คลายข้อสงสัย วิธีนับลูกดิ้น นับยังไง ดิ้นแบบไหนที่บ่งบอกว่าลูกปลอดภัย

วิธีนับลูกดิ้น นับยังไง ต้องเริ่มนับที่อายุครรภ์กี่เดือน กี่สัปดาห์ ถ้ามีสมุดสีชมพู จะจดลูกดิ้นแบบไหน วันนี้ นพ.อดิศร อักษรภูษิตพงศ์ สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดา และทารกในครรภ์ ประจำโรงพยาบาลพญาไท 3 ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับทุกข้อมูลของลูกดิ้น เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในเวลานี้

 

การนับลูกดิ้น กี่สัปดาห์ ถึงนับได้

ลูกดิ้นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าทารกในครรภ์มีสุขภาพเป็นอย่างไร โดยทั่วไปแล้วในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ทารกจะดิ้นไม่เป็นเวลา แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 หรือประมาณ อายุครรภ์ 28 สัปดาห์เป็นต้นไป ลูกจะเริ่มดิ้นบ่อยขึ้น ซึ่งการนับลูกดิ้นจะสามารถบอกความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ หากทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง โดยส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกับภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง และอยู่ในภาวะอันตราย ที่เกิดจากน้ำคร่ำน้อย หรือ สายสะดือผูกเป็นปมได้

 

เริ่มนับลูกดิ้น อายุครรภ์เท่าไหร่

คุณหมอแนะนำให้เริ่ม นับลูกดิ้น หลังจากที่อายุครรภ์ครบ 28 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ลูกน้อยในครรภ์จะมีการดิ้นที่สม่ำเสมอ เนื่องจากระบบสมอง และเส้นประสาทมีการพัฒนาดีแล้ว ในการนับลูกดิ้นนั้น สิ่งที่จะนับว่าเป็นการดิ้น ได้แก่ การเตะ ต่อย ถีบ กระทุ้ง หมุนตัว ดัน และโก่งตัวค่ะ แต่ถ้าทารกในครรภ์สะอึก จะไม่นับว่าเป็นการดิ้นนะคะ ส่วน วิธีนับลูกดิ้น นั้น คุณหมอแนะนำไว้ว่า การดิ้น 1 ครั้ง จะนับเป็น 1 ครั้ง แต่ถ้าลูกดิ้นเป็นชุด หรือดิ้นต่อเนื่องหลายครั้งติดกัน ก็จะนับเป็น 1 ครั้งเช่นเดียวกัน

 

 

ลูกดิ้นตอนไหน ลูกดิ้นแบบไหนปกติ

ส่วนใหญ่ทารกในครรภ์มักจะนอนหลับนาน 20 – 40 นาที และอาจจะนอนได้นานถึง 75 – 90 นาทีเลยก็มี ดังนั้น โดยเฉลี่ยทุก ๆ 2 ชั่วโมง คุณแม่ควรรับรู้ได้ว่า ลูกดิ้น หลังจากที่ทารกตื่นขึ้น และทารกมักจะดิ้นเยอะ ในช่วงหลังจากที่คุณแม่ทานอาหารแล้ว 1 – 2 ชั่วโมง และหากคุณแม่ท้องพบว่า ลูกไม่ดิ้น ลูกดิ้นน้อย ลูกดิ้นผิดปกติไปจากทุกวัน หรือไม่แน่ใจว่าลูกดิ้นปกติหรือไม่ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจประเมินอย่างละเอียด และป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ได้

 

ทารกในครรภ์สะอึก ต่างจากลูกดิ้นอย่างไร

หากแม่ท้องรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกในท้อง ในหลาย ๆ จุด เช่น บริเวณท้องส่วนบน ส่วนล่าง หรือด้านข้าง และรู้สึกว่าลูกในท้องหยุดเคลื่อนไหวตอนที่คุณแม่ขยับเปลี่ยนท่าทาง นั่นก็อาจจะถือว่าเป็นการดิ้น ในขณะเดียวกัน หากแม่ท้องนั่งนิ่ง ๆ อยู่กับที่ และมีความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว เป็นลักษณะของการกระตุกหรืออาการเกร็งเล็กน้อยที่ท้อง เป็นจังหวะที่สม่ำเสมอกัน ที่จุด ๆ เดียว นั่นก็อาจหมายความว่าลูกในท้องของคุณกำลังสะอึกอยู่นั่นเองค่ะ

 

ลูกโก่งตัวถือว่าดิ้นไหม

ลักษณะของการดิ้นขอทารก จะมีการถีบ เตะ กระทุ้ง หมุนตัว และโก่งตัวขึ้น คุณแม่จะรู้สึกได้ถึงการกระตุกเบา ๆ ที่ท้อง แต่หากเป็นการตอดที่ต่อเนื่องยาว ๆ จะไม่นับว่าเป็นการดิ้น ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการดิ้นของทารกนั้น เกิดจากปริมาณน้ำคร่ำ และอาหารที่คุณแม่ทาน รวมถึงระดับน้ำตาลในเลือดของแม่ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : ฟีเจอร์ นับลูกดิ้น กับ theAsianparent เว็บไซต์แม่และเด็กที่ดีอันดับหนึ่ง

 

 

วิธีการนับลูกดิ้น หลังอาหาร และวิธีที่เราแนะนำ

การนับลูกดิ้นสามารถนับได้หลายวิธี แต่สำหรับในประเทศไทยอาจคุ้นชินกับการนับจากการบันทึกสมุดสีชมพู เพื่อจดจำนวนครั้งการดิ้นในทุกวัน แต่ยังมีวิธีอื่น ๆ ด้วย เช่น การนับแบบ count-to-ten หรือแบบ Sadovsky รวมไปถึงวิธีที่ง่ายกว่าด้วยการนับผ่านแอปพลิเคชันของเรา

 

วิธีนับลูกดิ้น count-to-ten (Cardiff)

  • นับการดิ้นหลังจากตื่นนอน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้า จนครบ 12 ชั่วโมง
  • ถ้านับการดิ้นได้ น้อยกว่า 10 ครั้ง ภายใน 12 ชั่วโมง แปลว่าผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์

 

วิธีนับลูกดิ้นแบบ Sadovsky

  1. การนับลูกดิ้นหลังอาหารแต่ละมื้อ (เช้า, กลางวัน, เย็น) โดยนับการดิ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังทานอาหาร
  2. ถ้านับการดิ้นได้ 4 ครั้งขึ้นไป ภายใน 1 ชั่วโมง แปลว่าปกติ
  3. ถ้านับการดิ้นได้น้อยกว่า 4 ครั้ง ภายใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่อไปอีกจนครบ 4 – 6 ชั่วโมง
  4. ถ้านับการดิ้นได้ 4 ครั้งขึ้นไป แปลว่าปกติ และติดตามการดิ้นหลังมื้ออาหารถัดไป
  5. ถ้านับการดิ้นได้น้อยกว่า 4 ครั้ง แปลว่าผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์
  6. ถ้านับการดิ้นทั้งหมดได้ น้อยกว่า 12 ครั้ง ต่อวัน แปลว่าผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์

 

นับลูกดิ้น สมุดสีชมพูแบบใหม่

เป็นหนังสือเล่นสีชมพู สำหรับนับลูกดิ้นจากกระทรวงสาธารณสุข สามารถใช้ได้กับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป โดยปกติใน 1 วันลูกควรดิ้น 10 ครั้งขึ้นไป โดยต้องนับให้ตรงกับเดือนที่กำหนดตามตาราง ให้นับหลังรับประทานอาหารอิ่มแล้ว 1 ชั่วโมงในมื้อเช้า, มื้อเที่ยง และมื้อเย็น ยกตัวอย่างเช่น ทานอาหารเสร็จ 8 โมงตรง ให้นับว่าตั้งแต่ 8-9 โมงลูกดิ้นกี่ครั้ง เป็นต้น โดยนับให้ครบตามมื้ออาหารที่ทานตามตาราง แล้วนำจำนวนการดิ้นมาบวกรวมกัน โดยผลที่ได้ตามปกติคือ การดิ้นมากกว่า 10 ครั้งขึ้นไป

