สามี-ภรรยา เกิดมาร่วมกันในชาตินี้ แสดงว่าทำกรรมร่วมกันมา แต่อดีตชาติจริงหรือ?

สามีภรรยาอยู่ร่วมกันไม่เคยเบาะแว้ง หรือประเภทที่ทะเลาะกันบ่อยแต่ก็ไม่เคยเลิกรากันไปไหน พ่อแม่ที่มีลูกเอาแต่ทำให้พ่อแม่ปวดหัว ปวดตับ ปวดใจ เกิดมาร่วมกันแบบนี้แสดงว่าทำ กรรมร่วมกัน ชาตินี้เลยต้องมาคอยดูแลชดใช้ร่วมกัน ถ้าเป็นแบบนี้ต้องคอยพบกันทุกชาติไปจริงหรือ?

สามี-ภรรยา หรือพ่อแม่บางคนดี แต่ลูกเกิดมาไม่ดี บางคนลูกดี แต่พ่อแม่กลับประพฤติตัวไม่ดี แสดงว่ามี กรรมร่วมกัน มาแต่อดีตชาติ เช่นนั้นหรือ

“กรรมร่วมกันมาแต่อดีตชาติ” หมายถึง คนสองคนหรือสองฝ่ายเคยทำอะไรร่วมกันมา ไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือไม่ดีก็ได้ เช่น เคยทำบุญร่วมกันมา เคยร่วมปล้นฆ่าคนมาด้วยกัน การกระทำร่วมกันนี้แหละที่เรียกว่า “กรรมร่วมกัน” ผลกรรมที่ทำจึงส่งผลให้มาพบกันในชาตินี้ได้ รวมถึง “กรรมเวร” ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผูกกันไว้ หรือร่วมกันผูกไว้ทั้งสองฝ่ายก็เป็นเหตุนำพาให้มาพบกันในชาตินี้ได้เช่นกัน

ความเข้าใจที่ว่าชาติก่อนมีความสัมพันธ์กับชาตินี้เป็นจริงได้ ในฐานะเป็นชาติที่เป็นเหตุให้เกิดมีชาตินี้ขึ้น แต่พ่อแม่ลูก พี่น้อง ญาติ มิตร ในชาติก่อนนั้นอาจไม่ได้เกิดมาพบกันในทุกชาติไป มีเงื่อนไขขึ้นอยู่ที่ว่า พ่อแม่ลูก ญาติ มิตรนั้นได้ทำกรรมร่วมกัน ทำดีหรือไม่ หรือมีเวรต่อกันหรือไม่ กรรมและเวรนี่แหละที่จะส่งผลให้เกิดมาพบกันในชาติต่อไป แต่จะทุกชาติหรือไม่ ก็แล้วแต่กรรมเวรที่จะก่อใหม่อีก

เกิดมาร่วมกันในชาตินี้ได้ แสดงว่าทำ กรรมร่วมกัน แต่อดีตชาติจริงหรือ?

อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน

1.ประเภทดีด้วยกัน

คือ ทั้งสองฝ่ายหรือทั้งหมดได้เคยทำบุญทำความดี สร้างบารมีร่วมกันมา ประเภทนี้มักจะเกิดมาดีด้วยกัน อยู่ด้วยกันได้ด้วยความสุข ถ้าเป็นสามีภรรยากัน สามีก็ดี ภรรยาก็ดี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง กันเห็นอกเห็นใจกัน เรียกว่า ดีทั้งคู่ ถ้าเป็นพ่อแม่ลูกกัน ก็ดีทั้งครอบครัว พ่อแม่ก็รักลูก ทำเพื่อลูก และเป็นผู้นำที่ดีของลูก ฝ่ายลูกก็เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เชื่อฟังตั้งอยู่ในโอวาท รักเคารพพ่อแม่ด้วยใจจริง

2.ประเภทเสียด้วยกัน

คือ ทั้งสองฝ่ายเคยทำบาปทำกรรมร่วมกันมา ทำความชั่วร่วมกันมา เกิดมาก็พบกันอีก อยู่ด้วยกันได้ แม้จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ทะเลาะเบาะแว้งแต่ก็ยังไม่แยกจากไปไหน สุขก็สุขร่วมกัน ทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกันได้ ถ้าเป็นสามีภรรยาอาจพูดได้ว่า หญิงร้ายชายเลว ย่อมรู้อยู่แก่ใจทั้งคู่ แต่ก็ยังอยู่ร่วมเวรร่วมกรรมด้วยกัน

3.ประเภทมีเวรต่อกัน

คือ ฝ่ายหนึ่งอาจดี แต่อีกฝ่ายอาจเสีย ฝ่ายดีก็จะถูกฝ่ายเสียคอยทำลาย คอยรังควาน ทำให้เกิดทุกข์ เกิดปัญหา ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เช่น บางรายพ่อแม่ดี แต่ลูกไม่ดี บางรายครอบครัวดี แต่บริวารนำความเดือดร้อนมาให้ กรณีเกิดขึ้นเมื่ออดีตชาติของทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยังผูกเวรจองกรรมไว้ จึงต้องมาพบกัน คอยขัดขวางกันอยู่ร่ำไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องกรรมเวรหรือกรรมร่วมกันนั้น เป็นเรื่องลึกซึ้งและละเอียดอ่อน เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเชื่อ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคลนะคะ เพราะนัยยะตรงข้าม พ่อแม่ลูก พี่น้อง ญาติ มิตร ที่เกิดร่วมกัน มีความผูกพันกันโดยสายเลือด เป็นเรื่องของธรรมชาติ อาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับกรรมดีกรรมชั่ว หรือผูกเวรกันไว้ แต่ก็มีคำสอนที่ว่า “ให้ละเวรเสีย อย่างน้อยด้วยการรักษาศีล ตั้งมั่นอยู่ในศีล เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้หมดเวรได้ กรรมใด ๆ ก็ตามไม่ว่าจะทำคนเดียว หรือร่วมทำกับใคร หากเป็นกรรมชั่วกรรมเสียแล้ว ท่านว่าไม่ควรทำทั้งนั้น” …. สาธุๆ


www.kaijeaw.com

บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :

ทําไมถึงเกิดมาเป็นพ่อแม่ลูกกัน ทำบุญทำกรรมร่วมกัน เพื่อมา “ล้างแค้น”/ “แทนคุณ” หรือ “ทวงคืน” ในชาตินี้

ลูกมีกี่ประเภท ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกดีๆ มาเกิดควรทำอย่างไร

 

บทความโดย

Napatsakorn .R