นมแม่ใส ลูกน้ำหนักไม่ขึ้น ทำไงดี ? 8 วิธีเพิ่มไขมันนมแม่ เพิ่มน้ำหนักลูกน้อย
เมื่อลูกน้อยกินนมแม่แต่พบว่า นมแม่ใส ลูกน้ำหนักไม่ขึ้น ทำไงดี ? อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไป เรามาลองทำความเข้าใจถึงสาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหานี้กันค่ะ
“นมแม่ใส ลูกน้ำหนักไม่ขึ้น ทำไงดี ?” เป็นคำถามที่คุณแม่มือใหม่หลายคนยังมีความกังวลใจและสงสัย เมื่อลูกน้อยดูดนมแม่เป็นประจำ แต่กลับน้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด ความเข้าใจผิดที่มักเกิดขึ้นได้บ่อย คือ การคิดว่านมแม่ต้องมีสีข้นและมีไขมันสูงเสมอ จึงจะทำให้ลูกอิ่มท้องและน้ำหนักขึ้น ซึ่งความจริงแล้ว นมแม่มีหลายสี และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาและความต้องการของลูกน้อย นมในช่วงแรกอาจมีลักษณะใส ซึ่งเป็นเรื่องปกติและมีประโยชน์ต่อลูกน้อยเช่นกัน บทความนี้จะพาคุณแม่ไปทำความเข้าใจ เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยน้ำหนักไม่ขึ้น แม้จะดูดนมแม่เป็นประจำ รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้คุณแม่มั่นใจและสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างมีความสุขกันค่ะ
ลักษณะนมแม่ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วง
“น้ำนมแม่” ซึ่งเป็นอาหารที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกในแต่ละช่วงวัย ไม่เพียงแต่ให้พลังงานและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต แต่ยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยแข็งแรง และช่วยให้ระบบย่อยอาหารของลูกน้อยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด น้ำนมแม่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านสารอาหาร ปริมาณ และสี โดยน้ำนมแม่แบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่
-
ระยะนมสีเหลือง
โคโลสตรัม (Colostrum) หรือน้ำนมเหลือง เป็นน้ำนมชนิดแรกที่ร่างกายแม่ผลิตออกมาหลังคลอดทันที โคโลสตรัมมีปริมาณน้อยแต่เข้มข้นไปด้วยสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และภูมิต้านทานที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ และช่วยป้องกันการติดเชื้อในทารกแรกเกิด การให้นมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของทารกสามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีที่สุด และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สีและลักษณะ โคโลสตรัมมีสีเหลืองหรือสีส้มเข้มข้น เนื่องจากมีสารแคโรทีนสูง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์ของร่างกาย
- ปริมาณ ปริมาณของโคโลสตรัมอาจมีเพียงเล็กน้อย แต่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เพียงพอต่อความต้องการของทารกแรกเกิด
- สารอาหารสำคัญ นอกจากสารอาหาร อิมมูโนโกลบูลิน A (IgA เพิ่มภูมิต้านทาน) และแลคโตเฟอรินแล้ว (โปรตีนที่ยับยั้งการเจริญเติมโตของเชื้อโรคบางชนิด) โคโลสตรัมยังอุดมไปด้วย
- ประโยชน์อื่นๆ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเน่าในท้อง ลดการอักเสบ และช่วยให้ระบบย่อยอาหารของทารกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-
ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน
น้ำนมปรับเปลี่ยน หรือ ทรานซิชันมิลค์ (Transitional milk) หลังจากให้นมโคโลสตรัมไประยะหนึ่ง น้ำนมแม่จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นทรานซิชันมิลค์ ซึ่งมีปริมาณมากขึ้นและมีไขมันเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกน้อยได้รับพลังงานมากขึ้น เป็นช่วงสำคัญในการเตรียมร่างกายของลูกน้อยให้พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไประยะน้ำนมปรับเปลี่ยนจะอยู่ที่ประมาณ 5-14 วันหลังคลอด แต่ระยะเวลาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