 

วิธีนับลูกดิ้นง่าย ๆ กับแอป theAsianparent

วิธีนับลูกดิ้น นับยังไง ลองมานับลูกดิ้นแบบง่าย ๆ ด้วยโหมดนับลูกดิ้นในแอปฯ theAsianparent  ซึ่งอันดับแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องดาวน์โหลดแอปนี้มาใช้งานก่อนนะคะ (แอปนี้ใช้งานฟรีค่ะ ) ดาวน์โหลด คลิก > theAsianparent IOS/Android
เมื่อดาวน์โหลดและตั้งค่าอายุครรภ์เรียบร้อยก็มาเริ่มใช้งานโหมด นับลูกดิ้นกันเลย

 

  1. เมื่อกดเข้ามาให้เริ่มนับจากการกดที่ปุ่มรูปเท้าแทนการดิ้น 1 ครั้ง ใน ชั่วโมงที่เริ่มนับนี้
  2. เมื่อเริ่มกดบันทึกที่รูปเท้า จะมีภาพการดิ้นแบบต่าง ๆ ให้เราเลือกแบบที่ตรงกับครั้งนั้นได้เลยค่ะ
  3. เมื่อครบ 1 ชั่วโมง เราไม่ต้องจำให้ยุ่งยาก เพียงกดอ่านรายงาน ก็สามารถสรุปผลจำนวนครั้งในชั่วโมงที่เริ่มนับได้ทันทีค่ะ
  4. นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถตั้งแจ้งเตือนรายวันได้ด้วยนะคะ เช่นเวลาทานข้าวเสร็จ ระบบก็จะเตือนให้เริ่มนับค่ะ

 

 

ลูกไม่ดิ้น ลูกดิ้นผิดปกติ ทำอย่างไร

  • ลูกดิ้นมากเกินไป : หากลูกดิ้นมากโดยทั่วไปนับว่าไม่ได้ผิดปกติ เนื่องจากอาจเป็นช่วงที่ลูกกำลังตื่นนั่นเอง แต่หากมีอาการที่ดิ้นแรงอยู่พักหนึ่ง แล้วหยุดดิ้นไปเลย ไม่ได้มีการดิ้นอีก หากมีอาการนี้คือสัญญาณอันตราย ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยด่วน
  • ลูกดิ้นน้อย หรือไม่ดิ้น : ลูกดิ้นน้อยคือการดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ในช่วง 2 ชั่วโมง หากดิ้นไม่ถึง 10 ครั้งอีกในวันเดียวกัน ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย แต่อาการเหล่านี้อาจพบได้ในครรภ์อายุ 32 สัปดาห์เนื่องจากทารกมีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่มดลูกนั้นยังมีขนาดเท่าเดิม ทำให้ดิ้นได้ลำบากนั่นเอง

 

ลงทะเบียนรับการดูแลตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ กับ theAsianparent Thailand ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก มาติดตามพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด ว่าลูกโตขึ้นแค่ไหนกันนะ ไตรมาสที่ 2  มาฟังเสียงลูกน้อย นับว่าหนึ่งวันลูกดิ้นไหมนะ และลูกดิ้นวันละกี่ครั้งด้วยแอปพลิเคชัน theAsianparent Thailand และ Features อื่น ๆ อีกมากมาย คลิกเลย

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แนะนำ วิธีนับลูกดิ้น ด้วยโหมดนับลูกดิ้นในแอปฯ theAsianparent

วิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น แม่ท้องต้องทำแบบนี้นะ

แม่ท้องรีบอ่าน ! เมื่อ ลูกดิ้นน้อยลง เมื่อไหร่ที่ควรกังวล แบบไหนที่ควรระวัง

ที่มา : medtha,ibpksamutprakan

บทความโดย

P.Veerasedtakul