โรคพิษสุนัขบ้า โรคที่แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่หากได้รับเชื้อรุนแรง ก็ตายได้! มักได้รับเชื้อจากสัตว์เลี้ยง ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนกันเชื้อ อันตรายมาก ๆ สำหรับบ้านที่มีลูก หลาน ยังเล็ก เด็ก ๆ ทั้งหลาย ที่ชอบเล่นกับสัตว์ มาดูความรู้ และวิธีป้องกัน ให้ห่างไกลจาก โรคพิษสุนัขบ้า กัน
โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร?
โรคพิษสุนัขบ้า คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus) เป็นโรคที่มีการติดต่อมาจาก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะ ซึ่งจะติดต่อสู่คนผ่านการถูก กัด ข่วน หรือ น้ำลาย ที่อาจเข้าสู่ร่างกายผ่านการเลียแผล หรือ เข้าปาก เข้าจมูก เข้าตา เป็นต้น ซึ่งพาหะโรคที่พบมากที่สุด คือ สุนัข และ แมว แต่อาจมีเชื้ออยู่ในสัตว์อื่น ๆ ด้วย
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า
เมื่อได้รับเชื้อ และไม่ได้รับการป้องกันที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะมีอาการ ภายใน 15-60 วัน หลังจากรับเชื้อ แต่ในบางราย อาจแสดงอาการภายหลังการรับเชื้อ เพียงไม่กี่วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และ บริเวณที่รับเชื้อ เช่น การรับเชื้อบริเวณใบหน้า จะเกิดการแพร่กระจาย เร็วกว่าการรับเชื้อบริเวณขา ซึ่งปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ หากได้รับเชื้อแล้ว อาจจะเสียชีวิตทุกราย
อาการแรกเริ่ม จะคล้ายไข้หวัด มีอาการ ปวดศีรษะ เป็นไข้ต่ำ ๆ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร และมีอาการอื่น ๆ ดังนี้
- คันบริเวณแผลที่หายสนิทไปนานแล้ว จากนั้นลุกลามไปยังที่อื่น
- ผู้ป่วยจะเกาจนมีเลือดออก
- กลืนอาหารลำบาก เพราะกล้ามเนื้อลำคอหดเกร็ง
- กลัวน้ำ
- น้ำลายฟูมปาก
- บ้วนน้ำลายบ่อย
- กระวนกระวาย ตื่นเต้น
- หงุดหงิดง่าย หายใจเร็ว
- ประสาทสัมผัสไวต่อการกระตุ้น
- ตกใจง่าย หวาดผวา
- กล้ามเนื้อแขน ขา เกร็ง กระตุก
- เป็นอัมพาต หมดสติ
ซึ่งอาการเหล่านี้ จะมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ตามการรับเชื้อ และระยะเวลาการรับเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และ จะเสียชีวิตภายใน 2-7 วัน นับจากวันที่เริ่มแสดงอาการ
วิธีสังเกตสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
สัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีอาการที่แปลกไป ดังนี้
- ตื่นเต้น ตกใจง่าย
- กระวนกระวาย
- กระโดดงับลม แมลง หรือ สิ่งของแปลก ๆ
- กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า
- กินอาหารน้อยลง
- ม่านตาขยาย
- ไวต่อแสง สี เสียง
- สัตว์อาจเป็นอัมพาต
- เสียงเห่า หอน ผิดปกติ
- หลังแข็ง
- หางตก
- ลิ้นห้อย
- น้ำลายไหลย้อย
- เดินไม่สะดวก
- อ้าปากค้าง ขากรรไกรแข็ง
สัตว์ที่ติดเชื้อ จะเริ่มมีอาการต่าง ๆ และจะเป็นอัมพาตในช่วงระยะสุดท้าย อาการอัมพาตจะลุกลามไปทั่วร่างกาย และจะหมดสติ ชัก ตาย ภายใน 10 วัน ตั้งแต่มีอาการ
วิธีการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นวิธีป้องกัน และลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างดีที่สุด ซึ่งหลัก ๆ แล้ว คือการหลีกเลี่ยงการรับเชื้อ จากสัตว์จะดีที่สุด หรือ หากโดนกัด ให้รับทำความสะอาดแผลทันที และรีบพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนต่อจนครบ ซึ่งสามารถทำตามวิธีการป้องกันได้ ดังนี้
- ฉีดวัคซีนป้องกัน เมื่อต้องอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยง หรือ ต้องทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ต่าง ๆ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ เมื่อต้องเดินทางไปในที่เสี่ยง มีการแพร่ระบาดของโรค
- สอนลูก หลาน ให้รู้ถึงอันตรายของโรค ไม่ให้ไปสัมผัสสัตว์ที่มีความเสี่ยง และคอยระมัดระวังบุตรหลาน อยู่เสมอ ๆ
- เมื่อพบแผลคล้ายสัตว์ทำร้าย บนร่างกายของลูกหลาน ควรถามไถ่ถึงที่มาอย่างชัดเจน เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์อื่น
- ป้องกันไม่ให้สัตว์ที่เป็นพาหะของโรค มาอาศัยอยู่บริเวณบ้าน เช่น หนู ค้างคาว เป็นต้น
- เมื่อพบเห็นสัตว์ ที่มีอาการคล้ายกับจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ เทศบาล มาดำเนินการจับ เพื่อไม่ให้เกิดโอกาสการแพร่กระจายของโรค
การวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่เป็นได้ทั้งคนและสัตว์ ซึ่งสัตวแพทย์จะทำการตรวจดูว่า สมองของสัตว์ จะมีลักษณะ ที่แสดงถึงการติดเชื้อหรือไม่ หากไม่พบว่าเป็นโรค ผู้ที่ป่วย ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน หรือ รับการรักษา
การตรวจเชื้อพิษสุนัขบ้าในคน สามารถทำการวินิจฉัยได้ เมื่อมีอาการบ่งชี้แล้ว ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัย ได้จากการตรวจน้ำลาย เก็บตัวอย่างเลือด ตรวจของเหลวจากไขกระดูก และตัวอย่างผิวหนัง จากนั้นจึงส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ หากแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าสัตว์มีเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ จะได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคแทน
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคอันตรายที่เป็นแล้วตายเท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังมีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำ และสามารถป้องกัน และหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ควรดูแลบุตรหลาน อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อ อันจะนำไปสู่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
ที่มาข้อมูล : พบแพทย์ , โรงพยาบาลรามคำแหง
บทความที่น่าสนใจ :
มีอาการท้องเสีย เมื่อมีอาการท้องเสียทำอย่างไร ท้องร่วงสิ่งที่ควรกินและไม่ควรกิน
ไข้ เป็นไข้อาการเป็นอย่างไร สาเหตุของไข้เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอาการไข้หรือไม่
ไข้หวัดใหญ่ สังเกตอาการไข้หวัดใหญ่ พร้อมวิธีป้องกัน ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลโรค