เมื่อลูกรักเป็นนักเลียนแบบ ตอนที่ 2: พฤติกรรมสร้างสรรค์สร้างได้ง่ายนิดเดียว

คราวที่แล้วเราได้รู้กันแล้วนะคะว่า พ่อแม่เองควรพึงระวังเรื่องคำพูดและการกระทำอย่างไรบ้าง เมื่อลูกเป็นนักเลียนแบบ ในตอนนี้จะมาเล่าให้ฟังค่ะว่าดิฉันใช้โอกาสที่ลูกเป็นนักเลียนแบบสร้างพฤติกรรมสร้างสรรค์ให้เจ้าหนูตัวน้อยได้อย่างไร...เป็นวิธีที่ง่ายดายมากเลยค่ะ นั่นก็คือ การทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เมื่อลูกรักเป็น นักเลียนแบบ ตอนที่ 2: พฤติกรรมสร้างสรรค์สร้างได้ง่ายนิดเดียว

สร้างนิสัยที่ดี: ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

นิสัยหนึ่งที่เด็กไทยสมัยใหม่มีน้อยลงมากก็คือ การมีสัมมาคารวะ สุภาพอ่อนโยน ไม่ว่าใครก็ใครเมื่อเห็นเด็ก ๆ ที่พูดจาสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตนก็ย่อมรักใคร่เอ็นดู เป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้เจ้าตัวน้อยติดตัวไปจนโต หลักง่าย ๆ เลยก็คือ อยากให้ลูกทำอะไร คุณจงทำสิ่งนั้น ไม่อยากให้ลูกทำอะไร ก็จงไม่ทำสิ่งนั้น

สิ่งที่คุณควรหัดให้เจ้าตัวเล็กพูดโดยตั้งแต่เริ่มพูดได้เลยก็คือ 3 คำนี้ สวัสดีค่ะ/ครับ ขอบคุณค่ะ/ครับ และขอโทษค่ะ/ครับ เป็น 3 คำที่แสนธรรมดาแต่สร้างความพิเศษและเพิ่มคุณค่าในตัวของลูกคุณได้อย่างมหาศาล ยิ่งถ้าเจ้าตัวเล็กยกมือไหว้ผู้ใหญ่หรือที่เรียกว่า มืออ่อนแล้วด้วยล่ะก็ ยิ่งสร้างความประทับใจให้กับทุกคนที่พบเจอได้แน่ ๆ ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะพูด 3 คำนี้กับลูกบ่อย ๆ และเมื่อเจอผู้ใหญ่ก็อย่าลืมทักทายและยกมือว่า สวัสดี เมื่อทำผิดก็ต้อง ขอโทษ และเมื่อใครทำอะไรให้ก็ควรตอบแทนน้ำใจด้วยคำว่า ขอบคุณ

ด้านพฤติกรรมนั้น การจะให้ลูกตัวเล็กยอมทำกิจวัตรประจำวันบางอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อาทิ การแปรงฟัน กินข้าว อาบน้ำ ดิฉันเองก็ประสบปัญหานี้เช่นกันค่ะ ลูกไม่ยอมแปรงฟันเลย เรื่องกินข้าวก็ยอมกินแค่คำสองคำ ทำเอาคนเป็นแม่อย่างเราหงุดหงิดอยู่บ่อยครั่ง แต่เมื่อเข้าสู่วัยเลียนแบบ ดิฉันก็ค้นพบทางแก้ที่ง่ายมาก นั่นคือ ทำไปพร้อมกับลูก ตัวอย่างเช่น เรื่องการแปรงฟัน เรามักจะแปรงฟันพร้อมกันในตอนเช้าและก่อนนอน บางครั้งก็ให้ลูกแปรงฟันให้แม่ แม่แปรงให้ลูกบ้าง สลับกันไปมา สนุกสนาน พอเธอเห็นว่าแม่แปรงฟันเธอก็อยากทำตาม และพอทำทุกวัน ๆ เข้า ทีนี้เธอก็จะบอกเองทุกครั้งในตอนเช้าและก่อนนอนว่า “แม่จ๋า แปรงฟัน ๆ ” ในเรื่องของการกินข้าวก็เช่นกัน ครั้งใดที่เรากินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน เธอก็จะอยากมาร่วมวงด้วย เพราะดูผู้ใหญ่กินมันช่างน่าอร่อย และเธอก็จะกินได้เยอะค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

นอกจากนี้เรายังปลูกฝังนิสัยดีอื่น ๆ ให้กับลูกได้ โดยให้เขาซึมซับผ่านการได้เห็นพ่อแม่ทำให้ดู สำหรับลูกสาวดิฉัน เธอมักเห็นพ่อแม่ทำงานบ้านอยู่ตลอดเวลา กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน เช็ดถูบ้าน ทุกครั้งที่เห็นเธอต้องเข้ามาช่วย มาขอมีส่วนร่วมทุกครั้ง พ่อแม่หลายคนอาจมองว่าลูกมาเกะกะ ยิ่งทำให้บ้านสกปรกเลอะเทอะ อันที่จริงก็ไม่ผิดค่ะ ถึงลูกจะทำให้การทำงานของเราช้าลงไปบ้าง แต่เขาก็ได้เรียนรู้การทำความสะอาด การดูแลข้าวของต่าง ๆ แถมยังได้พัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ อีกด้วย และที่สำคัญเมื่อโตขึ้นเขาก็จะมีนิสัยรักสะอาด และความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง รวมถึงทักษะการเอาตัวรอดโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นด้วย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างนิสัยที่ดีในด้านอื่นให้ลูกได้อีกมากมาย ผ่านการทำให้ดู ให้ลูกเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน เช่น นิสัยรักการอ่าน นิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน นิสัยสวดมนต์การนอน นิสัยรักสัตว์ เป็นต้น

เรียกว่าอยากให้ลูกเป็นอย่างไร ก็จงทำสิ่งนั้นให้ลูกดูนั่นเองค่ะ

พฤติกรรมเลียนแบบ ส่งผลเสียต่อเด็กหรือไม่?

