ขั้นที่ 1 ก่อนอื่นเรามาเริ่มที่การประเมินความสนใจของลูกและความถนัดของเราก่อนนะคะ ว่าจะทำอาหารอะไร และอยากจะสอดแทรกคณิตศาสตร์เรื่องอะไรให้ลูกได้เรียนรู้ อาทิ
– เราต้องการสอนเรื่องการรวมจำนวน และการแยกจำนวน ซึ่งเป็นแนวคิดของการบวกและการลบ ดังนั้นลูกต้องรู้จักค่าจำนวนและตัวเลขมาก่อนการทำกิจกรรม
– เราถนัดอาหารที่ไม่ใช้เตา ก็ต้องมาดูว่าการทำอาหารอะไรที่ไม่ใช้เตา แต่สามารถทำออกมาในแนวคิดนี้ได้ อาทิ ฟรุตสลัด เพราะต้องนำผลไม้มาหั่นให้ชิ้นเล็กลงเป็นเรื่องการแยกจำนวน อันเป็นแนวคิดการลบและหาร การนำผลไม้หลายชนิดมาใส่ในถ้วยเดียวกันเป็นการรวมจำนวน อันเป็นแนวคิดการบวกและคูณต่อไปค่ะ
– ถ้าเรามีความชำนาญมากในการทำอาหาร สิ่งที่เราต้องคำนึงก็คือ การค่อย ๆ ลดการสอนให้เป็นขั้นตอนสั้น ๆ ย่อย ๆ เนื่องจากลูกมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ น้อยกว่าเรา
ขั้นที่ 2 การเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเนื้อหาในการสอนและขั้นลงมือทำ สำหรับในขั้นตอนนี้สามารถสอดแทรกความรู้ในเรื่องของการวัด เรขาคณิต และพีชคณิต ไปได้อย่างสนุกสนานนะคะ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นอาหารประเภทใด และต้องใช้การสอดแทรกการเรียนรู้ในช่วงใดค่ะ
– ถ้าเป็นสิ่งที่ต้องใช้เรื่องการกะประมาณความยาว ก็ใช้ไม้บรรทัดเรียนรู้เรื่องยาว-สั้นในเด็กเล็ก ถ้าโตขึ้นมาก็เป็น เซนติเมตร นิ้ว ฯลฯ ต่อไปค่ะ
– ถ้าเป็นสิ่งที่ต้องชั่งน้ำหนัก ก็สามารถใช้อุปกรณ์ตาชั่ง ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้เรื่อง หนัก-เบา ถ้าเริ่มดูตัวเลขได้ก็สามารถเรียนรู้การดูน้ำหนักจากเข็มตาชั่ง หรือเปรียบเทียบจากเลขดิจิตอลได้ค่ะ ดังนั้นขั้นตอนการจ่ายตลาดที่สนุกก็ช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักการอ่านค่าตาชั่งกับคุณแม่ก่อนที่จะมาทำอาหารได้ไม่ยากนะคะ แถมอีกนิดเรื่องการใช้เงินซึ่งเป็นทักษะทางคณิตศาสตร์แบบหนึ่ง ก็เรียนกันได้ในการจับจ่ายซื้อวัตถุดิบนี่ละคะ
– เรื่องการตวง ก็ใช้ตั้งแต่ช้อนตวง ถ้วยตวง มาเรียนรู้ปริมาตรมาก-น้อย ได้ตามความสนใจของลูก ๆ ได้เลยค่ะ บางครั้งการชงเครื่องดื่มโกโก้รับประทาน ก็เป็นการเรียนคณิตศาสตร์ที่เด็ก ๆ ได้อร่อยและภูมิใจในฝีมือตนเองด้วยนะคะ
– ถ้าเป็นเรื่องเวลา สำหรับการปรุงอาหารแต่ละขั้นตอนก็จะมีการใช้เวลาที่แตกต่างกัน การชี้ชวนให้ลูกรู้จักเข็มสั้น เข็มยาวจากนาฬิกาหน้าปัดเข็ม และการดูตัวเลขดิจิตอลที่นาฬิกาอีกรูปแแบบหนึ่งเป็นการฝึกดูเวลาที่ลูกจะรู้สึกสนุก เพราะเห็นผลของสิ่งที่ได้ทำค่ะ
– เรื่องตำแหน่ง ทิศทาง ระยะทาง ก็สามารถสอดแทรกตั้งแต่การเดินทางไปจับจ่ายสิ่งของ การนำสิ่งต่าง ๆ ไปจัดเก็บแะนำออกมาใช้ ไปจนถึงขณะที่ทำอาหารได้เลยค่ะ เริ่มคิดจะทำก็สนุกไปกว่าครึ่งแล้วนะคะ นี่ถ้าได้ใช้พืชผักที่เด็กปลูกเองนำมาทำอาหารด้วยละก็ เรื่องการผจญภัยในสวนครัวก็เป็นอีกเรื่องที่สอดแทรกเรื่องนี้ได้ไม่ยากค่ะ
– เรื่องรูปทรงเรขาคณิต ก็อยู่ที่เราว่าจะแทรกเนื้อหาตอนไหนที่ชัดเจน อาทิ ที่ตัวอุปกรณ์ได้แก่ ชามอ่าง (ทรงกลม) พายไม้ (สี่เหลี่ยมผืนผ้า) พิมพ์ขนม (ทรงข้าวหลามตัด/ทรงกลม ฯลฯ) ที่วัตถุดิบ ได้แก่ ไข่ (ทรงรี) ขนมปังแผ่น (สี่เหลี่ยมจตุรัส) แฮม (ทรงกลม/ สี่เหลี่ยม) ฯลฯ หรือจะเป็นที่ตัวผลงานของอาหารที่ทำเช่น พิซซ่า (สามเหลี่ยมแต่มีโค้งคล้ายพัด) คุ้กกี้ (ทรงกลม/สี่เหลี่ยม)
