ส่าไข้ โรคส่าไข้ ลูกเป็นโรคส่าไข้ คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่าน คงเคยได้ยินชื่อ “โรคส่าไข้” กันมาบ้างแล้ว แต่บางท่านอาจจะเคยได้ยินแต่ยังไม่เข้าใจว่า โรคนี้มีอาการอย่างไร แล้วรักษาแบบไหนถึงจะหาย วันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ไปพร้อม ๆ กันนะคะ โรคส่าไข้นั้น เรียกอีกอย่างว่า โรคหัดดอกกุหลาบหรือไข้ผื่นกุหลาบในทารก ค่ะ และจะพบได้ในเด็กเล็กที่มีอายุช่วงระหว่าง 3 เดือนถึง 3 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีอายุระหว่าง 6-12 เดือน แต่จะไม่ค่อยพบในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ค่ะ
ทำความรู้จักกับโรคส่าไข้ ไข้ผื่นแดง
โรคส่าไข้นี่ เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Human herpesvirus type 6 (HHV-6) และ Human herpesvirus type 7 (HHV-7) ซึ่งจัดได้ว่าอยู่ในตระกูลจำพวกเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม โดยเชื้อโรคนั้นจะมีอยู่ในเสมหะและน้ำลายของผู้ป่วย และสามารถติดต่อได้โดยการหายใจเอาเสมหะหรือละอองที่ผู้ป่วยไอหรือจามรดเข้าไป ทั้งนี้ยังสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสได้อีกด้วยนะคะ ซึ่งการสัมผัสนั้นไม่ได้เจาะจงแต่เพียงแค่สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยได้สัมผัสไว้ ยกตัวอย่างเช่น แก้วน้ำ จาน ชาม หนังสือ หรือของเล่น เป็นต้น และเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกของเราไปสัมผัสโดน แล้วเอามือนั้นเข้าปาก ขยี้ตาหรือแคะจมูก เชื้อดังกล่าวก็จะสามารถเข้าสู่ร่างกายของลูกได้
ระยะฟักตัวของโรค : ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 5-15 วัน
ระยะติดต่อ : ตั้งแต่ 2 วันก่อนมีไข้ จนกระทั่งถึง 2 วันหลังไข้ลด
บทความที่เกี่ยวข้อง : ส่าไข้ โรคยอดฮิต ทารกแอดมิทกันเพียบ ! ดูให้ดี ลูกมีไข้สูง มีผื่นขึ้นหรือไม่ ?
อาการของโรค
- ลูกจะมีไข้อย่างฉับพลัน โดยมีไข้สูงประมาณ 39.5 – 40.5 องศาเซลเซียส และมีตัวร้อนอยู่ตลอดเวลา
- เด็กบางคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ จะยังรับประทานอาหาร ดื่มน้ำและดื่มนมได้ตามปกติ แต่บางรายก็มีอาการหงุดหงิด งอแง และเบื่ออาหาร
- บางรายอาจะมีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกใส หรือมีท้องเดินเล็กน้อย
- ในขณะที่บางราย อาจมีอาการชักจากไข้ร่วมด้วย
โรคส่าไข้นั้น จะมีไข้อยู่ประมาณ 1-5 วัน โดยเฉลี่ยแล้วส่วนใหญ่จะมีไข้สูง 3 วันค่ะ แล้วไม่นานไข้ก็จะลดลงเป็นปกติอย่างรวดเร็ว หรืออาจจะค่อย ๆ ลง และภายหลังจากที่ไข้ลดลง ก็จะมีผื่นราบบาง ๆ ขนาดเล็กประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ออกสีชมพูหรือสีแดงคล้ายกับดอกกุหลาบขึ้นตามลำตัว
ซึ่งผื่นนั้น จะขึ้นบริเวณหน้าอก หลัง ท้อง และค่อย ๆ กระจายไปตามคอและแขน เด็กบางคนอาจจะมีลามไปที่ใบหน้าหรือลงที่ขาด้วยก็ได้ โดยผื่นที่่ว่านี้จะไม่ค่อยมีอาการคันค่ะ เมื่อคุณแม่เอามือกดลงไป ผื่นก็จะจางซีดลง และจะเป็นอยู่แบบนี้นานไม่กี่ชั่วโมง หรือนานมากสุดคือ 3 วัน แล้วก็จะจางหายออกไปเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เมื่อจู่ ๆ ลูกเกิดอาการส่าไข้ขึ้นมา อาการส่าไข้ มีวิธีการรักษาอย่างไรดี