-
- สีและลักษณะ สีของน้ำนมจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีขาวหรือสีครีม ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีปริมาณไขมันในน้ำนมเพิ่มขึ้น
- ปริมาณ ปริมาณน้ำนมจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงโคโลสตรัม ทำให้ลูกน้อยได้รับพลังงานและสารอาหารมากขึ้น
- สารอาหาร สารอาหารที่หลากหลายในน้ำนมปรับเปลี่ยนจะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีทั้งทางด้านร่างกายและสมอง นอกจากนี้ น้ำนมปรับเปลี่ยนยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยให้ลูกน้อยสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น
- ประโยชน์อื่นๆ ในระยะที่น้ำนมมีการปรับเปลี่ยนสารอาหารให้สมดุล เตรียมพร้อมสำหรับการเจริญเติบโต จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตทั้งในด้านร่างกายและสมอง และช่วยให้ลูกน้อยย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น
-
ระยะน้ำนมแม่
หลังจากผ่านระยะน้ำนมปรับเปลี่ยนไปแล้ว ร่างกายของแม่จะเข้าสู่การผลิตน้ำนมแม่ ซึ่งเป็นน้ำนมที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์แบบที่สุดและเหมาะสมกับความต้องการของลูกน้อย น้ำนมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ
-
- น้ำนมส่วนหน้า (Foremilk) หรือที่หลายคนเรียกว่า “น้ำนมใส” เป็นน้ำนมที่ไหลออกมาในช่วงแรกของการให้นมลูกหรือการปั๊มนม ลักษณะเด่นของน้ำนมส่วนหน้าคือมีสีใสหรือออกเป็นสีฟ้าเล็กน้อย เนื่องจากมีปริมาณน้ำสูงถึง 80% และมีไขมันน้อยกว่าน้ำนมส่วนหลัง แม้จะมีไขมันน้อย แต่ในน้ำนมส่วนหน้าก็อุดมไปด้วยแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ลูกน้อยได้รับพลังงานและยังช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ลูกน้อยขับถ่ายได้สะดวกขึ้นอีกด้วย
- น้ำนมส่วนหลัง (Hindmilk) หลังจากให้นมลูกไปสักพัก น้ำนมที่ไหลออกมาจะเปลี่ยนเป็น น้ำนมส่วนหลัง ซึ่งมีสีขาวข้นและข้นมันกว่าน้ำนมส่วนหน้าค่ะ นั่นเป็นเพราะน้ำนมส่วนหลังมีปริมาณไขมันสูงกว่า ทำให้เป็นแหล่งพลังงานหลักที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย ไขมันในน้ำนมส่วนหลังเป็นแหล่งพลังงานเข้มข้น ช่วยให้ลูกน้อยอิ่มท้องได้นานขึ้น และน้ำนมส่วนหลังนี้จะช่วยให้ลูกน้อยเพิ่มน้ำหนักได้ตามเกณฑ์
ลูกน้อยกินนมแม่น้ำหนักไม่ขึ้นจริงหรือ ?
โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่หลายๆ คนมักคิดว่าลูกน้ำหนักน้อยหรือน้ำหนักไม้ขึ้นกันหลายคน แต่จริงๆ แล้วหากนำมาเปรียบเทียบกับตารางการเจริญเติบโตของเด็กในวัย 0-2 ปี จะพบว่าเด็กๆ น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ค่าปกติคือ 3-97 % ตามกราฟแสดงการเจริญเติบโตของทารก (อายุ 0 ถึง 2 ปี) คำนวณโดยใช้มาตรฐานการเจริญเติบโตขององค์การอนามัยโลก (WHO)
กราฟแสดงการเจริญเติบโตของทารก ผู้ชาย (อายุ 0 ถึง 2 ปี)
กราฟแสดงการเจริญเติบโตของทารก ผู้หญิง (อายุ 0 ถึง 2 ปี)
อย่างไรก็ตาม กราฟการเติบโตเป็นข้อมูลของน้ำหนักเด็กปกติที่มีความหลากหลาย กราฟน้ำหนักตัวเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในการประเมินสุขภาพของเด็ก ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆพิจารณาร่วมด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรมของครอบครัว พัฒนาการต่างๆ ตามช่วงวัยของลูก การเรียนรู้ การกิน รวมถึงการปัสสาวะของลูกน้อยด้วย เป็นต้น
นมแม่ใส ลูกน้ำหนักไม่ขึ้น ทำไงดี ?
