ต่างหูก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องประดับ ช่วยในเรื่องความสวย ความงาม และส่งเสริมบุคลิกภาพให้กับสาว ๆ คุณพ่อคุณแม่บ้านไหนที่กำลังคิดว่า จะพาลูก ๆ ตัวน้อยไป เจาะหู ดีไหม ควรหรือไม่ที่จะ เจาะหูให้ลูก เพราะการตัดสินใจนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น ลูกน้อยคงยังเล็กเกินกว่าที่จะเข้าใจ มาดูกันว่า มีเรื่องไหนบ้าง ที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องกังวล
เจาะหูให้ลูก ดีไหม ? ตัดสินใจจากอะไรดี ?
1. ความพร้อมของลูก
พอเริ่มอายุสักประมาณ 5 – 6 ขวบ เด็กหลาย ๆ คน ก็เริ่มที่จะรักสวยรักงามกันเป็นแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่จะเริ่มสนใจในเครื่องประดับ เครื่องสำอางของคุณแม่ ลูกอาจจะหยิบลิปสติกออกมาใช้ หรือลงใส่สร้อยคอ ที่เห็นคุณแม่ใส่บ่อย ๆ ก็ได้ แต่การเจาะหูนั้น มีทั้งความเจ็บปวด ขณะเจาะ และช่วงเวลาในการดูแลรักษา คุณพ่อคุณแม่จึงควรที่จะถามความสมัครใจของลูกก่อน รวมถึงอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ให้ลูกเข้าใจด้วย หากว่าลูกกลัว ก็อย่าเพิ่งฝืนใจพวกเขาในตอนนี้ โตขึ้นอีกนิด แล้วค่อยว่ากันใหม่ก็ยังไม่สาย
2. เลือกร้านที่สะอาดปลอดภัย และ มั่นใจได้
ในปัจจุบันมีร้านขายต่างหูมากมาย ที่รับเจาะหูแบบครบวงจร ดังนั้นการเลือกหาร้านที่สะอาด และปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ อย่าลืมคำนึงวัสดุที่ใช้ทำต่างหูด้วย เพราะเด็กบางคน อาจจะมีอาการแพ้ จนต้องถอดออกในที่สุด ดังนั้นควรตรวจสอบให้ครบถ้วนก่อนพาลูกไปเจาะหู ดีกว่า
3. การดูแลรักษาแผล หลังจากเจาะหู
หลังจากที่เจาะหูไปแล้ว อาการเจ็บ หรือปวด ก็อาจจะมีบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 6 สัปดาห์แรก คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นดูแล และทำความสะอาดใบหูของลูกด้วยแอลกอฮอล์ และถ้าหากพบว่า ติ่งหูของลูกเริ่มบวมแดง หรือมีหนองอักเสบ ก็ให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบอาการ โดยไม่ต้องถอดต่างหูออกก่อน
เจาะหูให้ลูกตอนเด็กไม่เจ็บจริงหรือ ?
ช่วงอายุที่เจาะหูได้คือตอนที่ลูกอายุ 2 เดือนขึ้นไป ลูกจะยังไม่รู้สึกเจ็บมากเท่ากับตอนที่อายุ 5 – 6 เดือน อีกทั้งยังไม่สามารถเอามือไปดึงต่างหูของตัวเอง จนเกิดการอักเสบได้ อย่างไรก็ตาม การเจาะหูให้ลูกตั้งแต่ยังเป็นทารก ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงความเหมาะสม เพราะเป็นช่วงเวลาที่ซ้อนทับกับการฉีดวัคซีนรอบแรก รวมถึงวัคซีนป้องกันการติดเชื้อบาดทะยักด้วย การเจาะหูให้ลูกในตอนนี้จึงอาจมีความเสี่ยง ที่ลูกจะติดเชื้อ เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงนัก
อีกประการหนึ่งที่ถกเถียงกัน นั่นคือ พ่อแม่บางคนมีความเห็นว่า การเจาะหูควรจะเกิดขึ้น เมื่อลูกโตพอที่จะตัดสินใจอะไร ๆ ได้ด้วยตัวเอง มากกว่าที่จะเกิดขึ้นเพราะความต้องการของพ่อแม่ เป็นจุดตั้งต้น
เจาะหูให้ลูกตอนอายุเท่าไหร่ดี ?
อ้างอิงจากผลการสำรวจบนเว็บไซต์ goodto เด็กผู้หญิงมักจะเริ่มต้นเจาะหู ด้วยอายุเฉลี่ยประมาณ 7 ขวบ อาจน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศด้วย คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจตัดสินใจพาลูกไปเจาะหู ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ เพราะคิดว่าหากรอจนโต เด็กอาจจะเจ็บมากขึ้นก็ได้ ในขณะที่บางคนก็ตัดสินใจเจาะหูให้ลูก เมื่อลูกอายุมากพอจะตัดสินใจ หรือดูแลตัวเองได้แล้ว ลูกจะได้สามารถดูแลใบหูหลังเจาะของตัวเองได้
ช่วงอายุประมาณ 2 – 5 ขวบ เป็นวัยที่เด็ก ๆ จะบอกถึงความต้องการในการเจาะหูได้ ลูกอาจจะเริ่มรักสวยรักงาม และขอให้พ่อแม่พาไปเจาะหู แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะเข้าใจวิธีการ และขั้นตอนทั้งหมด ตั้งแต่การเจาะ จนถึงการดูแลรักษา แต่ก็โตพอที่จะเรียนรู้ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรอธิบายให้ลูกเข้าใจเสียก่อน
ถามความสมัครใจของลูกก่อน เจาะหู ดีไหม ?
แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะปรารถนาดีต่อลูก แต่ก็ต้องให้เกียรติลูกน้อยในฐานะเจ้าของร่างกายด้วย ก่อนจะพาลูกไปเจาะหู ลองถามความสมัครใจของเด็ก ๆ เสียก่อน ว่าพวกเขาสนใจหรือไม่ เด็กบางคนอาจจะเริ่มสนใจเรื่องความสวยความงาม และริเริ่มอยากจะเจาะหูเอง เพราะเห็นเพื่อน ๆ หรือคุณแม่เป็นตัวอย่าง แต่เด็กบางคนอาจจะไม่ได้อยากเจาะหู เพราะกลัวเจ็บ หรือไม่ได้สนใจ หากคุณพ่อคุณแม่บังคับเด็ก ๆ อาจจะส่งผลร้ายต่อความรู้สึกลูกรักได้
เลือกต่างหูให้ลูกรักอย่างไรดี ?
การเลือกวัสดุของต่างหูเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะแต่ละคนอาจมีอาการแพ้ไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่แล้วจะแพ้วัสดุที่เรียกว่า “นิกเกิล”ทำให้เกิดผื่นแพ้ และหากเกา ก็อาจจะเกิดการอักเสบร่วมด้วยได้ คุณพ่อคุณแม่ที่คิดว่าลูกน้อยอาจแพ้นิกเกิล อาจเลือกวัสดุของต่างหูที่เป็นทอง 18K ขึ้นไป หรือต่างหูที่ผลิตขึ้นสำหรับเด็กที่แพ้ง่ายโดยเฉพาะ
เลือกร้านเจาะหูอย่างไร ให้ลูกปลอดภัย คลายความกังวล
หากคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจะพาลูกสาวไปเจาะหูที่ร้าน ควรเลือกร้านที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันนี้มีร้านที่รับเจาะหูมากมาย และอาจต้องสังเกตพฤติกรรมของลูกด้วยว่า เป็นเด็กที่ชอบคนพลุกพล่านหรือไม่ หากลูกไม่สามารถอยู่ท่ามกลางคนพลุกพล่านได้ อาจเลือกร้านที่มีห้องเล็ก ๆ เป็นสัดส่วนก็จะดี เพราะจะทำให้ลูกคลายความกังวลได้มากขึ้น
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยลูกน้อยให้ลดความกลัวได้ ด้วยการมีของเล่นล่อใจ หรือขนมอร่อยๆ ให้ลูกขณะเจาะหูก็ได้
ความพร้อมของคุณพ่อคุณแม่ ในการดูแลหูของลูกหลังเจาะ
นอกจากความพร้อมของลูกรักแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็ควรพร้อมเช่นกัน เพราะการเจาะหูนั้น ไม่ยากเท่ากับการดูแลรักษาหูของลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นใจว่าตนเองมีเวลาช่วยลูกดูแล และรักษาความสะอาดของแผล ไม่ปล่อยปละละเลยลูกน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากลูกยังเล็กอยู่
เคล็ดลับในการดูแลแผล หลังเจาะหู
หลังจากพาลูกน้อยไปเจาะหูมาเรียบร้อยแล้ว ขอแถมท้ายอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับเคล็ดลับในการดูแลแผล หลังการเจาะหูให้ลูก หรือสอนให้เด็ก ๆ ดูแลแผลด้วยตัวเอง ดังนี้
- ซับหูให้แห้งหลังอาบน้ำเสมอ ดูแลแผลไม่ให้เกิดความอับชื้น
- ทำความสะอาดหูด้วยแอลกอฮอล์วันละ 2 ครั้ง
- หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงทับใบหู
- หากมีอาการบวม แดง หรือมีผื่นคัน ให้พาลูกน้อยไปพบคุณหมอ เพราะอาจเกิดอาการแพ้ได้
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจาะหูให้ลูกน้อย
- ลูกอาจจะจับ หรือดึงหูตอนที่แผลยังหายไม่สนิท ทำให้เสี่ยงต่อการอักเสบ
- ลูกอายุน้อยกว่า 3 เดือน ยังมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ไม่แข็งแรง จึงมีความเสี่ยง หากไม่ได้รับการดูแล รักษาแผลที่ดี เครื่องมือ หรือต่างหูไม่ได้มาตรฐาน
- อาการแพ้วัสดุที่ใช้ทำต่างหู เช่น นิกเกิล ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อย ที่แพ้วัสดุประเภทนี้
- หากจำเป็นต้องถอดต่างหู อาจทำให้รูหูตัน เกิดรอยแผลเป็น หรือเกิดก้อนไตขึ้นได้
การเจาะหูไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ ร้ายแรง หรือน่ากลัวอะไรเลย แต่สิ่งสำคัญคือ การดูแลรักษาความสะอาดของแผลอย่างสม่ำเสมอ เมื่อแผลแห้งแล้ว เด็ก ๆ ก็จะสามารถสวมใส่ต่างหูสวย ๆ ได้ตามใจปรารถนา คุณแม่ที่มีลูกสาว ก็อาจจะชวนกันเลือกซื้อต่างหูสวย ๆ น่ารัก ๆ พากันเสริมสวย เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมครอบครัว ที่ดีทีเดียว
ที่มา: Noo Ying , goodto.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ภาพสุดประทับใจ เมื่อเบบี๋ลืมตาดูโลกครั้งแรก