พฤติกรรมเลียนแบบ ถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการของเด็กที่เป็นไปได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ทำให้เกิดคำถามต่อคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่าน ว่าพฤติกรรมเลียนแบบส่งผลเสียต่อตัวเด็กหรือไม่อย่างไร

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เด็กส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยกำลังเติบโตมักมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ เพื่อนฝูง หรือคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเด็กเอง ซึ่งมีทั้งพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ในส่วนของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะกับวัยของเด็ก พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และอื่นๆ

ในเรื่องของผลเสียต่อตัวเด็ก หากเป็นกรณีที่พฤติกรรมนั้นไม่เหมาะกับช่วงวัยของเด็ก ส่วนมากมักเป็นการซึมซับจากพ่อแม่ซึ่งเกิดจากความใกล้ชิด และเป็นเรื่องธรรมชาติ เช่น อยากทาลิปสติกหรือสวมรองเท้าส้นสูงเหมือนคุณแม่ ที่อาจทำให้ผู้ปกครองกังวลใจว่าลูกจะเป็นเด็กที่โตเกินตัว หรือในเด็กผู้ชายพ่อแม่ก็อาจกลัวว่าลูกจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนมากหากเกิดกับเด็กเล็กๆ ช่วง 3-4 ขวบ มักเป็นเรื่องปกติและไม่ส่งผลเสียในระยะยาว เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นจะมีสิ่งอื่นที่น่าสนใจกว่ามาแทนที่ตามวัยของเด็ก เช่น เพื่อน การเรียน กิจกรรมบางอย่าง เป็นต้น ส่งผลให้พฤติกรรมเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องดังกล่าวหายไปเองตามธรรมชาติ

ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่อาจป้องกันปัญหาเบื้องต้นได้ในช่วงที่ลูกแสดงออกถึงพฤติกรรมดังกล่าว โดยการไม่แสดงความสนใจ ไม่ชื่นชมยกย่อง หรือพยายามแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่ได้ดีเสมอไป เช่น คุณแม่ที่ต้องแต่งหน้าออกจากบ้านไปทำงานทุกวัน เมื่อถึงวันหยุดอาจไม่ต้องแต่งหน้าแล้วสื่อสารกับลูกว่าการไม่แต่งหน้าในวันหยุดเป็นเรื่องที่ดีอีกรูปแบบหนึ่ง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

แต่ถ้าหากเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่เด็กไปซึมซับมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก อาจเป็นเพื่อนที่โรงเรียนหรืออื่นๆ หากเด็กนำกลับมาใช้ที่บ้าน สามารถแก้ไขได้โดยการแสดงอาการไม่ยอมรับในสิ่งที่เด็กทำ หรือเพิกเฉยต่อกิริยาก้าวร้าวนั้น เด็กจะรับรู้ได้ว่าการแสดงพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเป็นคนที่มีความสำคัญกับตัวเด็กเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หากผู้ใหญ่ในบ้านไม่ยอมรับในตัวเขา เขาก็จะเลิกแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นไปในที่สุด

สำหรับพฤติกรรมการเลียนแบบศิลปินคนดังต่างๆ อาจแสดงให้เห็นถึงความสนใจในตัวเด็กเอง ในเรื่องของพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษ ที่อาจส่งผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ส่วนมากคุณพ่อคุณแม่มักเป็นกังวลเรื่องของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนดังเหล่านั้น ป้องกันและแก้ไขได้โดยการพยายามชี้แจงเด็กทีละน้อยให้เด็กซึมซับมากที่สุด และรู้จักแยกแยะพฤติกรรมด้านบวกด้านลบในอนาคต

สิ่งสำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องพยายามใกล้ชิดเด็กให้มากๆ ทุกช่วงวัย โดยในแต่ละช่วงวัยก็จะมีการแสดงออกถึงความใกล้ชิดที่แตกต่างกันออกไป หากเป็นเด็กเล็กที่ต้องการความรักความอบอุ่น พ่อแม่ก็ควรให้ในส่วนนี้มากๆ แต่ถ้าหากเด็กเริ่มโต เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ในระดับหนึ่ง การแสดงออกถึงความใกล้ชิดก็จะเปลี่ยนเป็นการพูดคุยแทน เพื่อแชร์ข้อมูลของเด็กและสั่งสอนไปในตัว และไม่ควรกังวลมากเกินไปจนเผลอซักไซร้หรือควบคุมเด็กมากนักจนเด็กรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจที่จะเปิดใจคุยกับพ่อแม่ในเรื่องต่างๆ

นักเลียนแบบ

เมื่อลูกรักเป็นนักเลียนแบบ ตอนที่ 1: สิ่งที่ต้องระวัง

https://www.amarinbabyandkids.com/family/family-benefits/pregnant-free/

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

ธิดา พานิช