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ในส่วนของระยะน้ำนมแม่ ซึ่งจะมี 2 ส่วนหลัก คือน้ำนมส่วนหน้าและน้ำนมส่วนหลัง ซึ่งน้ำนมแม่ทั้งส่วนหน้าและส่วนหลังล้วนมีประโยชน์ต่อลูกน้อย แต่ที่แตกต่างกันคือปริมาณไขมัน โดยน้ำนมส่วนหลังจะมีไขมันสูงกว่า ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ช่วยให้ลูกน้อยเติบโตและเพิ่มน้ำหนักของลูกน้อยได้ดีค่ะ ดังนั้นถ้าคุณแม่อยากให้ลูกน้อยมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ คุณแม่ควรให้ลูกน้อยดูดเต้าจนเกลี้ยง การให้ลูกดูดจนเกลี้ยงเต้าสามารถช่วยให้ลูกได้กินน้ำนมส่วนหลังได้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่มีไขมันสูง ช่วยให้ลูกน้อยอิ่มท้องและได้รับพลังงานอย่างเต็มที่ และมีน้ำหนักตามเกณฑ์
8 เคล็ดลับ เพิ่มไขมันในนมแม่ เพิ่มน้ำหนักลูกน้อย
คุณแม่หลายท่านกังวลว่าเรื่องน้ำนมแม่และน้ำหนักของลูกน้อย นมแม่ใส ลูกน้ำหนักไม่ขึ้น ทำไงดี อาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือปริมาณไขมันในน้ำนมแม่ หากคุณแม่ต้องการเพิ่มไขมันในน้ำนมเพื่อให้ลูกน้อยอิ่มท้องและน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ ลองนำ 8 เคล็ดลับต่อไปนี้ไปปรับใช้ดูนะคะ
1. เน้นอาหารที่มีไขมันดี
การเพิ่มไขมันในอาหารจะช่วยเพิ่มปริมาณไขมันในน้ำนมโดยตรง เน้นอาหารที่มีไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ถั่วอัลมอนด์ วอลนัท อโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันอะโวคาโด เป็นต้น
2. ลดคาร์โบไฮเดรต
โดยการลดการกินข้าวขาว ขนมปังขาว ขนมหวาน น้ำหวาน และให้เลือกกินธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ควินัว เพราะเมื่อคุณแม่สามารถลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลงได้ ร่างกายจะหันไปใช้ไขมันสะสมเป็นพลังงานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ไขมันในน้ำนมเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
3. ปั๊มนม ดูดนมให้เกลี้ยงเต้า
การปั๊มนมหรือให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้าจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้น และช่วยให้ร่างกายปรับปริมาณและคุณภาพของน้ำนมให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกน้อย ดังนั้นจึงควรปั๊มนมหรือให้นมลูกบ่อยครั้งค่ะ
4. เพิ่มโปรตีน
โปรตีนเป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำนม ช่วยในการสร้างเซลล์และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย แหล่งโปรตีนที่ดีมาจาก เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ นม ค่ะ
5. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำให้เพียงพอช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม และช่วยให้ร่างกายขับของเสียออกจากร่างกายได้ดีขึ้น ดังนั้นคุณแม่ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน หรือมากกว่านั้นหากรู้สึกกระหายน้ำ
6. เพิ่มจำนวนแคลอรี่
การเพิ่มปริมาณแคลอรี่โดยรวมจะช่วยให้ร่างกายมีพลังงานเพียงพอในการผลิตน้ำนม และทำให้ไขมันในน้ำนมเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มปริมาณอาหารแต่ละมื้อเล็กน้อย หรือทานอาหารว่างระหว่างมื้อ เช่น ถั่วต่างๆ ผลไม้ เป็นต้น
7. กินผักผลไม้
ผักผลไม้ให้วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ซึ่งจำเป็นต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อย นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ให้เลือกกิน ผักใบเขียว ผลไม้ที่มีสีสันหลากหลาย
8. ไม่ปล่อยให้เต้านมคัดตึงเป็นเวลานาน
หากเต้านมคัดตึงนานเกินไป อาจส่งผลต่อการผลิตน้ำนมในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรปั๊มนมหรือให้นมลูกบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมคัดตึง
จากปัญหาที่คุณแม่เจอ นมแม่ใส ลูกน้ำหนักไม่ ขึ้นทำไงดี การเพิ่มไขมันในนมแม่ เป็นหนึ่งในวิธีที่คุณแม่มักจะทำเพื่อให้ลูกน้อยได้รับพลังงานเพียงพอ การปรับเปลี่ยนอาหารโดยเน้นไขมันดี ลดคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มปริมาณแคลอรี่ รวมถึงการดูแลสุขภาพโดยรวมของแม่ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก และปั๊มนมหรือให้นมบ่อยครั้ง จะช่วยให้คุณแม่สามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาน้ำหนักตัวของลูกน้อยแต่ละรายอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากปริมาณไขมันในนมแม่ เช่น ปัญหาสุขภาพของลูกน้อย การดูดนมไม่ดี หรือปริมาณน้ำนมที่ผลิตได้ไม่เพียงพอ หากคุณแม่ยังคงมีความกังวล ควรปรึกษาหมอเด็กหรือคลินิกนมแม่ เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกน้อยนะคะ
ที่มา : ENEreslife , Healthdirect Australia
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทำไมนมแม่มีหลายสี ! แต่ละสีของน้ำนมบอกอะไร ลูกกินได้ไหม ?