– เรื่องพีชคณิต แบบรูป และความสัมพันธ์ ก็สามารถใช้เรื่องความเข้าใจง่าย ๆ ของอุปกรณ์ อาทิ นำอุปกรณ์ชุดช้อน ส้อม จาน หรือ การปั๊มกดพิพม์ขนมเป็นรูปทรงต่าง ๆ มาเรียงตามแบบภาพที่คุณพ่อคุณแม่กำหนดและเปลี่ยนโจทย์ไปเรื่อย ๆ
ตัวอย่าง
– เรื่องการแก้ปัญหา การให้เหตุผล และการสื่อสาร เพราะการทำอาหารเป็นการทำงานเป็นกลุ่ม มีการทำงานร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ บางบ้านมีพี่ ๆ น้อง ๆ ของเด็ก ๆ มาร่วมด้วยช่วยกันทำ ก็ยิ่งได้ฝึกมากทักษะด้านนี้ก็จะแข็งแรงตามไปด้วย
– ฝึกการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ ผ่านจากการอ่านสูตรอาหารที่มีตัวชี้วัดเป็นการชั่ง ตวง วัด กะประมาณในรูปแบบต่าง ๆ เป็นการตีความการสื่อความหมายแบบต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ที่ลูก ๆ จะสนุก เพราะได้ลงมือทำจริงหลังอ่านค่าแล้วค่ะ
– ฝึกการเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่น ๆ ระหว่างที่ทำอาหาร อาทิเช่น คำศัพท์ชื่อของอุปกรณ์และวัตถุดิบ (ด้านภาษา) การเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือลักษณะของอาหาร (ด้านวิทยาศาสตร์) การนำพืชผักที่ปลูกเองมาใช้ประโยชน์ (ด้านการเกษตร) ฯลฯ
– ระหว่างการทำอาหาร ลูกและเราจะได้ฝึกการวิเคราะห์ข้อมูลไปด้วย อาทิ เรื่องความน่าจะเป็นว่าสูตรเขียนว่าหั่นแบบนี้จะได้รูปทรงนี้ ออกมาแล้วจะเป็นรูปทรงอะไร? เรื่องการเก็บรวบรวมข้อมูลว่าใช้แป้งปริมาณเท่าใดที่ได้ขนมที่เหนียวมากที่สุด และแบบใดพอดีที่สุด นั่นคือการฝึกให้ลูกจดบันทึกหรือสังเกตุการทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ ค่ะ
ขั้นที่ 3 การนำอาหารมาจัดวางเพื่อเตรียมรับประทาน หรือจัดใส่บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ และนำเสนอผลงานของตนเอง เป็นขั้นตอนที่ช่วยฝึกเรื่องทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ได้เป็นอย่างดีค่ะ
– การฝึกใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาออกแบบการจัดวางอาหารลงจาน ชาม หรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ลูก ๆ ได้ฝึกที่จะเปรียบเทียบความเหมาะสมของ สี ขนาด ความสวยงาม ฯลฯ เป็นคณิตศาสตร์ที่เด็ก ๆ ก็มีความสุข ซึ่งหากทำอาหารได้ปริมาณมาก ๆ และเด็ก ๆ รู้จักนำไปแจกจ่ายให้คนรู้จักได้รับประทาน ยังเป็นเรื่องของการสอดแทรกคุณธรรมให้กับลูก ๆ ได้อีกทางด้วยค่ะ
– ฝึกการนำเสนอผลงาน สามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิ คุณพ่อคุณแม่จะสอนเรื่อง แผนภูมิจำนวนข้าวปั้นหน้าต่าง ๆ ก็สามารถให้เด็ก
: สรุปจำนวนข้าวปั้น
: วาดรูปลงในกระดาษ
: เรียงในลักษณะ เป็นชิ้น ๆ ต่อกันขึ้นด้านบนหรือด้านข้าง หรือถ้าโตกว่านั้นให้ทำเป็นเปอร์เซ็นต์และใส่ลงในกราฟวงกลมได้ค่ะ ในเด็กโตสามารถใช้โปรแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยทำได้นะตะ แต่ในเด็กเล็ก ๆ ควรให้เขียนหรือวาดด้วยมือก่อนค่ะ
ในส่วนนี้จะฝึกให้ลูกรู้จักสรุปผลงานออกมาเป็นตาราง และรู้เห็นชัดเจนว่าใช้ส่วนผสมอะไรไปเท่าไหร่ ได้ผลผลิตเป็นอาหารมาเท่าไหร่
คณิตศาสตร์สนุกได้…ง่ายด้วย เมื่อเด็กมีความสุขการอธิบายคณิตศาสตร์ในสมุดครั้งต่อไป คุณพ่อคุณแม่ก็แค่เชื่อมโยงแนวคิดตอนทำอาหารมาอธิบาย เท่านี้เด็ก ๆ ก็จะเรียนคณิศาสตร์ได้อย่างเป็นสุขแล้วค่ะ และหากคุณพ่อคุณแม่จะให้เวลาคุณภาพในวันว่างของเราและลูก มาช่วยกันทำอาหารง่าย ๆ รับประทานกันเองในครอบครัวค่ะ นอกจากจะได้เรียนคณิตคิดสนุกกันแล้ว ยังได้ความรักความอบอุ่นกลับมาเป็นของแถมอีกด้วยนะคะ งานนี้ไม่ลอง..ไม่ได้แล้วค่ะ ^_^
โดย ครูป๋วย