต้องวางยาสลบ การวางยาสลบในเด็กเล็กอาจส่งผลให้เด็กฝันร้ายไปจนโต รวมไปถึงการผ่า Ear pit ในเด็กเล็ก ตำแหน่งที่ผ่า และด้วยความที่เป็นเด็กเล็ก พื้นที่การผ่ามีน้อย เกรงว่าอาจไปโดนเส้นประสาทที่อาจทำให้ปากเบี้ยว จึงแนะนำให้ผ่าตอนเด็กโตขึ้นมาแล้ว แต่บางคนก็บอกว่าผ่าตอนเด็กแต่เนิ่นๆ จะดีกว่า เพราะความทรงจำ ความเจ็บปวดจะไม่ติดไปจนเป็นผู้ใหญ่
โดยคุณแม่ท่านนี้ได้แนะนำทิ้งท้ายว่า หากพ่อแม่ท่านใดที่สนใจจะส่งลูกเล็กที่เป็น Ear pit ไปเรียนว่ายน้ำ อยากให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะตอนลูกต้องล้างแผล โดนคว้านยัดผ้าก๊อซทุกวัน สงสารลูกมากๆ ส่วนตัวเรามองว่ามันเป็นอุบัติเหตุเพราะน้องเองก็ชอบ และทำให้น้องแข็งแรง รวมไปถึงพัฒนาการในหลายๆ ด้านเร็วกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มเดิน หรือการพบเพื่อนๆ ถึงแม้จะไม่ได้ว่ายน้ำ แต่เป็น Ear pit ก็มีโอกาสเป็นฝีได้เช่นกันหากไม่รักษาความสะอาด
สรุป Ear pit อันตรายมากไหม ต้องระวังอย่างไร
Ear pit มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Preauricular Sinus คือ ความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิด โดยจะมีลักษณะเป็นรูเปิดกลมเล็กที่ผิวหนัง ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร อยู่บริเวณหน้าใบหู มีสาเหตุมาจากความผิดปกติตั้งแต่ยังไม่คลอด โดยในช่วงที่ยังเป็นทารกอยู่ในท้องแม่นั้น หูของทารกมีการสร้างที่ไม่สมบูรณ์ จนทำให้เกิดโพรงและรูบนใบหู และในบางคนก็อาจพบความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีรอยบุ๋ม หรือมีติ่งเนื้อเกิดขึ้นได้
โดยส่วนมากแล้ว รูเล็กๆ ข้างหูลูก นั้น มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย บางคนก็อาจจะไม่มีอาการใด ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มันมีลักษณะเป็นโพรง ถึงแม้จะเล็ก แต่ก็ทำให้คราบไขมัน หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ สามารถเข้าไปอุดตันจนทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้ นอกจากนี้ รูดังกล่าวยังมีโอกาสพัฒนากลายเป็นซีสต์ ติดเชื้อ มีอาการแดง ปวด บวม หรือมีน้ำหนองไหลออกมาได้เช่นกัน
ถ้าหากลูกน้อยมีรูเล็กๆ ข้างหู โดยไม่มีอาการติดเชื้อก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ซึ่งการดูแลเบื้อต้นได้แก่ การทำความสะอาด เช็ดให้แห้ง และไม่ควรจับหรือกดบ่อย ๆ เนื่องจากมือของเราอาจสกปรก และอาจนำพาเชื้อโรคจนทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้
ในขณะเดียวกัน ด้วยความที่บริเวณนี้สามารถเกิดการอักเสบเชื้อได้ง่าย หรืออาจเป็นหนองได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องคอยสังเกตอยู่เสมอ หากมีการอักเสบ บวมแดง มีน้ำออกเหม็น กดเจ็บ ก็ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจดูให้ละเอียด ในกรณีที่เป็นฝีหนองหรือมีลักษณะเป็นถุงน้ำ หรือมีการติดเชื้อบ่อยครั้ง ก็อาจจำเป็นจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
และถึงแม้ว่ารูข้างหูที่ว่านี้ บางคนจะไม่มีอาการอะไร แต่ที่สำคัญที่สุด คือคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยหมั่นสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกน้อยอยู่เสมอ หามีอะไรผิดสังเกต ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาได้อย่างทันท่วงทีนะครับ
ที่มา : https://pantip.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ระวัง! หวัดขึ้นหู เสี่ยงลูกหูหนวก โรคอันตรายจากหน้าฝน
ทำอย่างไรดี เมื่อแมลงเข้าหูลูก!