จริงหรือ? ผัวเมียเถียงกัน อาทิตย์ละครั้ง ช่วยชีวิตรักอยู่ยืด เรามีผลการวิจัยในเรื่องดังกล่าวมาฝาก ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ไปติดตาม
ผัวเมียเถียงกัน อาทิตย์ละครั้ง ช่วยชีวิตรักอยู่ยืด
เวลาที่เราเห็น ผัวเมียเถียงกัน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกว่าคนสองคนไม่ลงรอยกัน แต่เฃื่อหรือไม่ กลับมีผลวิจัยบอกว่า การที่ผัวเมียเถียงกัน กลับทำให้ชีวิตรักอยู่กันยืดและมั่นคงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เว็บไซต์เดลิเมลของอังกฤษ ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นในเรื่องชีวิตคู่จากหลายแห่งทั่วโลก พบว่าการโต้เถียงกันระหว่างคู่รักนั้น เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ชีวิตรักยืนยาว มั่นคง และมีความสุข เพราะหลังจากที่คู่รักหรือคู่สามีภรรยาได้มีการโต้เถียงกันแล้ว จะทำให้ทั้งคู่เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่าการเก็บความรู้สึกไม่ดีไว้ในใจเพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนั้นยังมีผลการวิจัยจากคู่รักในประเทศอินเดีย พบว่าคู่รักกว่า 44 เปอร์เซ็นต์มีความคิดว่าการโต้เถียงกันสัปดาห์ละครั้งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น และทำให้ชีวิตคู่ยืนยาวมากขึ้น ในขณะที่เว็บไซต์เกี่ยวกับความสัมพันธ์อย่าง shaadi.com ก็ได้เปิดเผยข้อมูลไปในทางเดียวกันว่า การโต้เถียงกันในเรื่องปัญหาต่างๆ เป็นการปลดปล่อยความเครียดและสิ่งที่ค้างคาใจออกมา และเป็นการแชร์ความรู้สึก ความคิดของตัวเองให้อีกฝ่ายรับรู้ เพื่อที่จะได้ไม้ต้องเก็บสะสมความรู้สึกที่ไม่ดีเอาไว้ แล้วไม่ยอมบอกให้อีกฝ่ายได้รับรู้ จนกระทั่งค่อยๆบั่นทอนความรู้สึกดีๆที่มีต่อกันลงไปทีละน้อยและหมดลงไปในที่สุด
เถียงกันน่ะดี แต่อย่ารุนแรง
ทางด้านศาสตราจารย์วิลเลี่ยม โดเฮอร์ตี้ จากคณะวิทยาศาสตร์สังคมครอบครัว แห่งมหาวิทยาลัยมินเนสโซตา ได้ออกมาให้ความคิดเห็นว่า แม้ว่าการโต้เถียงจะทำให้คู่รักนั้นอยู่กันยืด แต่การโต้เถียงที่จะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ให้เหนียวแน่นยืนยาวได้นั้น จะต้องตั้งอยู่บนหลักการของเหตุและผล เป็นการโต้เถียงที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นการโต้เถียงกันเพื่อเอาชนะ และใช้ความรุนแรง เพราะอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ดีๆที่เคยมีอ่อนแอและขาดลงได้
ขณะที่นายเบอร์นี่ สลุตสกี้ ผู้ให้คำปรึกษาด้านชีวิตสมรสจากรัฐมินเนสโซตา ได้ให้ความเห็นว่า การโต้เถียงกันแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยคู่รักก็พยายามเปิดใจกับอีกฝ่าย บางครั้งอาจมีการขึ้นเสียงใส่กันบ้าง ก็ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ให้เบาลง ซึ่งการโต้เถียงกันในลักษณะนี้แม้จะดูค่อนข้างรุนแรง แต่ก็ยังดีกว่าที่จะมานั่นกันเงียบๆ ไม่พูดไม่คุยกัน เพราะนั่นจะทำให้ทั้งคู่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ความคิดของอีกฝ่ายจนค่อยๆทำลายความสัมพันธ์ให้พังลงไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม คู่รักทุกคู่ก็ควรจะใช้เหตุผลในการพูดจาโต้เถียง เริ่มต้นด้วยความนุ่มนวล ไม่ใช้อารมณ์ความรุนแรง เพราะหากเริ่มต้นขึ้นเสียงแล้ว จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกต่อต้านทันที และแน่นอนครับว่า หลังจากนั้นแล้ว แม้ว่าจะพยายามอธิบายสักเท่าไร ก็อาจสายไปเสียแล้ว
สถานีวิทยุเรดิโอ 4 ของบีบีซี เผยแพร่บทความที่ทิมานดรา ฮาร์คเนส ผู้ดำเนินรายการของสถานีไปค้นคว้าหาคำตอบว่าคนเราจะถกเถียงหรือแสดงความเห็นที่ไม่เหมือนกับคนอื่นให้สร้างสรรค์ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความคิดในเชิงศีลธรรม ความพึงพอใจส่วนตัว หรือแม้แต่เรื่องหนังที่จะเลือกดู
แท้จริงแล้วการมีความเห็นไม่ตรงกับคนอื่นนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง และยังก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าด้วย และนี่คือเคล็ดลับในการนำเสนอข้อโต้แย้งของคุณให้สัมฤทธิ์ผล