สิ่งที่คุณหมอส่วนใหญ่ตรวจพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคส่าไข้นั้น ไข้ผื่นแดง คือ
ในระยะก่อนผื่นขึ้นจะพบไข้สูงประมาณ 39.5-40.5 องศาเซลเซียส อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณหลังหู ท้ายทอย หนังตาบวมเล็กน้อย เยื่อบุตาแดง ในระยะที่ไข้ลดลงแล้วจะพบผื่นราบสีแดงขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ที่ลำตัวและแขน ผื่นบางจุดอาจมีลักษณะนูนเล็กน้อยหรืออาจมีวงสีแดงจาง ๆ อยู่รอบ ๆ ผื่นแดง
อย่างไรก็ตาม หากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าว ให้คุณพ่อคุณแม่รีบพาลูกไปพบแพทย์โดยทันทีนะคะ เพราะบางทีลูกอาจจะป่วยเป็นโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกับโรคส่าไข้ก็เป็นได้ โดยโรคที่ว่านั้นได้แก่
- ไข้เลือดออก จะมีไข้สูง มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัวหรือมีเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล หรือถ่ายเป็นเลือด และในขณะที่เป็นไข้เลือดออกเด็กอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย แต่เด็กที่ส่าไข้จะไม่มีอาการอาเจียนแต่อย่างใด
- หัด มักพบได้ในเด็กอายุ 2-14 ปี มักไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า 8 เดือน ซึ่งต่างจากส่าไข้ที่พบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 เดือน ผู้ป่วยโรคหัดจะมีไข้สูง ซึม หน้าแดง ตาแดง มีอาการเป็นหวัด ไอ น้ำมูกไหล แต่ส่าไข้จะไม่มีอาการเป็นหวัดหรือไอ ต่อมาในวันที่ 4 ของไข้ ผู้ป่วยจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ในขณะที่ผื่นขึ้นจะมีไข้สูงต่อไปอีก 3-4 วัน แต่ส่าไข้นั้นจะมีผื่นขึ้นหลังจากไข้ลดดีแล้ว และผื่นของโรคหัดจะค่อย ๆ จางเป็นรอยแต้มสีน้ำตาล จะไม่จางหายไปทันทีแบบผื่นส่าไข้
- เยื่อหุ้มสมองหรือไข้สมองอักเสบ จะมีไข้สูง อาเจียน ซึม เพ้อ ไม่ค่อยรู้สึกตัว มีอาการชักติด ๆ กันนาน
- หูชั้นกลางอักเสบ จะมีไข้สูง ร้องกวนตลอดเวลา เด็กอาจบอกว่าเจ็บในหู (ในเด็กเล็กอาจใช้นิ้วดึงที่ใบหูตัวเอง)
- ปอดอักเสบ จะมีไข้สูง ซึม ไอ หายใจหอบเร็ว มากกว่า 40 ครั้งต่อนาที
- โรคบิดชิเกลล่า (โรคบิดไม่มีตัว) จะมีไข้สูง ร่วมกับอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด กะปริดกะปรอยบ่อยครั้ง
- ผื่นจากยา ในเด็กเล็กที่รับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่มแอมพิซิลลิน (Ampicillin) ซึ่งผลข้างเคียงของยานี้อาจทำให้มีผื่นแดงคล้ายหัดขึ้นตามตัวได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเป็นหัด เป็นอีสุกอีใส หายเร็วขึ้นด้วย ยาเขียว
ขอบคุณที่มา: Medthai
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ป้องกันลูกชักจากไข้สูง: อันตรายจากการเป็นไข้มีมากกว่าที่คิด
เมื่อลูกมีไข้สูง: สิ่งที่ห้ามทำและวิธีลดไข้ที่ถูกต้อง
อาการไข้สูง ชักเกร็ง น้องธาราทำเอาคุณแม่ ชมพู่ ก่อนบ่ายใจหาย หลังมีไข้สูง