ขั้นตอนการฟื้นฟูหลัง ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม จะเริ่มขึ้นหลังผ่าตัดประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยจะมีการนัดเปิดเครื่องประสาทหูเทียม และปรับการตั้งค่าอุปกรณ์ให้เหมาะกับแต่ละบุคคล ตรวจประเมินการฟังหลังจากใส่อุปกรณ์ พร้อมเข้ารับการฝึกฟื้นฟูการฟังและการพูดกับผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง
ถอดรหัส เสียงสัญญาณจากประสาทหูเทียมหลัง ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม
การได้ยินของผู้เข้ารับการ ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม จะแตกต่างจากการได้ยินของคนทั่วไป เพราะเม็ดอิเล็กโทรดของประสาทหูเทียมที่ถูกฝังอยู่ในหูชั้นใน จะทำการแปลงสัญญาณเสียงรอบตัวซึ่งถูกส่งมาจากภายนอกเป็นสัญญาณไฟฟ้า เพื่อส่งต่อไปยังประสาทการได้ยินและสมอง เพื่อตีความเสียงนั้นเป็นคำที่มีความหมาย
อุปกรณ์ของประสาทหูเทียม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- เครื่องแปลงสัญญาณเสียงตัวนอก (External sound processor) ทำหน้าที่คล้ายไมโครโฟน รับเสียงจากภายนอก พร้อมกับกรองเสียง และแปลงเป็น “สัญญาณดิจิทัล” ก่อนส่งต่อไปยังขดลวดรับสัญญาณที่ฝังอยู่ภายใต้ผิวหนัง
- ประสาทหูเทียม (Internal implant) เป็นส่วนที่ถูกผ่าตัดฝังอยู่ใต้ผิวหนัง โดยวางบนกะโหลกศีรษะ ทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นสัญญาณไฟฟ้าความถี่สูง แล้วส่งต่อไปยังเม็ดอิเล็กโทรดที่ฝังอยู่บริเวณกระดูกรูปก้นหอยภายในหูชั้นใน และกระตุ้นเส้นประสาทการได้ยิน ทำให้เกิดการรับรู้ส่งไปยังสมอง เพื่อประมวลผลเป็นคำที่มีความหมายในแบบที่เราเข้าใจกัน
นายแพทย์เกียรติยศ โคมิน หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก ประสาทหูเทียม โรงพยาบาลราชวิถี หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมว่า
“อัตราความสำเร็จของการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์สูงมาก หากมีอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ก็เป็นเพียงแค่อาการชั่วคราว และสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากการผ่าตัดมีความสมบูรณ์แบบ จะถือว่าประสบความสำเร็จไปในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูญเสียการได้ยินก้าวออกมาจากโลกที่เงียบงันได้ดีที่สุด คือ การเข้ารับการฟื้นฟู เรียนรู้ ฝึกฝน และทำความเข้าใจสัญญาณเสียงที่ได้ยินอย่างต่อเนื่อง เพราะยิ่งเรียนรู้ได้ไว ก็จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น”
โดยขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัว และบุคคลคนใกล้ชิดของผู้เข้ารับการผ่าตัดอย่างเต็มที่ ผู้ที่เคยสูญเสียการได้ยินจึงจะมีโอกาสกลับมาได้ยินเสียง สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง
ขั้นตอนการฟื้นฟูหลังผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม
หลังการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม แพทย์จะตรวจดูอาการข้างเคียงของแผลผ่าตัด จากนั้นนักแก้ไขการได้ยินจะทำการเปิดเครื่อง และปรับความดังของเครื่องแปลงสัญญาณเสียงแต่ละช่องสัญญาณให้เหมาะกับประสาทรับฟัง ซึ่งจะค่อย ๆ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดเกิดความเคยชินกับระดับเสียงที่ได้ยิน ระหว่างนั้นก็จะมีการฝึกฟื้นฟูควบคู่กันไป โดยผู้ใหญ่อาจเข้ารับการฝึกฟัง (Auditory Practice) กับนักแก้ไขการได้ยิน การฝึกฟังของผู้ใหญ่มักจะเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เช่น การฝึกฟังเสียงต่าง ๆ ฝึกแยกเสียงคำ ฝึกฟังประโยค ฝึกสนทนา ไปจนถึงการพูดคุยโทรศัพท์