1. ฟังในสิ่งคนอื่นพูด เวลาที่คนเราถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนนั้น แต่ละคนก็อยากจะบอกความคิดเห็นของตัวเองให้คนอื่นรู้ จนไม่เปิดโอกาสฟังความเห็นของอีกฝ่ายบ้าง เรื่องนี้แคลร์ ฟอกซ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งความคิด (Academy of Ideas) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการแข่งขันโต้วาที Debating Matters ในโรงเรียนหลายแห่งบอกว่า “เวลาเถียงกันนั้นคนเรามักจะคิดว่าความเห็นของฝ่ายตรงข้ามนั้นฟังไม่ขึ้น ไม่ควรรับฟังหรือได้รับความใส่ใจเลย” ทั้งที่แท้จริงแล้ว การฟังความเห็นของอีกฝ่ายจะทำให้เราได้รู้อะไรเพิ่มเติม ลึกซึ้งขึ้น และยังทำให้เราปรับปรุงท่าทีของเราให้ดีขึ้นได้ด้วย
2. เอาใจเขามาใส่ใจเรา คริส เด เมเยอร์ นักประสาทวิทยา แห่งคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน บอกว่าคนเรามักจะตั้งป้อมไว้ไว้ก่อนแล้ว และจะหาทางป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายแสดงความเห็นรุกล้ำเข้ามาได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นการถกเถียงกันก็มักจะลงเอยด้วยการทะเลาะ แต่การเอาใจเขามาใส่ใจเราจะช่วยแก้ในจุดนี้ได้ แคลร์ ฟอกซ์ เห็นว่าควรตั้งสมมติฐานว่าคนที่กำลังเถียงกับเรานั้นก็ไม่ต่างจากตัวเอง พยายามหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมเขาถึงคิดเช่นนั้น บางทีการคิดเช่นนี้อาจทำให้เราเปลี่ยนความคิดของตัวเองก็ได้
3. ทวนในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด คริส เด เมเยอร์ เชื่อว่าบ่อยครั้งที่ความเข้าใจผิดเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนเราเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้นการทวนชัด ๆในสิ่งที่อีกฝ่ายเพิ่งเอ่ยมา จะเลี่ยงการเกิดความเข้าใจผิดได้
4. หาสิ่งที่เป็นข้อขัดแย้งให้พบแต่เนิ่น ๆ ลิซ สโตโคอี ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แห่งมหาวิทยาลัยลัฟเบอระห์ (Loughborough University) ในสหราชอาณาจักร เห็นว่ามันจะช่วยลดความร้อนแรงของการเห็นไม่ตรงกันลงได้
5. มองหาจุดร่วม มันอาจฟังดูแปลกที่จะต้องมามองหาสิ่งที่เห็นตรงกันในขณะที่กำลังเถียงกันอยู่ แต่ แคลร์ แชมเบอร์ส ซึ่งสอนวิชาปรัชญาการเมืองอยู่ที่ จีซัส คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บอกว่าหากเราไม่สามารถจะเห็นพ้องกันในสิ่งที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นได้แล้ว ก็คงไม่อาจจะคุยกันต่อไปได้ เช่น คนสองคนที่กำลังเถียงกันว่าจะซื้อชีสประเภทไหนดี จะต้องเห็นพ้องกันให้ได้ก่อนว่าทั้งสองคนต้องการซื้อชีส เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเถียงกันไปไม่จบ
6. ก้าวให้พ้นจากความเคยชิน เอมี กัลโล ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแรงขับเคลื่อนในที่ทำงาน แนะว่าการพยายามก้าวให้พ้นจากความเคยชินเดิม ๆ ทำให้คนปรับเปลี่ยนมุมมอง มองประเด็นต่างออกไปและได้แนวคิดใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้น
7. อย่าทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว การเถียงกันนั้นไม่จำเป็นต้องทำให้คนใจร้ายต่อกัน เพราะจริง ๆ แล้ว การถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์จะต้องไม่เอาเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยว โจนาธาน เราช์ แห่งสถาบันบรูคิงส์ ในวอชิงตันบอกว่าให้ดูตัวอย่างจากการถกเถียงและโต้แย้งอย่างเปิดกว้างในทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นที่เหตุผลและความเป็นจริง ควรระลึกอยู่เสมอว่าให้จำกัดอยู่ที่ประเด็นที่ถกเถียงไม่ใช่ตัวคน
8. มีเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ เดบอราห์ ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐฯ บอกว่าการถกเถียงกันอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ทำนั้นคือยอมรับฟังและเปลี่ยนความเห็นหากเห็นว่าอีกฝ่ายนำเสนอข้อโต้แย้งที่ดี เลิกคิดจะใช้วาจาเชือดเฉือนแต่ใช้เหตุผลแทน
นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับอื่น ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำไว้ ตั้งแต่ให้รู้จักตั้งคำถามกับสมมติฐานของตัวเองเสียบ้าง เพราะการรู้สึกว่าตัวเองถูกนั้นไม่ได้หมายความว่าทำให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูก แต่มักจะเป็นตรงข้ามเสียมากกว่า และคนเรายังต้องยอมรับเมื่อตัวเองเป็นฝ่ายผิด ส่วนฝ่ายที่ถกเถียงแล้วชนะนั้น ใช่ว่าจะฮึกเหิม แต่จะต้องมีน้ำจิตน้ำใจ สุภาพและมีน้ำอดน้ำทนด้วย
ที่มา kapook.com
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
7 วิธีป้องกันสามีไม่ให้มีเมียน้อย
เทคนิคฝึกขมิบช่องคลอด เพื่อเซ็กส์สุดฟินหลังมีลูก