ส่วนการฝึกของเด็กนั้นจะเรียกว่าโปรแกรมสอนพูดโดยใช้ทักษะการฟัง (Auditory-Verbal Therapy) ที่นักแก้ไขการพูดหรือคุณครู จะใช้กิจกรรมการเล่นมาเป็นสื่อกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ที่จะฟังเสียงต่าง ๆ เชื่อมโยงความหมาย จนสามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้
การเข้ารับการฟื้นฟูกับผู้เชี่ยวชาญนั้นอาจทำได้เพียงสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ขณะที่เด็ก ๆ มีโอกาสเรียนรู้ตลอดทั้งวัน โปรแกรมการฝึกพูดโดยใช้ทักษะการฟังจึงมุ่งเน้นที่การสอนพ่อแม่ หรือผู้ปกครองของเด็กที่ผ่าตัดประสาทหูเทียมให้เรียนรู้เทคนิค เพื่อกลับมาสอนเด็กผ่านกิจกรรมง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งเด็กมีพัฒนาการด้านการฟัง การพูด และการสื่อสารในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งความใส่ใจเหล่านี้ จะช่วยเปลี่ยนโลกใบใหม่ให้เต็มไปด้วยเสียงแห่งความห่วงใย ไม่ใช่โลกที่มีแต่ความเงียบงันเหมือนที่ผ่านมา และเป็นแรงสนับสนุนให้เด็ก ๆ สามารถสร้างอนาคตที่สดใสตามความฝันได้อย่างไร้ข้อจำกัด
สิ่งสำคัญที่ครอบครัวผู้ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมควรทราบ
- ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรใส่อุปกรณ์ตลอดเวลาที่ตื่น เพื่อให้สมองได้เรียนรู้ตลอดทั้งวัน
- หมั่นสังเกตการได้ยินของเด็ก โดยดูจากการตอบสนองต่อเสียง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถใช้การทดสอบการฟังเสียง อา, อู, อี, อืม, ชู่วว, สสส เพื่อเช็กเบื้องต้นว่าได้ยินครบทุกความถี่หรือไม่
- คนรอบข้างควรพูดคุยกับผู้ใช้ประสาทหูเทียมให้มากที่สุด ยิ่งได้ฟังคำพูดมากเท่าไหร่ สมองก็จะได้เรียนรู้และพัฒนามากเท่านั้น และเปิดโอกาสให้เด็กพูดโต้ตอบเพื่อพัฒนาทักษะการพูดและการสื่อสาร
- นัดหมายกับผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อขอคำแนะนำว่าควรฝึกอะไรต่อไป รวมถึงเรียนรู้วิธีการฝึกในแต่ละขั้น
- อย่าท้อแท้ พยายามให้กำลังใจกันและกัน อย่าพึ่งมองถึงสิ่งที่ยังทำไม่ได้ แต่ให้มองย้อนไปว่าตั้งแต่เปิดเครื่องมามีพัฒนาการอย่างไรบ้าง
- เรียนรู้วิธีการใช้งานอุปกรณ์แต่ละชิ้น ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ให้เต็มที่ และติดต่อหาบริษัทหรือผู้เชี่ยวชาญหากมีข้อสงสัย
คำแนะนำในการดูแลอุปกรณ์ประสาทหูเทียม
ผู้เข้ารับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะเด็ก ๆ วัยกำลังซน คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ก่อนนอนต้องปิดเครื่องแปลงสัญญาณ และอุปกรณ์ทั้งหมด หมั่นเช็ดทำความสะอาดด้วยผ้าเนื้อนิ่มทุกวัน ระวังไม่ให้อุปกรณ์เปียกชื้นจากเหงื่อ หรือละอองน้ำ เก็บเครื่องแปลงสัญญาณในกล่องเก็บอุปกรณ์เสมอ และสำรวจชิ้นส่วนอุปกรณ์ว่ามีการชำรุด สูญหายหรือไม่ รวมทั้งควรชาร์จแบตเตอรีให้พร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ทุก 1 เดือน ต้องถอดแบตเตอรีออกมาตรวจสอบความสะอาด ทุก 2 เดือน ต้องเปลี่ยนก้อนดูดความชื้น และทุก 3 เดือน ต้องเปลี่ยนฝาครอบไมโครโฟน สิ่งสำคัญ คือ ต้องถอดอุปกรณ์แต่ละชิ้นออกมาทำความสะอาดแบบ Deep Clean ตามกำหนด เพราะจะช่วยทำให้อุปกรณ์ทุกชิ้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ประสาทหูเทียมได้อีกด้วย
เพิ่มโอกาสเข้าถึงการฟื้นฟูการได้ยินด้วยประสาทหูเทียม สำหรับสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง
ปัจจุบัน ประเทศไทย มีโครงการจากทั้งภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ มากมาย เพื่อช่วยให้เด็กที่สูญเสียการได้ยินมีโอกาสเข้าถึงการฟื้นฟูด้วยประสาทหูเทียมมากขึ้น โดยล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประกาศให้การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง ซึ่งหมายความว่า หากพบว่า เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี (มีสิทธิบัตรทอง) มีความผิดปกติทางการได้ยิน และมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าจำเป็นต้องผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ก็สามารถรับการรักษาได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ครอบคลุมตั้งแต่ค่าอุปกรณ์ ค่าผ่าตัด ค่าใช้จ่ายในการฝึกการฟังเสียง หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ทั้งนี้ ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการที่มีศักยภาพให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ครอบคลุมตั้งแต่ค่าอุปกรณ์ ค่าผ่าตัด ค่าใช้จ่ายในการฝึกการฟังเสียง หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยรายชื่อหน่วยบริการที่มีศักยภาพให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่
1. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
3. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
4. วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
5. โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
6. โรงพยาบาลราชวิถี
7. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
8. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
9. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
10. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทำความรู้จัก Cochlear (คอคเคลียร์) ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีประสาทหูเทียม
Cochlear (คอคเคลียร์) คือ ผู้นำด้านเทคโนโลยีประสาทหูเทียมของโลก มีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ประกอบด้วย ประสาทหูเทียม ประสาทหูเทียมแบบนำเสียงผ่านกระดูก และประสาทหูเทียมแบบอะคูสติก โดยมีส่วนช่วยให้ผู้ใช้ประสาทหูเทียมทุกเพศทุกวัยมากกว่า 600,000 รายทั่วโลก ได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เพื่อนฝูง และชุมชนอีกครั้ง โดยเรายังมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับผู้ใช้ที่เพิ่งได้รับการฝังประสาทหูเทียม หรือได้รับการฝังแล้วมาแล้วหลายปี
คอคเคลียร์ เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนิวเคลียส ซึ่งได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย (ASX) ปัจจุบัน คอคเคลียร์เป็นบริษัท 50 อันดับแรกของตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย (ASX) ที่มีรายได้ต่อปีทั่วโลกมากกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และยังคงมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้ประสาทหูเทียมเป็นมาตรฐานในการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินในระดับปานกลาง ไปจนถึงระดับรุนแรง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ “Hear now. And always” (ได้ยินตอนนี้ และตลอดไป) เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถได้ยินเสียงตลอดชีวิต ด้วยการสนับสนุนที่ดีที่สุดจาก “คอคเคลียร์”
ทำความรู้จักกับคอคเคลียร์ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Cochlear Thailand
หรือทาง Line Official Account @CochlearThai
บทความที่เกี่ยวข้อง
การสูญเสียการได้ยิน ปัญหาเร่งด่วน ที่รับมือได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่เด็กไทย อาจได้รู้เมื่อสายเกินไป